กาสิโนในมุม “ศีลธรรม”

เปลว สีเงิน

“นายแพทย์ทวีศิลป์”
นำเรื่อง “บ่อนพนัน” ที่นายกฯ” ให้นโยบายต่อที่ประชุมมาแถลงเป็นประเด็นเสริมสถานการณ์โควิด เมื่อวาน (๑๕ มค.๖๔)
คือนายกฯบอกว่า……
“เรื่องบ่อนในประเทศไทยนั้น คงต้องมาหารือกันว่าการจะมีบ่อนถูกกฎหมายเป็นไปได้หรือไม่ ขัดศีลธรรมหรือไม่?

เพราะคนบางกลุ่มยอมรับ แต่บางกลุ่มยังไม่ยอมรับ สังคมต้องพูดคุยกันในประเด็นนี้

เดี๋ยวคงจะนำมาสู่แนวทางการแก้ปัญหา แต่ตอนนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย”

ถูกต้องแล้วครับ ……..
มันถึงเวลา ที่ต้องพูดกันตรงๆ ทำกันตรงๆเสียที ในเมื่อเราวางตำแหน่งไทยเป็นประเทศร่วมสังคมโลกาภิวัฒน์ การครึ่งๆกลางๆ ผลที่ไทยเราเป็นอยู่ คือ

“ไก่ก็ไม่ได้ แต่ต้องเสียข้าวเปลือกไปทุกวัน”!

ฉะนั้น ควรนำเรื่องบ่อนพนันมาศึกษา-วิเคราะห์บนฐานองค์ความรู้ให้ทะลุเปลือก แล้วตัดสินใจ กำหนดหลักการเป็นนโยบายให้ชัดลงไปเลยว่า

ไทยควรมีกาสิโนสถาน หรือไม่ควรมี?

เอาแค่ขั้น “หลักการ” ให้ลงตัวก่อน ถ้าควรมี ค่อยว่ากันถึงรายละเอียด

เท่าที่ฟัง เรื่องบ่อนพนัน เป็น ๒ ความเห็นมาตลอด คือฝ่ายหนึ่งค้าน อีกฝ่ายโอเค
ในค้าน-ในโอเค มีประเด็นหนึ่งที่ “ตะหงิดใจ” ทั้งสองฝ่ายคล้ายๆ กัน ๒ ประเด็น

ประเด็นแรก เมืองไทย “เมืองพุทธ” มีบ่อนมันตะขวงใจ
ประเด็นสอง คนจะมัวเมา แห่ไปเล่นจนเสียผู้-เสียคน

นายกฯ ก็ห่วงใยประเด็นนี้ คือประเด็น “ศีลธรรม”!

ถ้าอย่างนั้น เปิดอกพูดให้ตรงประเด็นเรื่อง “ศีลธรรม” ไปเลย เท่าที่ผมฟัง ผู้คนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนประเด็นการพนันกับศีลธรรมอยู่มาก

“ศีลธรรม” ในที่นี้ หมายถึง”ศีล-ธรรม” สำหรับผู้ครองเรือน คือชาวบ้านทั่วไป แบบเราๆ นี่แหละ

อยากให้เข้าใจกันก่อน “ศาสนาพุทธ” เป็นศาสนาให้สิทธิเสรีภาพ, ความเสมอภาค, ภราดรภาพ ไร้ขีดจำกัด

ไม่บังคับให้ใครต้องเชื่อ ต้องปฏิบัติ ต้องทำตาม พระพุทธองค์ตรัสบอกทุกคน แม้คำนั้นพระองค์ตรัสเอง “ก็อย่าเชื่อ” จนกว่าใช้สติปัญญาตรองตามจนเห็นจริง…ค่อยเชื่อ!

เอาหละ เข้าใจตรงนี้แล้ว ผมก็จะบอกว่า
เรื่อง “การพนัน” ไม่เกี่ยวกับศีล พูดตรงๆคือ เล่นการพนัน “ไม่ผิดศีล”
เพราะ “ศีล” ไม่ใช่ “ข้อห้าม” ทำโน่น-ทำนี่ อย่างที่เข้าใจกัน

และ “การพนัน” ไม่มีอยู่ในศีลทั้ง ๑๐ ข้อ
ที่สำคัญ อยากย้ำ…….

