วันที่ 30 กันยายน 2563 ที่อาคารรัฐสภา คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายอภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้เรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงกรณีข้อสงสัยของสาธารณชนประเด็นที่ดินรีสอร์ทศรีพันวา โดยหน่วยงานที่มาชี้แจงมีทั้งตัวแทนจาก กรมที่ดิน กรมป่าไม้ จังหวัดภูเก็ต และเทศบาลตำบลวิชิต จังหวัดภูเก็ต
นายอภิชาติ ได้ตั้งประเด็นคำถามว่า เวลานี้มีคำถามจากสาธารณชนเข้ามามากว่า รีสอร์ตศรีพันวาตั้งอยู่บนที่ดินที่เป็นของรัฐหรือไม่ ที่ดินดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ฯ หรือไม่ และหากมีสิทธิการครอบครองในที่ดินดังกล่าว เป็นสิทธิการครอบประเภทใด
รวมทั้งการออกเอกสารสิทธิ์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งที่ดินบริเวณดังกล่าวมีความชันเท่าใด หากมีเอกสารภาพถ่ายและขอบเขตของที่ดินให้นำแสดงต่อที่ประชุมด้วย นอกจากนี้มีหน่วยงานอื่นตรวจสอบในกรณีนี้แล้วหรือไม่ แล้วผลเป็นเช่นใด
ทั้งนี้ นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน ชี้แจงว่า ได้ตรวจสอบการได้มาของที่ดินและแปลงที่ดินต่างๆ ของโครงการศรีพันวา ผลการตรวจสอบในเบื้องต้นปรากฎว่าเป็นที่ดินที่มีโฉนด 2 แปลง และเป็น น.ส. 3 จำนวน 51 แปลง โดยที่ดิน น.ส. 3 มาจาก ส.ค. 1 ที่มาจากประชาชน และต่อมาได้แยกออกเป็น น.ส. 3 ก. และทางกรมที่ดินได้ตรวจสอบทิศทางของ ส.ค. 1 พบว่า มีความถูกต้องไม่ได้ผิดทิศทาง ประเด็นการซื้อขายก็เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวมทั้งที่ดินแปลงเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร เขตป่าชายเลน หรือที่ราชพัสดุแต่อย่างใด
และประเด็นคำถามเรื่องที่ว่าที่ดินเหล่านี้เป็นพื้นที่ภูเขาหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือเป็นเขาและเป็นที่ที่มีความลาดชันบางส่วน แต่ที่ดินเหล่านี้ประชาชนเจ้าของเดิมได้ใช้ประโยชน์ก่อนที่จะมีกฎหมาย พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 รวมทั้งก่อนประกาศของกระทรวงมหาดไทยปี พ.ศ.2499 และมติคณะรัฐมนตรีเรื่องความลาดชันปี พ.ศ. 2528
นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ ได้ตั้งคำถามว่า จากรูปที่ทางหน่วยงานนำเสนอได้แสดงให้เห็นว่าความลาดชันของโครงการศรีพันวาคือ มีความชันที่ร้อยละ 34.42 ซึ่งใกล้กับความชันที่กฎหมายได้กำหนดห้ามไว้ว่าห้ามเกิน 35 % จึงเกิดคำถามว่าหลักเกณฑ์ในการเลือกจุดในการวัดความลาดชันเป็นอย่างไร
ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าทำไมถึงกำหนดที่ 35 % อาจจำเป็นต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วย
ขณะที่ นายสมชาย ฝั่งชลจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ได้เสนอว่า อยากให้หน่วยงานนำเสนอต้นขั้วในการออกเอกสารสิทธิ เพื่อเทียบเคียงต้นขั้วกับการออก สค.1 ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งประเด็นสำคัญที่อยากตั้งข้อสังเกตคือ ทำไมพี่น้องคนจนเวลาขอเอกสารสิทธิหน่วยงานออกเอกสารยากมาก แต่คนรวยออกกันไม่ยาก ประเด็นนี้จะเป็นการพิสูจน์ความเสมอภาคและและความเป็นธรรมของสังคม
ในการรับฟังคำชี้แจง ทางคณะกรรมาธิการได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดที่ดินหลายแปลงจึงไม่มีการไปออกเป็นโฉนดที่ดิน มีอะไรซ่อนเงื่อนหรือมีเงื่อนงำหรือไม่ ซึ่งทางหน่วยงานได้ชี้แจงว่าเป็นสิทธิของผู้ครอบครอง และไม่ทราบเหตุผลว่าเหตุใดไม่มีการไปออกเป็นโฉนดที่ดินบางแปลง
ทางคณะกรรมาธิการจึงมีความเห็นว่าข้อมูลบางส่วนที่ได้รับทราบวันนี้ยังไม่ครบถ้วน มีมติให้เชิญหน่วยงานมาชี้แจงในการประชุมครั้งหน้าเพิ่มเติม ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมแผนที่ทหาร กรมเจ้าท่า กรมป่าไม้ DSI
สำหรับแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค. 1 คือ ใบแจ้งการครอบครองที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้ครอบครองเป็นผู้แจ้งว่าตนครอบครองที่ดินแปลงใดอยู่ แต่ปัจจุบันไม่มีการแจ้ง ส.ค.1 อีกแล้ว
ทั้งนี้ ส.ค.1 ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิที่ดิน เพราะไม่ใช่หลักฐานที่ทางราชการออกให้ เพียงแต่เป็นการแจ้งการครอบครองที่ดินของประชาชนเท่านั้น
ส่วนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก.) คือหนังสือรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว