อย. ร่วมตำรวจไซเบอร์จัดการ ป๊อบอัพ-แบนเนอร์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย

อย. ร่วมกับตำรวจไซเบอร์สกัดกั้นป๊อบอัพ-แบนเนอร์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทางเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ แต่งเรื่องอ้างผลงานวิชาการ บุคคลที่มีชื่อเสียงและผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มารับรองผลิตภัณฑ์ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ หากพบโฆษณาที่น่าสงสัย อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง แจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดเกินจริง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางในรูปแบบป๊อบอัพ (Pop up) และแบนเนอร์ (Banner)  บนเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก เช่น

“คุณยายวัย 64 ปี จากกรุงเทพฯ แต่งงานกับหนุ่มอายุ 30 ปี ที่…”

“อยากอยู่ให้ได้ 100 ปี มั้ย? ทำความสะอาดหลอดเลือด!…”

“ดื่มวันละครั้ง  พุงห้อย ๆ จะหายไปในสัปดาห์เดียว”

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ขอชี้แจงว่า ป๊อบอัพหรือแบนเนอร์โฆษณาเหล่านี้มักสร้างหัวข้อดึงดูดความสนใจ เมื่อกดเข้าไปดูโฆษณาจะเชื่อมไปยังเว็บไซต์สำหรับสั่งซื้อสินค้า ซึ่งไม่มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป ปรากฎเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ เพิ่มความน่าเชื่อถือโดยอ้างผลงานวิชาการ อ้างชื่อหน่วยงาน นำภาพหรือชื่อของบุคคลที่มีชื่อเสียงมาให้การรับรองผลิตภัณฑ์ ตามด้วยรีวิวสินค้าผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จากการตรวจสอบเว็บไซต์เหล่านี้จดทะเบียนโดเมนในต่างประเทศ ไม่ปรากฏข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับผู้ขายในประเทศไทย วิธีการสั่งซื้อจะต้องกรอกข้อมูลและเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ จากนั้นจะมีการติดต่อกลับจากผู้ขายซึ่งเป็นเบอร์ที่ ไม่สามารถโทรกลับได้ และส่งสินค้าโดยเก็บเงินปลายทาง

ซึ่ง อย. ได้ออกข่าวเตือนไปหลายครั้ง เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร Aural+ ว่าช่วยรักษาปัญหาการได้ยิน ฟื้นฟู 100% ไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยฟัง มีพรีเซนเตอร์อ้างเป็นบุคลากรทางการแพทย์ จากการตรวจสอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีชื่อบุคคลดังกล่าวในฐานข้อมูลแพทยสภาแต่อย่างใด, 

น้ำยาหยอดตานาโนแอบอ้างรูปและชื่อของ ศ. นพ. ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานวิชาการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย,

หรือการแอบอ้างผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขค้นพบวิธีการลดน้ำหนักได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น

อย. จึงร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสกัดกั้นการโฆษณาที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ และจะเชิญผู้ผลิตและผู้นำเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเตือนภัยในข่าวปลอม (Fake news) รวมทั้งจัดประชุมร่วมกับสื่อออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อร่วมกันจัดการปัญหาโฆษณาผิดกฎหมายเหล่านี้ต่อไป

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้บริโภคหากพบเห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอ้างผลงานวิชาการหรือบุคคลต่าง ๆ มารับรองผลิตภัณฑ์ในลักษณะตามข้างต้น เชื่อได้ทันทีว่า เป็นโฆษณาหลอกลวง อย่าหลงเชื่อ อย่าซื้อมาใช้ นอกจากจะทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังทำให้เสียโอกาสในการรักษาโรคอย่างถูกต้อง ให้ร้องเรียนมาที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application

Written By
More from pp
ห่วง ฝุ่น PM 2.5 กระทบชีวิตในโรงเรียน ชาร์ป ไทย จับมือ ม.สวนดุสิต ร่วมเยียวยาเยาวชน ปลุกความตระหนัก เรียกร้องสิทธิหายใจ…ที่หายไป
กรุงเทพฯ ประเทศไทย (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563) –  บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด หวั่นภัยฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพเด็กและเยาวชน เดินหน้ากิจกรรมเพื่อสังคม...
Read More
0 replies on “อย. ร่วมตำรวจไซเบอร์จัดการ ป๊อบอัพ-แบนเนอร์ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย”