“ความเมือง” ในไทยยุคที่ ๓

ผักกาดหอม

ก็ต้องฟังนะ!
ใครที่คิดว่า “ธีรยุทธ บุญมี” เอาแต่ด่า ผลิตวาทกรรมเพื่อโจมตี อยากให้คิดใหม่
จำได้มั้ยล่ะ…
เมื่อครั้งอาจารย์ธีรยุทธ ชำแหละ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าเป็นจุดสุดยอดความเสียหายของประเทศ เพราะระบอบทักษิณทำให้โครงสร้างประเทศพังหลายเรื่อง
วันที่ อาจารย์ธีรยุทธ พูดถึงรัฐบาลทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ว่า “ขี้ขำ” “ขี้หย้อง กับ ขี้แบ๊ะ” ไม่มีผลงาน เอาแต่แต่งตัวสวยไปวันๆ
รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ถูกตั้งฉายาว่า “รัฐบาลลูกกรอก ๑”
รัฐบาลสมชาย “รัฐบาลชายกระโปรง”
มีอุบาทว์พญายมหน้าเหลี่ยมเข้าแทรก
วันนั้นมีทั้งเสียงด่าและชื่นชม
มาถึงรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อาจารย์ธีรยุทธ ยังคงสวมเสื้อกั๊กชำแหละ “มาร์ค เมาอู้”
จากคนที่เคยชมก็หันมาด่า ส่วนพวกที่เคยด่า บางคนก็ชม บางคนก็เยาะเย้ย….สะใจ
ล่วงมารัฐบาล คสช.
แม้จะชื่นชมนโยบายไทยแลนด์ ๔.๐…..
มีข้อดีในส่วนของการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและภาคสังคม ตื่นตัวและปรับตัวต่อผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานมีการพัฒนาระบบ
แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีวิกฤติการเมืองใหม่ คือ “วิกฤติที่เกิดจากความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ผูกขาดที่จะสถาปนาอำนาจของตนเอง”
พร้อมวิจารณ์ก่อนเลือกตั้งว่า…..
“พล.อ.ประยุทธ์ คงจะจัดตั้งรัฐบาลหน้าขึ้นได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำ เพราะรูปแบบการประสานประโยชน์ ระหว่างพลังทหาร ข้าราชการ กลุ่มอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่ ปรากฏชัดเจนเรื่อยๆ คสช. ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ปิดกั้นการตรวจสอบ ซึ่งพฤติกรรมก็ไม่ต่างไปจากระบอบทักษิณในอดีต คือมีการเอารัดเอาเปรียบก่อนเลือกตั้ง”
คนรักลุงตู่ ด่ากันขรม!
สดๆ ร้อนๆ วานนี้ (๑๕ ตุลาคม)
อาจารย์ธีรยุทธ ถอดเสื้อกั๊ก บรรยายพิเศษ หัวข้อ “ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย”
ฟังก่อนอย่าเพิ่งด่า ยังไม่ต้องชม
……….สังคมไทยไม่มีเป้าหมาย จนกลับมาติดกับดักตัวเอง นับจากปี ๒๕๐๐ กล่าวได้ว่า เมืองไทยมี ๓ ยุคคือ ๑) ยุคพัฒนา (๒๕๐๕-๒๕๓๕) สมัยจอมพลสฤษดิ์ต่อพลเอกเปรม
ประเทศไทยมีเป้าหมายคือการพัฒนาให้ก้าวขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแถวหน้าของภูมิภาค ซึ่งได้ผลน่าพอใจ พร้อมๆ กันไปคือการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้งผลดีผลเสียสลับกันไป
เพราะยังมีการคอร์รัปชันของนักการเมืองสูงจนมีการแทรกแซงโดยรัฐประหารหลายหน
๒) ยุคปฏิรูป ช่วงปี ๒๕๓๕-๒๕๕๗ สังคมมองเห็นทางออกจากปัญหาคอร์รัปชันและการใช้อำนาจอย่างไร้สำนึกของนักการเมือง จนเกิดเป็นเป้าหมายใหญ่ของประเทศร่วมกัน
คือการปฏิรูปการเมือง
แต่กลับล้มเหลว
เพราะแม้จะเกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่มากของพันธมิตรและ กปปส. มีการรัฐประหาร ๒ หน ก็สะท้อนว่าพลังอนุรักษ์ ระบบราชการ และกองทัพ ไม่พร้อมและไม่สามารถทำการปฏิรูปใดๆ ได้ เป้าหมายการปฏิรูปจึงคงจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ
๓) ยุคปัจจุบันคือ (๒๕๕๗-๒๕๖๒) ยุคติดกับดัก เพระไม่สามารถพบเป้าหมายที่เป็นทางออกได้ อันที่จริง มีเป้าหมายหนึ่งคือ
‘ประชาธิปไตยที่กินได้’
หรือนโยบายประชานิยมที่จับใจชาวบ้าน จนกลายเป็นเสียงที่เหนียวแน่นของพรรคไทยรักไทย แต่ประชานิยมที่เกิดมาทั่วโลกเป็นเพียงเครื่องมือของการเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นเป้าหมายของประเทศได้ และพิสูจน์มาแล้วว่าไม่ยั่งยืน
ส่วนพรรคอนาคตใหม่มีฐานเสียงเป็นชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ที่ไม่พอใจระบบเก่า ๒ พรรคนี้ยังไม่มีการเสนอยุทธศาสตร์แผนงานหลักที่จะนำพาประเทศข้ามความขัดแย้งนี้ไปข้างหน้า เน้นการจุดประเด็นซึ่งเป็นจุดขายของขบวนการประชานิยม
และมักกลายเป็นความขัดแย้งกับฝ่ายรัฐ
ส่วนพลังฝ่ายอนุรักษ์หรือทหารเอง แม้จะได้อำนาจมา ๕ ปีเศษ แต่ก็ติดกับดักความคิดที่เน้นเฉพาะความมั่นคง
ไม่มีเป้าหมายที่จะกินใจประชาชนจนเกิดเป็นเป้าหมายร่วมของประเทศได้…………
ย้อนกลับไปดูหัวข้อบรรยาย “ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ติดกับดัก ก่อวิกฤติใหม่ประเทศไทย” ยอมรับกันหรือไม่ว่า……..
ทุกฝ่ายล้วนสร้างปัญหาขึ้นมาทั้งนั้น
แล้วยุคที่ ๓ นี้จะเดินหน้าไปอย่างไร?
มีความจริงประการหนึ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ ความขัดแย้งพร้อมที่จะระเบิดขึ้นอีกครั้ง หากการเติมเชื้อได้ผล
บนสถานการณ์ที่ไม่มีใครยอมใคร
และไม่มีกรรมการ
“บิ๊กแดง” เดี่ยวไมโครโฟนจบ
“ปิยบุตร” สวน
ต่อด้วยใช้ช่องกรรมาธิการสภา เรียก “ผบ.ทบ.” เข้าไปชี้แจง
หากพิจารณาจากอดีต แทบไม่มี ผบ.ทบ.ชี้แจงสภา
ยกเว้นไปพูดเรื่องงบประมาณแผ่นดิน
ทำให้เห็นว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของกับดัก แม้จะเป็นการใช้ช่องทางของรัฐสภา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ฝ่ายการเมืองต้องการเป็นฝ่ายรุกกองทัพคืนบ้าง
และบังเอิญว่า ระหว่างพรรคอนาคตใหม่ กับกองทัพ ไม่ได้ขัดแย้งกันเมื่อวันสองวันก่อน มันเป็นผลสืบเนื่องจากคำประกาศ ปฏิรูปกองทัพ เวอร์ชันอนาคตใหม่
สถาปนาอำนาจของรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
สร้างระบบ คณะเสนาธิการร่วม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกเหล่าทัพ
ยกเลิกภารกิจด้านการเมือง เลิก ทั้งกองทัพ ทั้ง กอ.รมน. ปรับเปลี่ยนหลักนิยมและแบบธรรมเนียมทหารเสียใหม่ ต้องไม่เห็นกองทัพมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
เอารูปแบบของเครือจักรภพมาใช้
การประกาศกฎอัยการศึก การเคลื่อนย้ายหน่วยทหาร การซื้ออาวุธเป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น ลดนายพลลง ๔ เท่าตัว จาก ๑,๖๐๐ นาย เหลือ ๔๐๐ นาย
เลิกการเกณฑ์ทหารแบบปัจจุบัน
กองทัพจะเป็นคนหนุ่มคนสาว คนที่มีความเข้มแข็ง มีความฉลาด มีความรู้มีความชำนาญ ฯลฯ
ว่ากันตามเนื้อผ้า บางเรื่องโอเค แต่หลายประเด็นจะสร้างปัญหามากกว่า เพราะแนวคิดมาจากพื้นฐานไม่ไว้วางใจกัน
ต้องการล้างอีกฝ่าย
คนออกแบบนโยบายที่ว่านี้คือ “พล.ท.พงศกร รอดชมภู”
และประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐที่เรียก ผบ.ทบ.ชี้แจงคือ…..
