สธ. ย้ำไม่แนะนำประชาชนซื้อชุดตรวจ Rapid Test ใช้เอง หวั่นแปรผลผิด แพร่เชื้อให้ผู้อื่นไม่รู้ตัว

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำชุดตรวจเร็ว ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. จำหน่ายเฉพาะในสถานพยาบาล ตรวจและแปลผลโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันโควิด 19 ไม่ใช่การตรวจเพื่อหาผู้ติดเชื้อ อาจแปรผลผิด แพร่เชื้อให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว หากพบจำหน่ายช่องทางออนไลน์แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ อย. ทันที

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็นการตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ทางห้องปฏิบัติการ ว่า

ขณะนี้ ประชาชนมีความกังวล อยากทราบว่าตนเองติดเชื้อหรือไม่ จึงหาซื้อชุดตรวจเร็วมาตรวจด้วยตนเอง ซึ่งไม่แนะนำให้ซื้อมาตรวจ เนื่องจากไม่ใช่การตรวจทั่วไปเพื่อดูว่ากำลังติดเชื้อหรือไม่ แต่เป็นการตรวจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด 19 อาจได้ผลบวกและผลลบลวง หากตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ และเข้าใจว่าตัวเองไม่มีเชื้อจะเป็นอันตราย นำเชื้อไปแพร่ให้กับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

ทั้งนี้ ชุดตรวจเร็วจะต้องได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งจำหน่ายได้เฉพาะสถานพยาบาล โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเวชกรรม คลินิกเฉพาะทางด้านเวชกรรม คลินิกเทคนิคการแพทย์หรือสหคลินิกที่จัดให้มีการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือเทคนิคการแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งการตรวจและการแปลผลต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

“กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ขายชุดตรวจเร็วในช่องทางออนไลน์ จำหน่ายได้ในสถานพยาบาลเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ จะทำให้เสียเงิน หากป่วยจะเสียโอกาสในการรักษาหรืออาจแพร่เชื้อให้คนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว หากพบเห็นการโฆษณาขาย ขอให้แจ้ง อย. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทันที ” นายแพทย์ศุภกิจกล่าว


นายแพทย์ศุภกิจกล่าวต่อว่า การตรวจหาเชื้อโควิด 19 ปัจจุบัน มีการตรวจอยู่ 2 วิธี คือ

1.การตรวจหาเชื้อไวรัสหรือส่วนประกอบไวรัส ซึ่งประเทศไทยใช้การตรวจแบบ RT-PCR ที่เป็นวิธีมาตรฐานโลก โดยเก็บตัวอย่างได้ 2 วิธี คือจากการป้ายหลังโพรงจมูกหรือจากลำคอ ทราบผลการตรวจประมาณ 4-5 ชั่วโมง และเก็บน้ำลาย ประชาชนสามารถเก็บน้ำลายด้วยตัวเอง และส่งตรวจด้วยวิธี RT-PCR หาสารพันธุกรรมของไวรัสเช่นเดียวกัน ซึ่งมีข้อดีคือตรวจได้จำนวนมาก ใช้ระยะเวลาในการเก็บเชื้อรวดเร็ว และตรวจรวมเป็นกลุ่มได้ เมื่อพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มจะทำการตรวจแยกรายบุคคล และ

2. การตรวจหาแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกันในร่างกาย เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังการติดเชื้อ ซึ่งจะใช้การส่งตัวอย่างเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือใช้ชุดตรวจเร็ว Rapid Test ใช้สนับสนุนการวินิจฉัย การสำรวจทางระบาดวิทยา หรือศึกษาความชุกในชุมชน

Written By
More from pp
ฟาร์มเฮ้าส์….ร่วมให้ให้กำลังใจ ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ สถาบันบำนาศนราดูร
นายพัน ใจบุญ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์” เป็นตัวแทนมอบผลิตภัณฑ์ฟาร์มเฮ้าส์...
Read More
0 replies on “สธ. ย้ำไม่แนะนำประชาชนซื้อชุดตรวจ Rapid Test ใช้เอง หวั่นแปรผลผิด แพร่เชื้อให้ผู้อื่นไม่รู้ตัว”