มาทวงสัญญา “พิชัย” ทวงสัญญาที่ พปชร. หาเสียงไว้ ย้ำ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก ให้ประเทศเดินหน้าต่อได้

30 ตุลาคม 2563 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ประชานิยมกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองไทย” ที่จัดโดย กกต. ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า ถ้าพูดถึงนโยบายประชานิยม ทุกคนจะต้องนึกถึงพรรคไทยรักไทย ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากซึ่งทำให้แม้หลังรัฐบาลครบเทอมสมัยแรกแล้ว พรรคยังกลับมาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึง 377 เสียง จนกระทั่งมาถูกรัฐประหารในปี 2549 และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการเมืองไทยนับแต่นั้นมา

นโยบายที่ได้รับความนิยมสูงสุดจนกระทั่งปัจจุบันคือนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) SMEs , SML ซึ่งหลักคิดของนโยบายประชานิยมในช่วงนั้นคือการคิดให้ครบทุกกรอบคือ ให้คนต้องมีสุขภาพดี เข้าถึงแหล่งทุน และสามารถทำธุรกิจสร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ผลคือรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นสูงทุกปี และยังมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงเพราะคนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ไม่เหมือนขณะนี้ที่ความเหลื่อมล้ำของไทยสูงที่สุดในโลก

ที่สำคัญจากการสำรวจของนักลงทุนและบุคลากรในตลาดหลักทรัพย์พบว่า รัฐบาลไทยรักไทย 1 เป็นรัฐบาลที่ได้รับความนิยมสูงสุด เมื่อเทียบกับทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเพราะมีประสิทธิภาพสูงสุดซึ่งเป็นเรื่องจริง

นอกจากนี้ รัฐบาลในสมัยนั้นยังคิดเรื่อง เศรษฐกิจคู่ขนาน (Dual Track Economy) ซึ่งหมายถึง การต้องช่วยเหลือบริษัทใหญ่ๆของไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ ในขณะที่ช่วยเหลือประชาชนระดับล่างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว โดยมี เมกกะโปรเจกต์ ที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกด้าน ยกตัวอย่างเช่น การสร้างสนามสุวรรณภูมิ ที่ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวและธุรกิจไทยอย่างมาก ซึ่งหมดลองคิดดูว่าถ้าหากไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิ ประเทศไทยคงย่ำแย่กว่านี้มาก

ความสำเร็จของนโยบายประชานิยมในขณะนั้นเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลก ถึงกับที่ผู้นำฟิลิปปินส์ในขณะนั้นขนานนามว่าเป็น “ทักษิโนมิกส์” ซึ่งเป็นการยกย่องอย่างมาก

อีกแนวคิดหลักที่ยังไม่ได้ทำคือ โมเดิร์นไนซ์ไทยแลนด์ ที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นระบบดิจิตอลทั้งหมด คล้ายกับประเทศเอสโตเนียที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพิ่มรายได้ให้กันประชาชนอย่างมหาศาลแต่มาถูกรัฐประหารเสียก่อนเลยอดทำ

และเรื่องที่สำคัญมาก แต่กลับไม่มีคนพูดถึงคือการเปลี่ยนแปลงกรอบคิดของระบบข้าราชการให้มารับใช้ประชาชน ไม่ใช่ทำตัวเป็นเจ้านายของประชาชน ซึ่งทำให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพ แต่พอมาถูกรัฐประหาร ข้าราชการก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม ขนาดสลายม็อบทำร้าย นักเรียน นักศึกษายังไม่รู้สึกสำนึกผิดกันเลย

ประชานิยมสมัยนั้นถูกโจมตีตั้งแต่เปิดตัวและถูกดูถูกว่าจะทำไม่ได้จริง แต่สุดท้ายก็ทำได้หมด และต่อมาเมื่อทำสำเร็จแล้วก็ยังถูกโจมตีซึ่งถูกหาว่าจะทำให้ชาติล่มจม เพื่อทำให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่เมื่อดูหนี้สาธารณะของไทยต่อจีดีพีตลอดหลายปีที่ผ่านพบว่ามีเพียงประมาณ 40% ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้ชาติล่มจมอย่างแน่นอน