ศีล หมายถึง “ข้อปฏิบัติ” ที่มนุษย์พึงมีเป็นปกติวิสัย
อย่างศีล ๕ เพียงบอก อย่างนั้น…อย่างนั้น..ไม่ดี ไม่ควรทำ ส่วนใครจะทำ-ไม่ทำ…เรื่องปัญญาของคุณจะแทงทะลุ

เคลียร์ไป ๑ ประเด็น “เรื่องศีล”
คือ “การพนัน” ไม่อยู่ในข้อบัญญัติของศีล ฉะนั้น คนที่อ้างว่าเล่นพนัน “ผิดศีล” โปรดทำความเข้าใจให้ตรง

ทีนี้ “เรื่องธรรม” ล่ะ พุทธศาสนามีแนวทางอย่างไรในด้าน “การพนัน”?

พระพุทธองค์ตรัสบอกถึง “ช่องทาง” นำไปสู่ความเสื่อม, ความพินาศ, ความฉิบหายของทรัพย์สมบัติไว้ ๖ ช่องทาง ที่เรียก “อบายมุข” คือ…..
“กินเหล้า, เที่ยวกลางคืน, เที่ยวดูการเล่น, เล่นการพนัน, คบคนชั่วเป็นมิตร และเกียจคร้านการทำงาน”

นี่….
“การพนัน” เป็น ๑ ใน ๖ ช่องทางแห่งความฉิบหาย ธนาธรก็ดี ปิยบุตรก็ดี รู้ไว้นะ “การคบคนชั่วเป็นมิตร” เป็นช่องทางนำไปสู่ความฉิบหายอย่างหนึ่ง

ดูแล้ว “การพนัน” ถึงชั่ว ก็ชั่วมาตรฐานเดียวกับพวกขี้เกียจทำงาน พวกนกฮูก พวกตั้งวงก๊ง พวกเอาแต่สนุกไปวันๆ และพวกยกคนชั่วเป็นอาจารย์

บ่อเกิดแห่งความฉิบหายที่เรียกอบายมุขมีถึง ๖ บ่อ ก็แปลก คนเจาะจงเฉพาะ “การพนัน” เท่านั้นว่าเป็นอบายมุข?

ถามว่า พระบรมศาดาเจ้าทรงวางหลักธรรมสำหรับใช้แก้ปัญหาอบายมุขไว้บ้างมั้ย?

“มี” เรียก “ทิฏฐธัมมิกกัตถะประโยชน์ “ธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในปัจจุบันของผู้ปฏิบัติ

“พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ไปพลิกดูกันซะ

มี ๔ ข้อ ผมจะสรุปพอเจ้าใจกัน
-ขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงาน
-คุ้มครองเก็บรักษาโภคทรัพย์และผลงาน
-คบคนดีเป็นมิตร
-กำหนดรายได้และรายจ่ายเลี้ยงชีวิตแต่พอดี

ก็อาจมีพวก “ศรีธนญชัยเข้าสิง” แย้ง ขยันหมั่นเพียรตั้งบ่อน เล่นบ่อน ได้ฝากเมีย-เสียฝากเพื่อน คบเซียนเป็นเพื่อนคอยแนะทีเด็ด แบบนี้ ก็ถือว่าเดินตามธรรมข้อนี้ใช่มั้ย?

อย่าเพิ่งโมเม….
ธรรม “คำสอนพุทธองค์” ไม่ใช่กฎหมาย เป็นเรื่องสำนึกมนุษย์ “ไม่ต้องตีความ” และไม่สุดโต่งไปทางใด-ทางหนึ่ง
พระพุทธองค์ทรงเน้น “ทางสายกลาง” ในการปฏิบัติ

และ “มรรค ๘” เป็นเส้นทางสายหลัก ที่ทุกข้อธรรมต้องยึด

“สัมมาอาชีวะ” หมายถึงการทำมาหากินสุจริตและชอบธรรม ไม่คด-ไม่โกง-ไม่หลอกลวง-ไม่บังคับขู่เข็ญ ไม่ประจบสอพลอเขา

เนี่ย ทิฎฐธรรมมิกัตถประโยชน์ จะเป็นประโยชน์ ก็ต้องเป็นไปตามเส้นทางสายมรรคนี้
ลงลึกก็จะหาวเรอกัน แต่เมื่อจะเคลียร์เรื่องการพนันให้ชัดด้าน “ศีล-ธรรม” ก็ต้องขมคอกันหน่อย

ก็อาจข้องกันอีกว่าแบบนี้ หมายความว่าไง เมื่อด้านศีล “ชัดละ” ว่าการพนันไม่มีในศีลบัญญัติ
ด้าน “ธรรม” เอาให้ชัดซิ การพนันเมืองพุทธ “ผิด-ไม่ผิด, ห้าม-ไม่ห้าม”?

