คุณผู้ชายหรือคุณผู้หญิงที่พึ่งได้รับข่าวดีว่าตัวเองกำลังจะเป็นว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็คงจะดีใจกันไม่น้อย แต่ความดีใจนี้อาจถูกแทนที่ด้วยความสับสน เมื่อคนรอบข้างเริ่มเข้ามาแนะนำวิธีฝากท้อง ทำคลอด และการเลี้ยงดูลูกน้อยในแบบของพวกเขา ซึ่งบางทีข้อมูลเหล่านั้นอาจทำให้เราต้องกลับมาคิดและตั้งคำถามขึ้นในใจว่า วิธีเหล่านั้นดีแล้วใช่ไหม เหมาะกับเราจริงๆ หรือเปล่า หรือเราควรทำอย่างไร ซึ่งความจริงแล้ววิธีเหล่านั้นก็ไม่ได้ผิด แต่อาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมกับเรามากที่สุดเท่านั้นเอง แล้วเราจะเลือกวิธีเลี้ยงลูกที่เหมาะกับตัวเราจริงๆ ได้อย่างไร
วันนี้เราก็มีหนังสือที่เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกวิธีการเลี้ยงลูกได้เหมาะสมกับตัวคุณมากที่สุดมาฝาก นั่นก็คือ หนังสือ Alternative Parenting เลี้ยงลูกทางเลือก โดยคุณอุ้ม-สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท อดีตนักแสดงละครโทรทัศน์และละครเวทีที่มีชื่อเสียง เธอแต่งงานและย้ายไปอยู่กับสามีที่เมืองพอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกา และผันตัวเองมาเป็นคุณแม่เต็มตัว ปัจจุบันมีลูกสาว 2 คน คือเด็กหญิงเมตตาและเด็กหญิงอานีคา
ตอนที่คุณอุ้มรู้ตัวว่าตั้งท้องในต่างแดน เธอต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมายทั้งสับสน เหนื่อย ท้อ และมีกำลังใจจากสิ่งรอบตัว เธอตะลุยหาข้อมูลทุกอย่างที่จะทำได้ ทั้งอ่านหนังสือ ดูคลิป แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนรอบตัว เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ สำหรับแม่และเด็ก และลองผิดลองถูกจนได้คำตอบที่ตรงใจเธอที่สุด
นั่นก็คือวิธีที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งคุณอุ้มเขียนเล่าด้วยภาษาที่เป็นกันเอง อ่านง่าย และสนุกมากจนเหมือนว่าเราอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย ภายในเล่มยังมีช่วง Did you know ที่สอดแทรกเกร็ดความรู้หรือประเด็นต่างๆ ที่ควรรู้ไว้ได้อย่างครบถ้วน เพราะเป็นข้อมูลที่เธอได้ศึกษาและกลั่นกรองมาแล้วจนเข้าใจง่าย และนำไปปรับใช้ได้ไม่ยากเลย
หลังจากนั้นคุณอุ้มและสามี (คริสโตเฟอร์ มาร์ควอร์ท ชื่อไทยว่าสมคิด) ก็เริ่มวางแผนสำหรับ 8 เดือนข้างหน้า ซึ่งคนรอบข้างก็กำชับให้เธอคลอดด้วยวิธีธรรมชาติและไม่ใช้ยาบล็อกหลัง และแนะนำให้ไปดูสารคดีชื่อ The Business of Being Born ซึ่งพูดถึงการแทรกแซงทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้หญิงต้องผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น
ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่เธอไม่เคยรู้มาก่อนและมีเหตุผลที่น่าคิด ด้วยความที่เธอชอบอะไรที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้วจึงเริ่มหาข้อมูลเพิ่มจนพบว่ามีทางเลือกในการคลอดลูกเยอะมาก
เหล่าแม่ๆ ในเมืองพอร์ตแลนด์ส่วนใหญ่ก็นิยมวิธีการคลอดแบบธรรมชาติโดยไม่ใช้ยา และที่นั่นยังมีศูนย์คลอด (birthing center) ที่อยู่นอกโรงพยาบาลอีกด้วย แถมยังสามารถคลอดที่บ้านได้โดยมีมิดไวฟ์ (midwife) และดูล่า (doula) ที่คล้ายๆ หมอตำแยบ้านเรา
แต่ในสมัยนี้มิดไวฟ์จะเป็นพยาบาลที่จบปริญญาโทด้านการผดุงครรภ์โดยเฉพาะ โดยมีดูล่าเป็นผู้ช่วยทำคลอดที่ผ่านการอบรมมา ทำให้คุณอุ้มตัดสินใจเลือกวิธีนี้เพราะคิดว่าเหมาะสมกับตัวเธอมากที่สุด
เรื่องราวประสบการณ์ตั้งแต่คุณอุ้มรู้ตัวว่าตั้งครรภ์จนคลอด รวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกคนแรกจนตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง ที่แม้เธอจะคิดว่าไม่น่ายากเพราะมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว แต่ก็กลับได้พบกับสิ่งที่คาดไม่ถึงมากมาย นั่นยิ่งตอกย้ำให้เรามั่นใจว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป วิธีเลี้ยงลูกจึงแตกต่างกันตามไปด้วย ซึ่งอาจไม่มีวิธีไหนถูกหรือวิธีไหนผิด แต่เราแค่ต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมกับเราที่สุดเท่านั้นเอง
และเมื่อคุณเริ่มสนุกไปกับเรื่องราวการเลี้ยงลูกทางเลือกของคุณอุ้ม-สิริยากรกันไปแล้ว เราก็มีหนังสืออีกเล่มที่นำเสนอแนวทางการเลี้ยงลูกที่แตกต่างและตอบโจทย์คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ได้มาแนะนำอีกเล่มนั่นก็คือ
หนังสือ อย่าเลี้ยงลูกตามคนอื่น เขียนโดย มะกิโกะ นะกะมุโระ (Makiko Nakamuro) นักเศรษฐศาสตร์การศึกษาชาวญี่ปุ่น ที่เชื่อว่าการลอกเลียนแบบวิธีประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกของคนอื่นอาจนำมาใช้กับลูกของเราไม่ได้ เธอจะไม่เชื่อคำแนะนำหรือวิธีเลี้ยงลูกของคนอื่นง่ายๆ ถ้าไม่มีผลการวิจัยมารองรับและมีหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน
ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะปฏิวัติการเลี้ยงลูกแบบเดิมๆ ที่พ่อแม่หลายๆ คนเคยเชื่อถือกันมา ไม่ว่าจะวิถีแห่งความสำเร็จของคนอื่นใช้กับลูกเราได้จริงเหรอ ห้ามใช้รางวัลจูงใจเด็กจริงหรือเปล่า การศึกษาสำคัญอย่างไร ในห้องเรียนที่มีนักเรียนน้อยให้ผลดีกว่าจริงหรือ และครูที่ดีควรเป็นอย่างไร
แม้ว่าตอนที่เขียนหนังสือเล่มนี้คุณมากิโกะจะยังไม่มีลูก แต่ก็มักมีเพื่อนๆ ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ คุณครู หรือผู้ที่ทำงานในวงการศึกษามาขอคำปรึกษาเธออยู่เสมอ เพราะเธอใช้เศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้และเธอเชื่อในข้อมูล และเชื่อว่าเราอาจหลอกคนอื่นได้ แต่ข้อมูลไม่เคยโกหกใคร การวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมได้ตามความจริงจะช่วยให้เราเห็นโครงสร้างสังคมชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของเราได้
อย่างเรื่องการชมที่คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่า คำชมแบบไหนดีกว่ากันระหว่าง “เก่งจัง” กับ “พยายามดีแล้ว” เธอก็ได้ยกงานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์คลอเดีย มีลเลอร์ (Cluadia Mueller) ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารศัลยศาสตร์ ศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และคณะที่ทำการทดลองเกี่ยวกับวิธีชมเชยโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน
ซึ่งวิจัยโดยแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีสุ่ม แล้วให้ทำแบบทดสอบไอคิวและชมด้วยคำชมที่ต่างกัน หลังจากนั้นให้ทำแบบทดสอบอีกครั้งแต่ยากขึ้น และทำแบบทดสอบครั้งที่ 3 ซึ่งระดับความยากเท่าการทดสอบครั้งแรก
ซึ่งผลการวิจัยออกมาว่า การใช้วิธีชมเชยที่ต่างกันส่งผลต่อความเข้าใจของเด็กเป็นอย่างมาก การชมว่า “เก่งจัง” ถือเป็นการชมความสามารถหรือพรสวรรค์ ส่วนการชมว่า “พยายามดีแล้ว” เป็นการชมความพยายาม
เด็กกลุ่มที่ได้รับคำชมความสามารถมักคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว ไม่คิดว่าต้องเรียนอะไรเพิ่ม แต่เด็กที่ได้รับการชมความพยายาม เมื่อทดสอบไอคิวครั้งที่ 2 ที่ยากแล้วได้คะแนนไม่ดี ก็จะคิดว่าตัวเองยังพยายามไม่พอแล้วตั้งใจให้มากขึ้น เราจึงควรชมความพยายาม เพราะคำพูดแบบนี้จะส่งผลให้เด็กมีแรงจูงใจที่จะพยายามลองทำเรื่องยากๆ มากขึ้น
ตอนนี้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายๆ คนคงจะเริ่มเห็นแนวทางหรือได้ไอเดียการเลี้ยงลูกเพิ่มขึ้นแล้ว เราก็หวังว่าคุณจะหาแนวทางที่ตรงใจและเหมาะสมกับตัวคุณและลูกน้อยมากที่สุด เพราะเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันไปจึงไม่มีตำราไหนที่ดีที่สุด มีแต่วิธีที่เหมาะสมที่สุดต่างหาก