อธิบดีกรมกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขอบคุณศรีสุวรรณ จรรยา ห่วงเจาะบ่อบาดาล ยันไม่เคยจ้างเอกชนขุดเจาะ กลัวทำให้ชั้นน้ำบาดาลเสียหาย

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.64 นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะร้องเรียน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีมีหัวหน้าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งส่งทีมงานไปเจรจาชักชวนให้ผู้รับเหมาร่วมรับงานเหมาขุดเจาะบ่อบาดาลในโครงการประปาบาดาลด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตรในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และโครงการสนับสนุนสร้างบ่อบาดาลประปาโซล่าเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ในราคาบ่อละ 5 แสนบาท

โดยอ้างว่าสามารถดึงโครงการดังกล่าวมาทำได้ เพราะใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการดังกล่าว ว่า

ต้องขอบคุณนายศรีสุวรรณ ที่เป็นห่วงเรื่องการขุดเจาะบ่อบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ไม่เคยเหมาให้ใครขุดเจาะบ่อบาดาล กรมฯ ดำเนินการเองทุกอย่าง

ที่ผ่านมา มีคนพยายามให้จ้างเหมา แต่ กรมฯ ไม่ยอม เพราะกลัวบ่อบาดาล ไม่ดีและไม่ได้มาตรฐาน อายุการใช้งานจะน้อย

สำคัญที่สุดคือชั้นน้ำบาดาลจะเสียหาย ตนอยากฝากเตือนประชาชนว่าอย่าไปจ้างเอกชนมาขุดเจาะบ่อบาดาล เพราะอาจจะได้บ่อไม่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญ อาจทำให้ชั้นน้ำบาดาลเสียหาย

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวต่อว่า บ่อบาดาลที่ดี คือ

1.จะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้รู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่ สภาพภูมิประเทศ เส้นทางคมนาคม ชึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนสำรวจ

2.สำรวจภาคสนาม ทั้งความพร้อมมวลชน และทางอุทกธรณีวิทยา การสำรวจธรณีวิทยา การสำรวจอุทกธรณี การสำรวจธรณีฟิสิกส์ เพื่อนำมาคำนวณเพื่อประเมินลักษณะของชั้นน้ำบาดาลว่าเป็นชั้นน้ำบาดาลในชั้น กรวดทราย หรือในหินชั้นรอยแตก และดูว่ามีโอกาสที่จะได้มาซึ่งปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำที่ต้องการหรือไม่ และประชาชนเดือดร้อนจริงไหม? ยินยอมให้พื้นที่ก่อสร้างหรือไม่?


3.คัดเลือกสถานที่ นำผลการสำรวจทั้งภาคประชาชน ความพร้อมสถานที่ ข้อมูลชั้นน้ำ นำมาเรียงลำดับความสำคัญของสถานที่พร้อมกำหนดชนิดเครื่องจักรเจาะบ่อที่เหมาะสมกับชั้นน้ำบาดาลได้ซึ่งทั้งสามขั้นตอนข้างต้น จะทำให้การคัดเลือกพื้นที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

4. เจาะบ่อน้ำบาดาล/วิเคราะห์ดิน-หินโดย การเจาะบ่อจะต้องเก็บตัวอย่างดิน/หินทุกๆ 1 เมตร เมื่อเจาะถึงชั้นที่คาดว่าจะพบน้ำบาดาลจะทำการหย่อนเครื่องมือสำรวจธรณี ฟิสิกส์ในหลุมเจาะ เพื่อดูข้อมูลชั้นดินชั้นหินในแนวดิ่ง เพื่อเป็นข้อมูลในการก่อสร้างบ่อ

5. ออกแบบและก่อสร้างบ่อน้ำบาดาลจากข้อมูลการหยั่งธรณีฟิสิกส์ในหลุมเจาะ ข้อมูลชั้นดินหิน ว่าจะลงท่อกี่เมตร ตรงไหนวางท่อกรุ ท่อกรองหรือท่อเซาะร่อง ตรงไหนมีน้ำเค็มก็ต้องอุดด้วยดินเหนียวหรือซีเมนต์ รวมถึงการคัดเลือกชนิดท่อ

6. พัฒนาบ่อน้ำบาดาล ในการทำงานคือการใช้เครื่องอัดลมที่มีกำลังสูงเป่าล้างบ่อ เพื่อขจัดสิ่งปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างการเจาะ เช่น น้ำโคลน เศษดิน เศษหิน ตลอดจนเม็ดดินเม็ดทรายละเอียดออกจากบ่อ เป็นต้น

7. ลงท่อและสูบทดสอบปริมาณน้ำบาดาล ทั้งระยะ 10 ชั่วโมงหรือ 72 ชั่วโมง ในขั้นตอนนี้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการคัดเลือกชนิดและขนาดแรงม้าของเครื่อง สูบน้ำ การคำนวณระดับความลึกที่เหมาะสมในการติดตั้งท่อดูดน้ำ ตลอดจนสามารถกำหนดอัตราการสูบที่เหมาะสมกับบ่อได้

8. วิเคราะห์คุณภาพน้ำ ด้วยการส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ก่อนใช้จะทำให้เกิดความมั่นใจ ว่าน้ำสามารถอุปโภคบริโภคได้หรือไม่

9. ออกแบบระบบกระจายน้ำและระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ออกแบบระบบกระจายน้ำทั้งถังกักเก็บน้ำ ระบบส่งน้ำระยะไกล รวมถึงท่อกระจายน้ำ ให้เหมาะสมความความต้องการ ศักยภาพน้ำบาดาล รวมถึงสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ การปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล คือ วิธีการทำให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น โดยลดหรือกำจัดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกินค่าที่ยอมรับได้ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนมีน้ำดื่มสะอาดบริโภค และ

10. การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างการมีส่วนร่วม เมื่อสร้างระบบทั้งหมดเสร็จ ก็จะต้องมีการอบรม ถ่ายทอดวิธีการใช้ บำรุงรักษาระบบ ตลอดจนแนวทางการตั้งกลุ่ม เก็บค่าใช้น้ำ รวมถึง การนำผู้เกี่ยวข้อง เช่น หมอดิน ปราชญ์ชาวบ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์มาช่วยต่อยอด “ให้ระบบทุกระบบของกรมมีความยั่งยืน”

Written By
More from pp
จัดวิ่ง “ทีเอบี รัน” เพื่อคนตาบอดในวันตรุษจีน
สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่กับ ‘TAB RUN เพื่อคนตาบอด 2023’ (ทีเอบี รัน) งานเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพการกุศลชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศจาก พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี...
Read More
0 replies on “อธิบดีกรมกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขอบคุณศรีสุวรรณ จรรยา ห่วงเจาะบ่อบาดาล ยันไม่เคยจ้างเอกชนขุดเจาะ กลัวทำให้ชั้นน้ำบาดาลเสียหาย”