และมีมั้ย อะไรที่ “ไม่ชอบธรรม” แล้วพระพุทธองค์ทรงชี้แนวทางในด้านปฏิบัติ-ไม่ปฏิบัติไว้?
ตอบว่า “มี”

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๖
อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต อุบาสกวรรคที่ ๕ ว่าด้วยเรื่อง “กามโภคีสูตร”

“อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถีและพระองค์ตรัสบอกว่า “โภคีบุคคลมีอยู่ในโลก ๑๐ จำพวก”

“กามโภคี” หมายถึงผู้บริโภคกาม คือชาวบ้านอย่างเราๆ นี่แหละ ซึ่งมีอยู่ในโลกนี้
จะยก ๑๐ จำพวกจาก “พจนานุกรมพุทธศาสตร์” มาให้เข้าใจกัน จากกลุ่มที่ ๑

๑.พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, ทั้งไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี

๒.โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, แต่ไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี

๓.โดยไม่ชอบธรรม โดยทารุณข่มขี่, ได้มาแล้ว เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุขด้วย, แจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำกรรมดีด้วย

-พวกที่ ๑ ควรตำหนิทั้ง ๓ สถาน, พวกที่ ๒ ตำหนิ ๒ ชม ๑, พวกที่ ๓ ตำหนิ ๑ ชม ๒

กลุ่มที่ ๒ แสวงหาชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง

๔.พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ทารุณข่มขี่บ้าง ไม่ทารุณข่มขี่บ้าง, ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, ไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี

๕.โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ทารุณข่มขี่บ้าง ไม่ทารุณข่มขี่บ้าง, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, แต่ไม่แจกจ่ายแบ่งปันและไม่ใช้ทำกรรมดี

๖.โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง โดยทารุณข่มขี่บ้าง ไม่ทารุณข่มขี่บ้าง, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, ทั้งแจกจ่ายแบ่งปัน และใช้ทำกรรมดี

-พวกที่ ๔ ควรตำหนิ ๓ สถาน ชม ๑, พวกที่ ๕ ตำหนิ ๒ ชม ๒, พวกที่ ๖ ตำหนิ ๑ ชม ๓
กลุ่มที่ ๓ แสวงหาชอบธรรม

๗.พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วไม่เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, ไม่แจกจ่ายแบ่งปัน ไม่ใช้ทำความดี

๘.โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วเลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, แต่ไม่แจกจ่ายแบ่งปัน และไม่ใช้ทำความดี


๙.โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุขด้วย, ทั้งแจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำความดีด้วย
แต่จิตยังสยบมัวเมา ยังหมกมุ่น บริโภคโภคะเหล่านั้นโดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้นเป็นนายเหนือโภค

-พวกที่ ๗ ควรตำหนิ ๒ สถาน ชม ๑, พวกที่ ๘ ตำหนิ ๑ ชม ๒, พวกที่ ๙ ชม ๓ ตำหนิ ๑

๑๐.พวกหนึ่งแสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ไม่ทารุณข่มขี่, ได้มาแล้วก็เลี้ยงตนให้อิ่มหนำเป็นสุข, แจกจ่ายแบ่งปันและใช้ทำความดีด้วย,

ไม่สยบมัวเมา ไม่หมกมุ่น บริโภคโภคะเหล่านั้น โดยรู้เท่าทันเห็นโทษ มีปัญญาทำตนให้เป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์

-พวกที่ ๑๐ นี้ ทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศ ประเสริฐ สูงสุด ควรชมทั้ง ๔ สถาน

ครับ…..
แค่นี้ พอเคลียร์ในประเด็นถ้ามี “กาสิโนสถาน” ในไทยจะขัดด้าน “ศีล-ธรรม” หรือไม่ พอเป็นเหตุ-เป็นผล “ตามธรรม” หรือไม่ ก็ฝากเป็นข้อมูลวินิจฉัย

สรุปง่ายๆ มนุษย์มีขั้น หยาบ-กลาง-ละเอียด ธรรมโอสถของพุทธองค์ จึงมีสำหรับทั้งคนกิเสสหนา-กิเลสบาง-กิเลสละเอียด

ฉะนั้น “กาสิโนดี-กาสิโนเลว” จะสรุปไปข้างใด-ข้างหนึ่ง ไม่น่าจะใช่
ดูอย่างกัญชา เมื่อวาน ไม่ใช่ แต่วันนี้…ใช่แล้ว!


Written By
More from plew
“สปิริต” กับ “สติวปิด” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน “คุณนิพนธ์ บุญญามณี” ลาออกจากรมช.มหาดไทย ตอนเช้าวาน (๕ กย.๖๕) ก่อนไปขึ้นศาลที่ “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” ในฐานะ “จำเลย”
Read More
0 replies on “กาสิโนในมุม “ศีลธรรม””