ต่อมาในสมัยพลังประชาชน ก็มีนโยบาย น้ำฟรี ไฟฟ้าฟรี (แต่ต้องใช้แบบประหยัด) รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งก็ได้ความนิยมอย่างมาก และใช้เงินไม่มากเลย

พอมาสมัยพรรคประชาธิปัตย์ มีการแจกเงิน 2,000 บาท มีโครงการไทยเข้มแข็งที่ใช้เงินนอกงบประมาณสูงถึง 4 แสนล้านบาทแต่คนจำไม่ได้เลยว่าใช้เงินทำอะไรบ้าง อีกทั้งมีไข่ชั่งกิโลขาย และมีโรงพักที่สร้างไม่เสร็จ ซึ่งไม่ได้สร้างความนิยมจึงแพ้การเลือกตั้ง


ต่อมาในสมัยในเพื่อไทย มีนโยบายเครดิตการ์ดชาวนาเพื่อช่วยเหลือชาวนาในการซื้อปัจจัยการผลิต นโยบายจำนำข้าวแม้จะเป็นที่ถกเถียงกันมาก แต่ชาวนาก็ได้ประโยชน์ ค่าแแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน รถคันแรก บ้านหลังแรก ส่วนนโยบายที่ให้ประโยชน์อย่างมากคือโครงการแจกแท็บเล็ต ที่ผมเป็นผู้เสนอเอง ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิตอล และเป็นการแสดงวิสัยทัศน์อย่างชัดเจนเพราะคิดมาก่อนเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ก่อนที่เศรษฐกิจดิจิตอลจะรุ่งเรื่องอย่างมากทั่วโลกในปัจจุบัน แต่มาถูกยกเลิกหลังการรัฐประหาร

ในด้านพลังงานก็มีการระงับการจับเก็บเงินกองทุนน้ำมันชั่วคราวทำให้ราคาน้ำมันเบนซินลดลงลิตร 7-8 บาท ดีเซลลดลงลิตรละ 3 บาท มีเครดิตการพลังงานช่วยผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ และคูปองลดราคาอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงานหลังน้ำท่วม เป็นต้น ดังนั้น จึงอยากให้เห็นว่าตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันทุกนโยบายที่พรรคเคยหาเสียงไว้สามารถทำจริงได้ทั้งหมด


ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐมีบัตรคนจนที่แจกกระจายกว่า 14 ล้านใบ โดยคนจำนวนมากอาจจะไม่ได้จนจริงในขณะนั้น และยังมีโครงการ ชิมช้อปใช้ และเที่ยวแล้วได้เงินคืน ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเลย เพราะจีดีพีขยายตัวต่ำมาตลอด และที่ประชาชนฝากทวงถามมา คือนโยบายหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐที่สัญญาไว้มากมาย เช่น ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท ปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน อาชีวะ 18,000 บาทต่อเดือน

ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10% โครงการมารดาประชารัฐ ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทต่อตัน ข้าวเจ้า 12,000 บาทต่อตัน อ้อย 1,000 บาทต่อตัน ยางพารา 65 บาทต่อกิโลกรัม ปาล์ม 5 บาทต่อกิโลกรัม มันสำปะหลัง 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งยังไม่สามารถทำได้เลย จึงอยากถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นแคนดิเดทนายกฯของพรรค พปชร. ว่าเมื่อไหร่จะทำ หรือจะไม่ทำแล้ว ซึ่งจะผิดกฎหมายหรือไม่ ที่สัญญาแล้วไม่ทำ

ทั้งนี้ นอกจากไม่ทำตามสัญญาแล้วยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย โครงการ EEC ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องพิจารณาตัวเองแล้วว่าอยู่ไปก็เป็นตัวถ่วงความเจริญ ดังนั้นจึงควรลาออกไป เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้



Written By
More from pp
สถานการณ์โควิด19 ประเทศไทย วันนี้ (14 เม.ย.63) ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 34 ราย
14 เมษายน 2563 เวลา 11.30 น. 13 เมษายน 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค....
Read More
0 replies on “มาทวงสัญญา “พิชัย” ทวงสัญญาที่ พปชร. หาเสียงไว้ ย้ำ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออก ให้ประเทศเดินหน้าต่อได้”