กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแนวทางปฏิบัติกรณีชาวต่างชาติตรวจพบเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ผู้ป่วยจะถูกส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญากับทางโรงแรมที่เป็นสถานที่กักกันโรคดังกล่าว ซึ่งหลังจากหายดีและแพทย์ให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ก็ยังต้องดูแลสุขอนามัย สวมหน้ากาก และเว้นระยะห่างเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเคร่งครัด หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ให้รีบติดต่อสถานพยาบาลทันที
30 ตุลาคม 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่มีการตรวจพบชาวต่างชาติติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย นั้น
กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า ในการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เข้มข้นและเป็นไปในทางเดียวกันมาโดยตลอด โดยได้มีการปรับปรุงและพัฒนาแนวทางปฏิบัติดังกล่าวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคอย่างต่อเนื่อง
ในกรณีชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ต้องลงทะเบียนที่สถานทูตไทย ณ ประเทศนั้นๆ พร้อมยื่นเอกสารต่างๆ ได้แก่ ใบรับรองสุขภาพ (Fit to fly) และใบรับรองผลการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ไม่พบเชื้อ (COVID-Free Certificate) ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง มีประกันสุขภาพวงเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 ล้านบาท) ใบจองที่พักซึ่งเป็นสถานที่กักกันโรค (ASQ) จากนั้นสถานทูตจะออกใบอนุญาต Certificate of Entry ให้เดินทางเข้ามาได้
และเมื่อเดินทางมาถึงไทยจะต้องถูกกักกันไว้สังเกตอาการ 14 วัน ในสถานที่ที่ทางรัฐกำหนด ซึ่งอาจจะเป็นโรงแรม (ASQ) หรือที่พักขององค์กร (OQ) ที่ได้รับการตรวจรับรองว่าผ่านมาตรฐานแล้ว
หากตรวจพบว่าชาวต่างชาติติดเชื้อโควิด 19 ระหว่างการกักกัน จะถูกส่งไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนคู่สัญญากับทางโรงแรมที่เป็นสถานที่กักกันโรค ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทั้งหมดผู้ป่วยต้องรับผิดชอบเอง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจึงไม่เป็นภาระกับรัฐ โ
ดยผู้ติดเชื้อจะได้รับการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ อยู่ในห้องแยก หรือหอผู้ป่วยที่มีเฉพาะผู้ป่วยยืนยัน และแพทย์จะดูแลรักษาตามแนวทางของกรมการแพทย์ จนผู้ป่วยหายดีเป็นปกติ ไม่แพร่เชื้ออีก
ซึ่งในรายที่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการมักใช้เวลารักษาในโรงพยาบาลนานไม่เกิน 10 วัน ในกรณีที่อาการรุนแรง เช่น ปอดอักเสบอาจจะใช้เวลารักษานานถึง 1 เดือน แต่เป็นผู้ป่วยส่วนน้อย (ร้อยละ 5 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด)
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากหายดีแล้ว แพทย์จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ โดยมีเกณฑ์ดังนี้
1.เมื่อผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ ให้พักในโรงพยาบาล 10 วันนับจากวันที่ตรวจพบ
2.ผู้ป่วยที่อาการน้อย ให้พักในโรงพยาบาล 10 วันนับจากวันที่มีอาการ และพักจนไม่มีอาการแล้วอย่างน้อย 24 ชม. และ
3.ผู้ป่วยอาการรุนแรง รักษาตัวในโรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นให้ออกจากโรงพยาบาลตามดุลยพินิจของแพทย์
โดยผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นและผลถ่ายภาพรังสีปอดคงที่ อุณหภูมิไม่เกิน 37.8°C ต่อเนื่อง 24 ชม. อัตราการหายใจไม่เกิน 20 ครั้ง/นาที แพทย์จะพิจารณาให้ออกจากโรงพยาบาลได้
สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวหลังกลับจากโรงพยาบาล มีดังนี้
1.การดูแลสุขอนามัย ให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และเว้นระยะห่าง เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น 2.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำ โดยเฉพาะหลังจากถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระหรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นในบ้านใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได มือจับตู้เย็น เป็นต้น
3.ไม่ใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารและแก้วน้ำร่วมกัน และ 4.หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้รีบติดต่อสถานพยาบาล ให้สวมหน้ากากและเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือขอรถพยาบาลมารับ งดการเดินทางด้วยรถหรือเรือสาธารณะ
“ขอแนะนำผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดว่า ให้หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากพบว่ามีไข้สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 38°C ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ เช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่โรงพยาบาลที่ไปรับการรักษา หรือสอบถามข้อมูลที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 หรือสายด่วนกรมการแพทย์ โทร.1668” นายแพทย์โอภาส กล่าวทิ้งท้าย