อัยการสั่งไม่ฟ้อง “ธนาธร” คดี “รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง” ที่พ่วงมาจากคดีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ธนาธร” ถือครองหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะสมัคร ส.ส.
“อิทธิพร แก้วทิพย์” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญามีคำสั่งไม่ฟ้อง “ธนาธร” จริง
ขั้นตอนหลังจากนี้ต้องส่ง ผบ.ตร.ชี้ขาด
ขณะนี้อยู่ระหว่าง ผบ.ตร.ทำความเห็นว่าจะเห็นด้วยหรือแย้งหรือไม่
ถ้าเห็นแย้งมาก็ต้องส่งอัยการสูงสุดชี้ขาดตามกฎหมาย
พร้อมกับยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่ได้ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ใช่ครับ…ไม่ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะเป็นคนละคดี คนละคำร้อง
คำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคือ “สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) จากกรณีถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ขณะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่”
ส่วนคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง เป็นคดีที่พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง สั่งฟ้องตามมติ กกต.
เป็นเอกสารเผยแพร่เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓
“….ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๑๔/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่ในวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ต่อ กกต. นั้น
เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา คณะกรรมการ กกต.พิจารณาข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และพฤติการณ์ในสำนวนการไต่สวน ประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว
เห็นว่า นายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ โดยเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อต่อ กกต. อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
โดยนายธนาธร รู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๑ มาตรา ๑๕๑ จึงมีมติให้สำนักงาน กกต.ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป…”
แต่จะบอกว่า ๒ กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกันเลยคงไม่ได้
อธิบายเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจได้ตามนี้ครับ
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ธนาธร” ถือหุ้นสื่อขณะสมัคร ส.ส. ก็เท่ากับ “ธนาธร” รู้ตัวเองดีว่า ตัวเองขาดคุณสมบัติสมัคร ส.ส.
อะไรพิสูจน์ว่า “ธนาธร” รู้ว่าตัวเองยังถือหุ้นสื่อขณะสมัคร ส.ส.
คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ระบุเอาไว้ชัดเจนในประเด็นเหล่านี้
จรัญ ภักดีธนากุล
“……จากเอกสารหลักฐานที่มิได้อยู่ในความครอบครองควบคุมของคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องยังเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด โดยยังไม่ได้โอนหุ้นออกไป เนื่องจากเป็นบริษัทที่ผู้ถูกร้องไม่ได้เป็นผู้บริหารและไม่ได้เข้าเกี่ยวข้อง ตามที่ได้เบิกความไว้ต่อศาล
แต่เมื่อผู้ถูกร้องทราบว่า นายภูเบศวร์ เห็นหลอด ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ที่ผู้ถูกร้องเป็นหัวหน้าพรรค ถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้ถอนชื่อออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการสื่อมวลชน ผู้ถูกร้องกลับจัดทำเอกสารการโอนหุ้นย้อนหลังเพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติ จึงทำให้เกิดพิรุธหลายประการ….”
บุญส่ง กุลบุปผา
“….นอกจากนี้ เมื่อกระบวนการโอนหุ้นระหว่างผู้ถูกร้องกับนางสมพรฯ ไม่น่าเชื่อ และเมื่อนำพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวมาพิเคราะห์เชื่อมโยงกับเช็คชำระค่าหุ้นที่ผู้ถูกร้องได้รับมาดังกล่าวก็มีการเรียกเก็บเงินล่าช้าเป็นพิรุธ ล้วนแต่เป็นเหตุผลให้เกิดความสงสัยว่าผู้ถูกร้องจะได้โอนหุ้นครั้งนี้ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงดั่งที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างหรือไม่
ประกอบกับพยานที่เบิกความในชั้นไต่สวน ซึ่งตัวผู้ถูกร้องในฐานะพยานก็เบิกความเป็นพิรุธหลายขั้นตอน โดยเฉพาะในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันดังกล่าวผู้ถูกร้องได้ไปปรากฏตัวปราศรัยหาเสียงอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ แต่ผู้ถูกร้องอ้างว่าได้เดินทางกลับจากจังหวัดบุรีรัมย์มาทำการโอนหุ้นได้ทันในวันเดียวกัน โดยถึงบ้านพักที่กรุงเทพมหานครในเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. นั้น เมื่อศาลได้ถามผู้ถูกร้องถึงรายละเอียดกำหนดการที่ผู้ถูกร้องต้องปราศรัยหาเสียงอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และต้องเดินทางกลับมาดำเนินการโอนหุ้นที่กรุงเทพมหานครในวันเดียวกันนั้น พยานไม่สามารถตอบรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการต่างๆ ได้
และผู้ถูกร้องในฐานะพยานเพียงแต่ใช้คำตอบทำนองว่าไม่ทราบหลายคำถาม ทั้งที่เรื่องกำหนดการดังกล่าวนั้นก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวผู้ถูกร้องเองทั้งสิ้น….”
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
“….การนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.๕) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๓๙ จะมิได้กำหนดให้ต้องนำส่งในทันทีที่มีการโอนหุ้น โดยกำหนดเพียงให้ต้องนำส่งอย่างน้อยปีละครั้ง และมิให้ช้ากว่าวันที่สิบสี่นับแต่การประชุมสามัญก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด มีการนำส่งภายในระยะเวลาใกล้เคียงกับวันที่มีการโอนหุ้น แม้เป็นเวลาใกล้เคียงกับวันประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงินก็ตาม ก็หาได้นำส่งไปในคราวเดียวกันพร้อมงบการเงินไม่ ดังนั้นการที่ไม่มีการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นภายในเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่ามีการโอนหุ้นดังกล่าว แต่กลับมีการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.๕) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ โดยปรากฏว่าหมายเลขหุ้น ของผู้ถูกร้องได้มีการโอนไปยังนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ จึงเป็นกรณีอันผิดปกติวิสัยแตกต่างจากทางปฏิบัติของบริษัท….”
ครับ…เท่านี้ก็น่าจะเพียงพอให้เห็นว่า “ธนาธร” รู้ตัวเองดีว่ายังถือหุ้นสื่ออยู่ขณะสมัคร ส.ส.
กรรมเป็นเครื่องชี้ “เจตนา”
มี “เจตนา” ในการทำหลักฐานเท็จ หลักฐานย้อนหลัง เพื่อไม่ให้ผิดกฎหมาย
ฉะนั้นถามไปที่อัยการดังๆ ก่อนสั่งไม่ฟ้อง ดูรายละเอียดเหล่านี้แล้วหรือยัง
อัยการสามารถตัดสิน “เป็นคุณ” กับ “ธนาธร” ได้ในทันที โดยไม่ดูถึง “เจตนา” ตามที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเลยหรือ
หรือดูแล้ว ไม่เห็นว่า “ธนาธร” มีพิรุธใดๆ ทั้งสิ้น
เป็นอีกครั้งที่ อัยการต้องอธิบาย
อย่าให้องค์กรนี้ตกเป็นจำเลยของสังคมซ้ำอีก.