“พล.ท.พงศกร รอดชมภู”
ฉะนั้นคงจะพอเห็นภาพว่า อนาคตข้างหน้ายังคงมีความขัดแย้งรออยู่
“พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” อาจชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร
หรืออาจเดินทางไปด้วยตัวเอง
พอนึกภาพออกมั้ย…..จบยาก
และอาจพัฒนาสถานการณ์ไปอีกรูปแบบหนึ่ง
ในภาพรวมการบรรยายครั้งนี้ อาจารย์ธีรยุทธ มีทางออกให้
๑.สังคมทั่วไปควรมองสถานการณ์ให้กระจ่าง ตั้งสติอยู่ตรงกลาง หรือเสริมพลังทางบวกที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม เสริมความรู้สึกแบบเพื่อนมิตร อย่างรับเหตุผลที่เปิดกว้างหลากหลาย ก็จะไม่ไปช่วยเสริมกระแสพวกเรา-ศัตรูที่เกิดขึ้น
๒.ฝ่ายรัฐต้องธำรงความเป็นกลาง ไม่เข้าไปร่วมการใช้ “ความเมือง” ทำลายฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะ “ความเมือง” หมายถึงความขัดแย้งแบบทำลายล้างในภาวะสงคราม
ถ้าหน่วยรัฐร่วมเป็นฝักฝ่ายด้วยก็จะสร้างความหวาดกลัวว่า รัฐบาลมีความเชื่อว่า “กำลังมีสงครามภายใน” หรือรัฐบาลกำลังประกาศภาวะสงครามหรือความเป็นศัตรูกับประชาชนบางกลุ่ม
ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งกับบ้านเมือง
ศาลและระบบยุติธรรมเอง ก็ต้องตริตรองทุกคดีความหรือทุกปัญหาอย่างมีวิจารณญาณและหลักยุติธรรมอย่างแท้จริง
บางทีอาจต้อง devolute คือถอยกระบวนการตุลาการภิวัตน์กลับบ้าง (devolution = วนกลับ กระจายศูนย์ ลดบทบาท) เหมือนกับที่เกิดในสหรัฐฯ และอีกเกือบทุกประเทศ
ซึ่งควรจะช่วยบรรเทาความรุนแรงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้จากกระบวนทรรศน์ “ความเมือง” ที่กำลังแผ่ขยายอยู่ในขณะนี้ ………..
ประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน
ประชาชน พรรคการเมือง ทหารไทย ล้วนมีบทบาทสร้างชาติทั้งสิ้น
ในตอนท้าย อาจารย์ธีรยุทธ เชื่อว่า คนจำนวนมากยังต้องการให้ประเทศได้มีรัฐบาลบริหารงานไปอีกสักระยะหนึ่ง
นั่นคือโอกาส ยุคที่ ๓ เราจะเดินไปทางไหน?

Written By
More from plew
“พรรคพญานาคราช” – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน หน้านี้….. นอกจากเป็น “หน้ามะม่วง” กับ “หน้าทุเรียน” ออกตลาดแล้ว ยังเป็นหน้า “พรรคการเมือง” ออกดอกด้วย! ฉะนั้น...
Read More
0 replies on ““ความเมือง” ในไทยยุคที่ ๓”