รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม” เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2564 เดินหน้าพัฒนาโปรแกรม Thai Cancer-based ส่งต่อข้อมูลผู้ป่วย, แพลทฟอร์ม The ONE สำหรับโรงพยาบาลสืบค้นข้อมูล จองคิวรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษารวดเร็ว ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว พร้อมเร่งจัดซื้อเครื่องฉายรังสี 7 เครื่องรองรับ หลังรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 1,013 ล้านบาท
24 พฤศจิกายน 2563 ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สื่อสารนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม” ว่า รัฐบาลต้องการพัฒนาคุณภาพการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน และวางรากฐานให้ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมทุกภาคส่วน ลดความเหลื่อมล้ำของระบบบริการ
โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็ว ลดความเจ็บปวด หรือประคับประคองให้มีชีวิตอย่างมีคุณภาพ ไม่ทุกข์ทรมาน
ที่ผ่านมาก็มีนโยบายหลายเรื่อง เช่น การใช้สารสกัดกัญชา หรือก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณให้กับโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปในทุกเขตสุขภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง และอนุมัติงบประมาณ 1,013 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องฉายรังสี จำนวน 7 เครื่อง ส่งมอบให้สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และโรงพยาบาลอีก 6 แห่ง กระจายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อลดการรอคอยการรักษา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดหา
และล่าสุดได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้านการบริการการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน (Home Chemotherapy) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ให้ได้รับยาเคมีบำบัดได้โดยไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
นายอนุทินกล่าวต่อว่า จากการขับเคลื่อนดังกล่าว ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ที่มีความพร้อม” ยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพและมีความพร้อม ไม่แออัด และผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป
ซึ่งเป็นการบริหารจัดการระบบเพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าอย่างเหมาะสม ทั้งกรณีส่งต่อภายในเขตสุขภาพ หรือข้ามเขตสุขภาพ รวมทั้งมอบให้กรมการแพทย์ พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนระบบการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยและระบบบริหารจัดการ ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม บริการไร้รอยต่อ รวดเร็ว ลดเวลารอคิว โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2564 และนำไปสู่การให้คนไทยรักษาโรคได้ทุกที่ต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ จะมีการใช้นโยบายอื่นๆ มาสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ เช่น นโยบายคนไทยทุกคนมีหมอประจำตัว 3 คน ที่ช่วยให้เกิดการคัดกรอง ไม่ใช่ทุกคนที่ป่วยจะต้องมาโรงพยาบาลทั้งหมด รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพ การให้บริการโรงพยาบาลทุกระดับ มีระบบส่งต่อที่มีคุณภาพ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้บริการ เป็นต้น
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ปีละ 122,757 ราย และเสียชีวิตปีละ 80,665 ราย เมื่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย “มะเร็งรักษาได้ทุกที่ ๆ มีความพร้อม”
กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ จึงได้พัฒนาโปรแกรม Thai Cancer-based เป็นเครื่องมือช่วยให้การส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้แบบไร้รอยต่อ รวมทั้งพัฒนาแพลทฟอร์ม The ONE ช่วยสืบค้นข้อมูลและประเมินศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ
โดยโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถจองคิวการตรวจทางรังสีวินิจฉัย จองคิวการรักษาด้วยรังสีรักษาและเคมีบำบัดผ่านแพลทฟอร์มนี้ได้โดยตรง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาโปรแกรม DMS Bed Monitoring เพื่อใช้บริหารจัดการเตียง รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine ที่ใช้นัดคิวเพื่อขอรับคำปรึกษาทางไกลจากแพทย์ (Tele-Consult) ในการนัดรับยา และติดตามการรับยาทางไปรษณีย์