9 ตุลาคม 2563 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมาธิการฯ คือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีสิทธิในการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร และสามเสาของประเทศ ซึ่งการใช้ พ.ร.บ. คำสั่งเรียก ส่วนใหญ่จะใช้จากกรณีที่ข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ตั้งใจไม่มาและมีเจตนาปกปิดความผิด หรือปกปิดเอกสารเพื่อซ่อนความผิด
ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้เสียภาษีเพราะกรรมาธิการเป็นช่องทางเดียวที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ และเท่าที่ตนทราบ ยังไม่เคยมีคณะกรรมาธิการคณะไหนใช้ พ.ร.บ.ที่มีโทษจำคุกนี้ อย่างคณะตนส่วนใหญ่ ก็ให้เกียรติเชิญเพื่อมาแสดงข้อเท็จจริงและความเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และกรรมาธิการก็มีคณะทำงานลงไปสืบสวนทางลับอยู่แล้ว หากพบความผิด มีพยานหลักฐาน ก็สามารถใช้สิทธิ เขียนคำร้องข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. ป.ป.ท. หรือหน่วยงานอื่นๆ ได้อยู่แล้ว
ประธานกรรมาธิการฯ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า ล่าสุดได้หารือกับคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย ถึงการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.คำสั่งเรียก พ.ศ….ในการเปิดสมัยประชุมในเดือนหน้านี้เพื่อนำมาพิจารณาแก้ไขในวาระแรกของการเปิดประชุมรัฐสภา โดยจะขอเพิ่มโทษให้สูงขึ้นและเขียนขั้นตอนให้รัดกุมในการใช้กฎหมายเพื่อให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อไป
“อำนาจของ พ.ร.บ.คำสั่งเรียก มีความจำเป็นที่จะต้องมีบทลงโทษเพื่อให้ผลการสอบเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในต่างประเทศก็ให้อำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารเพราะถือว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจ มีบทลงโทษบังคับออกหมายเรียก การเข้าค้น การจับกุม คุมขัง แต่ฝ่ายนิติบัญญัติเพียงแค่เชิญมาชี้แจงย่อมต้องพึงมี เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหาร ที่สำคัญ ข้าราชการผู้ถูกเชิญมากหากไม่มีความผิด ไม่มีเจตนาปกปิดอะไร ก็ไม่มีเหตุผลที่จะหลบหลีกการมาชี้แจงแต่อย่างใด” นายจิรายุกล่าว