ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ทราบว่าอาการแสดงเกิดขึ้นได้หลากหลาย ผู้ป่วยบางคนอาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ในขณะที่ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการหนักมากจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจโดยอาการรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้กับกลุ่มที่เสี่ยง เช่น เด็กเล็ก, คนท้อง, ผู้สูงอายุ กลุ่มความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว มาดูกันว่าคุณหรือคนในครอบครัวมีโรคประจำตัวที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงนี้หรือไม่
1. ความดันโลหิตสูง เนื่องจากเชื้อไวรัสจะส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ถึงร้อยละ 9
2. เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทั่วไปแล้วการทำงานของหัวใจและระบบไหวเวียนเลือดในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าคนทั่วไป
อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีภูมิคุ้มกันต่ำ หากติดเชื้อ COVID-19 จะยิ่งทำให้โรครุนแรงขึ้น เสี่ยงเกิดเยื่อบุหลอดเลือดอักเสบทั่วร่ายกายจนทำให้การไหลเวียนเลือดบกพร่อง เซลล์และเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน หัวใจทำงานหนักขึ้นและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
เช่น หัวใจล้มเหลว ลิ่มเลือดอุดตันเฉียบพลันในหลอดเลือดหัวใจ ปอดอักเสบรุนแรงและภาวะระบบการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน อีกทั้งยังทำให้ควบคุมโรคประจำตัวที่มีอยู่เดิมยากขึ้น เสี่ยงเกิดภาวะหัวใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน
3. เบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมน้ำตาลได้จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ เพราะเชื้อจะเจริญเติบโตได้ดีเมื่อน้ำตาลในเลือดสูงและร่างกายมีภูมิคุ้มกันน้อยลง
อีกทั้งผู้ป่วยเบาหวานยังมีระดับเอนไซม์โปรตีน ACE2 receptors สูงขึ้น เมื่อรับเชื้อไวรัสเข้าไปแล้วจะทำให้ผนังหลอดเลือดบางลง เกิดภาวะปอดบวม มีน้ำคั่งในถุงลม เป็นเหตุให้การหายใจล้มเหลวได้ง่าย
4. ไตเรื้อรัง ผู้ป่วยฟอกไตและปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป จึงเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงขึ้น ควรต้องดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
5. หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ซิสติกไฟโบรซิสCOVID-19 มีผลกระทบโดยตรงต่อปอด ซึ่งในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคปอดอยู่แล้วอาจทำให้โรคกำเริบหรือมีอาการปอดบวมได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไป
6. ตับแข็ง ตับอักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ป่วยปลูกถ่ายตับที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยมะเร็งตับที่กำลังรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงได้เพราะยาที่ใช้รักษา COVID-19 อาจมีผลต่อการทำงานของตับ อาจทำให้โรคที่เป็นอยู่เดิมควบคุมได้ยากขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม
7. ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง เอดส์ หรือแม้แต่คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำ จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ จึงทำให้เสี่ยงอาการรุนแรงและยังอาจติดเชื้อนานกว่าผู้ป่วยทั่วไป
8. โรคอ้วน หากติดเชื้อ COVID-19 มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงคล้ายกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคอ้วนชนิดรุนแรงหรือมีค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 – 40 ขึ้นไป การขยายตัวของปอดจะถูกจำกัด
ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสที่ปอดหรืออาจเกิดอาการหายใจลำบากเฉียบพลันได้ หากมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงและต้องเข้ารักษาตัวในห้อง ICU อาจมีปัญหาในการใส่ท่อช่วยหายใจหรือการ X-Ray Computer ที่อาจจำกัดขนาดและน้ำหนักของผู้ป่วย
ดังนั้น การป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ COVID-19 จึงเป็นวิธีที่ดีสุด โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ และไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงหรืออยู่รวมกันในที่แออัด รวมถึงรีบเข้ารับการตรวจหาเชื้อ COVID-19 หากพบว่าตัวเองมีความเสี่ยง เพื่อการรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที
นพ.ประยุทธ อังกูรไกรวิชญ์
อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ
โรงพยาบาลเวชธานี