วันที่ 14 ส.ค.63 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2563 ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่าในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 179 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2517 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เรียกประชุมผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อกำหนดกรอบปฏิบัติในการตรวจสอบผู้ต้องโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำ และการลดโทษตามสัดส่วนแล้ว
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 12 ส.ค.63 กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ควบคุมในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ 312,485 คน จากผู้ต้องขังทั้งสิ้น 382,452 คน
สำหรับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2563 มีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำประมาณ 40,000 ราย และมีนักโทษเด็ดขาดที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการลดวันต้องโทษตามสัดส่วน ประมาณ 200,000 ราย
สำหรับผู้ต้องขังที่มีชื่อเสียง เป็นนักการเมืองไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวออกจากเรือนจำ เนื่องจากกระทำความผิดตามบัญชีแนบท้าย แต่ได้รับการลดวันต้องโทษตามสัดส่วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษ ปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษโดยติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (กำไลอีเอ็ม)
อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.มหาดไทย คดีทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี เมื่อ 28 ก.พ.2562 และนายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบมาตรา 157 โยกย้ายนายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่เป็นธรรม โทษจำคุก 1 ปี 8 เดือน เมื่อ 26 ก.พ.2563
ซึ่งทั้ง 2 รายมาไม่ทันช่วงปรับชั้นนักโทษที่เข้าพิจารณาทุก 6 เดือน ทำให้ยังจัดอยู่ในกลุ่มนักโทษชั้นกลาง ไม่ใช่นักโทษชั้นดี แต่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ต้องขังสูงอายุ และได้รับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 จึงได้รับอานิสงส์
ส่วนนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการข่าว ที่ถูกตัดสินในคดีบริษัท ไร่ส้มฯ จำคุก 6 ปี 24 เดือน เมื่อ 21 ม.ค.2563 และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในคดีจำนำข้าว ได้รับการลดโทษตามสัดส่วน เช่นเดียวกับนักโทษกลุ่มแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในคดีปิดล้อมบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ซึ่งต้องโทษจำคุก 5 คน คนละ 2 ปี 8 เดือน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2563 ประกอบด้วย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล นพ.เหวง โตจิราการ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ที่เพิ่งได้รับโทษจำคุก จากกระทำความผิดตามคดีแนบท้าย อาจได้ลดโทษตามสัดส่วน แต่ไม่ได้ปล่อยตัวในครั้งนี้ รวมถึงนายพายัพ ปั้นเกตุ ในคดีล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา ศาลสั่งจำคุก 4 ปี เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2562
สำหรับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ กรมราชทัณฑ์ต้องดำเนินการตรวจสอบว่านักโทษรายใดมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจะได้รับการทยอยปล่อยตัวภายในเวลา 3 เดือน