การบาดเจ็บที่ข้อศอกไม่ได้พบแค่เพียงนักกีฬาเท่านั้น แต่คนทั่วไปที่ใช้งานเหยียดข้อศอกหรือกระดกข้อมือในท่าเดิม ๆ ซ้ำ ๆ รวมถึงการวางข้อมือและข้อศอกไม่เหมาะสมในการทำงาน ก็อาจทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อข้อศอกบาดเจ็บได้เช่นกัน หากไม่รีบรักษา อาจลุกลามจนมีอาการปวดเรื้อรังได้
Tennis Elbow หรือโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อศอกที่พบได้บ่อย เกิดจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่มาเกาะตรงปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก (Lateral epicondyle) อาการเริ่มต้นจะปวดบริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอกเวลาขยับแขนและข้อมือในท่าที่ต้องใช้งานเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ เช่น กระดกข้อมือ ยกของ หรือบิดแขน เป็นต้น หากปล่อยทิ้งไว้อาการจะรุนแรงขึ้นจนปวดร้าวลงกล้ามเนื้อแขนถึงข้อมือแม้จะพักการใช้งานแขน ไม่มีแรงกำมือ ส่งผลกระทบต่อการใช้งานมือและแขนในชีวิตประจำวัน เช่น ถือแก้วน้ำ บิดลูกบิดประตู เปิดขวดน้ำ เป็นต้น
นายแพทย์วรวิทย์ อึ๊งบำรุงพันธุ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ – เวชศาสตร์การกีฬา โรคข้อไหล่และข้อศอก โรงพยาบาลเวชธานี เปิดเผยว่า โรคปวดข้อศอกด้านนอกพบมากให้นักกีฬาเทนนิสจากท่าวงสวิงแบ็คแฮนด์ (Backhand Swing) จึงถูกเรียกว่า Tennis Elbow แต่ที่จริงแล้วโรคนี้พบได้ในหลากหลายอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนี้บ่อย ๆ ต้องเหยียดแขนหรือกระดกข้อมือซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง เช่น นักไวโอลิน นักกีฬายกน้ำหนัก ช่างประปา ช่างไม้ หรือผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และบางรายอาจเกิดจากเส้นเอ็นบาดเจ็บเฉียบพลัน เช่น จากอุบัติเหตุ หรือการออกแรงมากเกินไป
“สำหรับการวินิจฉัยโรค แพทย์จะซักประวัติ ตรวจสอบโรคประจำตัว อย่างเช่นโรคข้อรูมาตอยด์หรือโรคเส้นประสาท รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุของโรค ตรวจร่างกายดูจุดกดเจ็บที่ด้านนอกของข้อศอกบริเวณปุ่มกระดูก Lateral epicondyle จากนั้นอาจจะให้ผู้ป่วยทดสอบการขยับข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือในท่าต่าง ๆ หรือกดตามจุดที่มีอาการปวด เพื่อวินิจฉัยโรค Tennis Elbow” นายแพทย์วรวิทย์กล่าว
การรักษาโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอกขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการพิจารณาของแพทย์ โดยอาจเริ่มจากพักการใช้งาน กิจกรรมหรือกีฬาที่ต้องใช้แขนหนัก ใส่สนับรัดพยุงข้อศอกช่วยลดการขยับตัวของกล้ามเนื้อและลดแรงที่มากระทำต่อเส้นเอ็น รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์เพื่อลดอาการปวดและอักเสบ ตลอดจนรักษาโดยการกายภาพบำบัดด้วยท่ายืดกล้ามเนื้อและบริหารกล้ามเนื้อ (Stretching and strengthening exercise) เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณแขนส่วนปลาย หรือใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น เครื่องอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) เทคโนโลยีคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Therapy) เพื่อซ่อมแซมเนื้อและฟื้นฟูเยื่อบริเวณเส้นเอ็น แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาเสตียรอยด์ตรงจุดยึดเกาะเส้นเอ็นเพื่อลดการอักเสบ แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 2 – 3 ครั้งต่อปี เพราะอาจทำให้เส้นเอ็นเปื่อยและฉีกขาดได้
นอกจากนี้ ยังสามารถรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นหรือ PRP (Platelet Rich Plasma) ซึ่งมี Growth Factor ที่มีคุณสมบัติซ่อมแซมเซลล์ตามธรรมชาติ ช่วยกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นฟูของร่างกาย หยุดยั้งความเสื่อมของเนื้อเยื่อเส้นเอ็น โดยเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากมีความปลอดภัยและผลข้างเคียงน้อย เพราะเป็นการนำเลือดของผู้ป่วยเองมาปั่นแยกจนเป็นเกล็ดเลือดเข้มข้นที่เหมาะสม และฉีดกลับไปยังบริเวณที่ปวดหรือปุ่มกระดูกข้อศอกด้านนอก
แต่ถ้าภายใน 6 – 12 เดือน อาการยังเรื้อรังหรือรุนแรงขึ้นแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องที่ช่วยให้แผลมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ โดยเป็นการตัดแต่งเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บหรือสภาพที่ไม่ดีออกไป จากนั้นผู้ป่วยต้องใส่เฝือกชั่วคราว 1 สัปดาห์ และทำกายภาพบำบัดต่ออย่างน้อย 2 เดือน เพื่อให้เอ็นและกล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้เป็นปกติ แต่หากปล่อยทิ้งไว้และไม่รับการรักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เส้นเอ็นบาดเจ็บ เส้นเอ็นฉีดขาด กล้ามเนื้อปลายแขนอ่อนแรง เป็นต้น
ส่วนการป้องกันโรค Tennis Elbow นายแพทย์วรวิทย์แนะนำว่า ควรออกกำลังกายบริหารข้อมือและแขนสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ หลีกเลี่ยงการใช้แขนและข้อมือในอิริยาบถเดิม ๆ เป็นเวลานาน ยืดกล้ามเนื้อก่อนและหลังการเล่นกีฬาทุกครั้งเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ สำหรับผู้ที่เคยมีอาการ Tennis Elbow ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือเล่นกีฬาเดิม ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด แต่ถ้าไม่สามารถเลี่ยงได้ควรปรับวิธีเพื่อลดแรงกดต่อกล้ามเนื้อให้น้อยที่สุด