นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสั่งการระหว่างการประชุมบอร์ดบีโอไอว่า แม้รัฐบาลกำลังรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
แต่ไทยต้องเตรียมทุกด้านให้พร้อมไว้ทั้งกฎระเบียบ แรงงาน โครงข่ายระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนอุตสาหกรรมก้าวหน้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยหนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ
นายกรัฐมนตรียังเสนอให้มีการใช้รถ EV (Electric Vehicles) ในส่วนราชการเป็นการนำร่อง ก่อนจะขยายไปรถขนส่งสาธารณะในปี 64 ด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดบีโอไอครั้งล่าสุด ได้เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานพาหนะไฟฟ้า (อีวี) รอบใหม่ ครอบคลุมการส่งเสริมยานพาหนะไฟฟ้าทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles: BEV) ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมควบคู่ไปด้วยกันได้ สำหรับการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
ทั้งนี้ จะมีได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นหากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 หรือมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา หากมีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles หรือ PHEV ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี โดยต้องการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น
2) กิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
3) กิจการผลิตสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
4) กิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี
นอกจากนี้ ยังปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า เพิ่มเติมรายการชิ้นส่วนสำคัญอีก 4 รายการ ได้แก่
1) High Voltage Harness 2) Reduction Gear 3) Battery Cooling System และ 4) Regenerative Braking System
พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้นสำหรับกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตราร้อยละ 90 เป็นระยะเวลา 2 ปี
กรณีที่มีขั้นตอนการผลิต Module หรือ Cell เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในภูมิภาค รวมทั้งการผลิตเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วย โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2560 – 2562 มีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมฯแล้ว 26 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 78,099 ล้านบาท โดย 7 โครงการที่มีการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว แบ่งเป็น HEV (Hybrid Electric Vehicles) 3 ราย ได้แก่ นิสสัน ฮอนด้า และโตโยต้า / PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicles) 2 ราย ได้แก่ เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู และ BEV (Battery Electric Vehicles) 2 ราย ได้แก่ ฟอมม์ และ ทาคาโน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “ในอนาคตโลกมีแนวโน้มการใช้รถ EV มากถึง 60% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด ด้วยความชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ไทยจะสามารถรักษาความเป็นศูนย์กลางฐานการผลิต EV ของอาเซียน โดยขณะนี้มีนักลงทุนหลายราย หลายสัญชาติแสดงความพร้อมที่จะเข้าลงทุนใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถ EV ซึ่งล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยังเผยว่า
ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของสหรัฐ ฯ ยังเข้ามาติดต่อรับข้อมูลด้วย นอกจากนี้ บอร์ด BOI ยังได้มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นการลงทุนใน 3 ประเภทกิจการใหม่ ได้แก่ กิจการโรงพยาบาลผู้สูงอายุ กิจการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง และกิจการวิจัยทางคลินิกอีกด้วย อีกทั้งขยายเวลาและปรับปรุง “มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ” ให้ครอบคลุมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ถึง ธันวาคม 2565