นพ.รัฐภรณ์ อึ๊งภากรณ์
อุปนายกวิเทศสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
เซ็บเดิร์มหรือโรครังแคนั้น พบบ่อยบริเวณหนังศีรษะ ใบหน้า อาจลามมาที่อกและหลัง ในผู้ชายที่มีหนวดก็สามารถเป็นได้ การรักษาส่วนใหญ่ถ้ากรณีที่เป็นไม่มาก เราจะใช้แชมพูกำจัดรังแค ที่มีส่วนผสมของยาขจัดรังแค
เช่นสารซิงค์ โพลิไธออน,ไซโคลพิรอกซ์ โอลามีน หรือซีลีเนียม ซัลไฟด์ หลักการของการฟอกการสระ นั้นต้องทำเบา ๆ ห้ามเกา ใช้มือคลึงเบา ๆ แล้วก็ทิ้งเอาไว้อย่างน้อยประมาณ 2-3 นาที ให้ตัวยาออกฤทธิ์ และสะเก็ดอ่อนตัวหลุดออกไป แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำธรรมดา
บางตัวทำให้ผมแห้ง หรือกลิ่นแรง ก็สามารถเลือกใช้ตัวแชมพูอื่นชะล้างโดยเร็วอีกรอบได้ โดยที่ไม่ต้องเกา หรือบางท่านที่ผมแห้งก็ใช้แค่ครีมนวดผมจับปลายเส้นผมได้
ในบางรายที่สะเก็ดติดหนังศีรษะหนาทำอย่างไรได้บ้าง
ก่อนที่จะสระผมให้ใช้น้ำมันมะกอกแตะที่หนังศีรษะทิ้งไว้ประมาณ 15 ถึง 30 นาทีให้สะเก็ดมันร่อนนุ่ม ๆ แล้วค่อยสระผม แต่ห้ามแกะเพราะจะยิ่งกระตุ้นให้เป็นมากขึ้น ในกรณีที่ใช้แชมพูดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น อาจต้องพบแพทย์เพื่อรับแชมพูที่เป็นยา วิธีการใช้จะเหมือนกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเคล็ดลับสำหรับคนที่เป็นรังแคของใบหน้า อาจใช้ฟองแชมพูสำหรับสระผมให้โดนในบริเวณที่มีผื่น ทิ้งไว้สั้น ๆ สัก 1 นาที แล้วล้างออกอาจจะช่วยในการรักษาและป้องกันได้
คนที่มีอาการรุนแรงอาจต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์มีความเข้มข้นต่างๆ บริเวณศีรษะ แนะนำให้ใช้ความเข้มข้นน้อยๆ จะมีในรูปของโลชั่นหยอดศีรษะ หรือเป็นยาครีมสำหรับผิวหนังทั่วไป โดยทาวันละ 1-2 ครั้ง ประมาณ 1-2 สัปดาห์พอดีขึ้นก็หยุด
ในบางคนที่เป็นบ่อยๆ แนะนำว่าการป้องกันคือ ใช้แชมพูขจัดรังแคกับแชมพูปกติสลับกันไป และเมื่อไหร่ก็ตามเมื่อเริ่มมีอาการรำคาญ ก็ค่อยมาใช้ยาสเตียรอยด์ที่พูดถึง
ในบางรายที่กลัวสารสเตียรอยด์ ก็มียาหลายๆ ตัวที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาในกลุ่มยาฆ่าเชื้อรา เพราะบางคนที่เป็นรังแคส่วนหนึ่งของคนไข้จะมีเชื้อรา คือ เชื้อยีสต์หรือเชื้อเกลื้อน สูงกว่าคนปกติทั่ว ๆไปแต่ต้องบอกว่าไม่ต้องกลัว เพราะว่าตัวเชื้อยีสต์กับตัวเชื้อเกลื้อนนี้พบได้บนผิวของทุกคน อาจจะไม่มี 100%
แต่ว่าคนไหนก็ตามที่มีผิวหนังมัน คนที่ออกกำลังกายเหงื่อออกเยอะๆ อาจจะมีเปอร์เซ็นต์ของเชื้อเกลื้อนมากกว่าปกติ ทำให้เกิดรังแคขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นในบางราย การใช้ครีมฆ่าเชื้อรากคีโตโคนาโซล (ตัวแม่แบบคือตัวไนโซรัล) ให้ทาบริเวณที่เป็นเช้า – เย็น
ข้อดีของการใช้คีโตโคนาโซล คือสามารถใช้ป้องกัน และทาเป็นครั้งคราวได้ ยาทาตัวอื่น ที่ไม่ใช่ยาสเตียรอยด์ คือ เรียกว่ายากลุ่ม calcineurin inhibitor ได้แก่ Protopic กับ Elidel ทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง พอเริ่มดีขึ้นก็ลดเป็นวันละครั้ง พอหายก็หยุด
ผลข้างเคียงของยา 2 ตัวนี้ คือทาแล้วอาจจะมีอาการแสบๆ คันๆ บ้างในช่วงแรกๆ สามารถใช้ในการป้องกันได้ในกรณีที่เป็นบ่อยๆ หรือเป็นประจำ ใช้ทา สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เช่น จันทร์- พุธ – ศุกร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ แต่ถ้าขึ้นมาเยอะมาก ๆ จะต้องไปใช้ยาสเตียรอยด์ สลับไปมาก็จะสามารถคุมอาการได้
นพ.รัฐภรณ์ กล่าวว่า สุดท้ายจะมีครีมที่จัดอยู่ในกลุ่มครีมบำรุงผิวบางตัว ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยในเรื่องของเซ็บเดิร์มได้ดี ได้แก่ Atopiclair และ Sebclair สามารถที่จะใช้แทนครีมบำรุงผิวหรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์ได้ในการรักษาและป้องกัน แต่ในกรณีที่หยุดใช้ยาแล้ว ยังมีเห่อขึ้นเป็นครั้งคราว อาจต้องกลับไปใช้กลุ่มยารักษาที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น
การใช้น้ำเกลือล้างกรณีเป็นเซ็บเดิร์ม มิใช่การรักษา ใช้ได้ในกรณีที่มีสะเก็ดเยอะ ๆ สะเก็ดหนา ๆ หรือหากจะประคบให้ใช้น้ำต้มสุกสะอาดหรือน้ำต้มสุกที่ผสมเกลือก็ได้ หรือน้ำเกลือที่หาซื้อได้ทั่วไปก็ได้ ประคบเพื่อให้สะเก็ดมันนุ่มอาจจะใช้น้ำมันมะกอกให้สะเก็ดมันหลุด โดยให้เอาผ้าก๊อซประคบค่อย ๆ ดึงออกมาเบา ๆ สะเก็ดมันจะหลุดเอง