ผักกาดหอม
กลัวซะที่ไหน!
วานนี้ (๔ กุมภาพันธ์) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปศาลอาญา และเป็นอีกครั้งที่พูดถึง ม.๑๑๒
“….ม.๑๑๒ เป็นมาตราที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างแน่นอน เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นคือการมีเสรีภาพทางการแสดงออก
และ ม.๑๑๒ มีโทษที่สูงเกินไปด้วย จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขกฎหมาย ม.๑๑๒….”
ทุกครั้งที่ธนาธรพูดถึง ม.๑๑๒ มักแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวออกมาด้วย
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นที่ยอมรับในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
แต่การใช้สิทธิเสรีภาพในประเทศประชาธิปไตยทุกประเทศ ล้วนถูกจำกัดขอบเขตตามกฎหมายด้วยกันทั้งสิ้น
ไม่ว่าอเมริกา ยุโรป มีข้อจำกัดนี้ด้วยกันทั้งนั้น
ม.๑๑๒ บทบัญญัติว่าด้วยการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น ประมุขของรัฐ การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจึงมีขอบเขตความรับผิดของการกระทำ
เช่นเดียวกับประมุขรัฐในตะวันตก ล้วนมีกฎหมายคุ้มครองในลักษณะเดียวกันนี้
อาจจะแตกต่างกันบ้างในบทลงโทษ และการนำมาใช้
เพราะบริบทของแต่ละประเทศนั้น ไม่เหมือนกัน
อันเนื่องมาจากรากเหง้า และวัฒนธรรม ที่แตกต่างกัน
ความผิดอาญาฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ เป็นบทบัญญัติที่มุ่งปกป้องและคุ้มครองพระมหากษัตริย์
พระมหากษัตริย์ มีความต่างจากประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี
พระมหากษัตริย์ไทย มีสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นที่รัก เคารพสักการะ และเทิดทูนของประชาชน
ส่วนประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำทางการเมือง
แม้จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
แต่น้อยมากที่ประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ในโลกนี้มีสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นที่รัก เคารพสักการะ
เป็นได้เพียงผู้นำทางการเมือง ที่มีทั้งคนรักคนชัง คนด่าและคนโจมตี
ขณะที่ พระมหากษัตริย์ไทย มีสถานะที่สูงกว่านักการเมือง
ประเด็นนี้เป็นเรื่องยากที่คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมจะเข้าใจ
มุมมองนักวิชาการตะวันตก ต่อพระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย ไม่ต่างไปจากการไปกินผัดกะเพราในยุโรป ที่ไม่มีกะเพรา แต่ใส่หอมใหญ่พริกเม็ดเดียวแทน
สำหรับคนไทย เป็นวัฒนธรรมต่อเนื่องมานับร้อยๆ ปี การจะก้าวล่วงพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้
ฉะนั้นสิ่งดังกล่าวนี้ มิได้มีเฉพาะในตัวบทกฎหมายเท่านั้น
แต่ยังหยั่งลึกลงในความรู้สึกนึกคิด ภายในจิตใจของประชาชนชาวไทยมาโดยตลอด
การกระทำต่อพระมหากษัตริย์ จึงเท่ากับเป็นการกระทำที่กระทบต่อความรู้สึกของคนในชาติ ต่างจากความรู้สึกต่อผู้นำทางการเมือง
ประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยหลายประเทศ ไม่ว่าจะมีพระมหากษัตริย์ หรือประธานาธิบดีเป็นประมุข ต่างก็มีกฎหมายลักษณะนี้ จึงไม่อาจสรุปได้ว่า ม.๑๑๒ ขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
หรือจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
แม้ ม.๑๑๒ จะมีปัญหาในการบังคับใช้อยู่บ้าง ตรงที่มีการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
แต่การตีความว่า การใช้ ม.๑๑๒ เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ยังมีปัญหา
เพราะผู้ต้องหาแทบทั้งหมดที่ถูกแจ้งความเอาผิดตาม ม.๑๑๒ นั้นมีพฤติกรรมล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ค่อนข้างชัดเจน
ม.๑๑๒ สมควรที่จะแก้ไขหรือไม่?
ในแง่กฎหมายมีการถกเถียงมาเป็นระยะ แต่สุดท้ายไม่มีใครเอาด้วย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อพรรคก้าวไกล โดยการบงการของ “ธนาธร-ปิยบุตร” ประกาศว่าจะแก้ไข ซึ่งอาจรวมถึงการยกเลิก เพื่อไปใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดา คำถามคือเจตนาคืออะไร?
การแก้ ม.๑๑๒ หรือยกเลิก ผลที่จะตามมาทันทีคือ หลักการปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทำลายลงทันที
มองปัญหาแบบไม่โลกสวย สังคมไทยไม่อาจใช้หลักความเสมอภาคและเท่าเทียมแบบสุดโต่ง ตามที่ก๊วน ๓ กีบ ต้องการได้
ประเทศไทยยังมีความจำเป็นจะต้องปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์
และปัญหาที่แท้จริงของประเทศในเวลานี้ไม่ได้เกิดจากการมี ม.๑๑๒
แต่ ม.๑๑๒ ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นต่อสู้ทางการเมืองเพื่อพาดพิงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน มีการแจ้งความฐานความผิด ม.๑๑๒ มากกว่าช่วงเวลาอื่น
ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำทางการเมืองตีเสมอเจ้ามากที่สุด เป็นช่วงเวลาที่มีการจาบจ้วงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ครับ…ขณะที่ ม.๑๑๒ ถูกบงการให้แก้ไขหรือยกเลิกโดย “ธนาธร”
เป็น “ธนาธร” คนเดียวกันกับ “ธนาธร” ที่ถูก “อดิศร นุชดำรงค์” อธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)
ในข้อหาใช้เอกสารที่ออกโดยมิชอบมาครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี เนื้อที่รวม ๒,๑๕๔-๓-๘๒ ไร่
เป็นการดำเนินคดีพ่วงแม่และพี่สาวคือ แม่สมพร และชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้าไปด้วย
ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ
อธิบดีกรมป่าไม้ ท่านบอกว่า….
“จากการสืบสวนพยานหลักฐานชัดเจนแล้วว่า เอกสาร นส.๓ ก. ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้ง ๓ ท่านรู้อยู่แล้วว่าที่ดินออกโดยไม่ชอบ แต่ยังยืนยันที่จะจดกรรมสิทธิ์แล้วนำมาใช้ประโยชน์”
“จากการตรวจสอบพบบันทึกการซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ดินกับผู้ซื้อขาย โดยมีการบันทึกถ้อยคำรับทราบอยู่แล้วว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอาจมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในวันข้างหน้า แต่ยังยืนยันจะซื้อขายต่อ จึงเป็นการเจตนายืนยันครอบครองที่ดินโดยมิชอบ และเป็นหลักฐานสำคัญในการแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้”
รู้อยู่แล้วว่าผิดกฎหมาย
แต่ยังยืนยันและเจตนาที่จะหาประโยชน์จากสิ่งที่ผิดกฎหมายนั้น
ทำอย่างไรกับคนแบบนี้ดี?.