กระทรวงสาธารณสุข พัฒนารูปแบบและเทคโนโลยีการดูแลสตรีและเด็กแรกเกิดแบบบูรณาการด้วยวิถีชีวิตใหม่ร่วมกัน 5 หน่วยงาน เพิ่มการเข้าถึงบริการคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย กลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ และภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ในเด็กแรกเกิดสาเหตุโรคเอ๋อ พัฒนาระบบบริการตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ เพื่อการตั้งครรภ์คุณภาพ
10 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดูแลสตรีและเด็กแรกเกิดแบบบูรณาการด้วยวิถีชีวิตใหม่ (New normal, New technology, New maternal and child health care) ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมการแพทย์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่า
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการดูแลสตรีและเด็กสอดคล้องทั้งระบบ ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การตรวจคัดกรอง การยืนยันวินิจฉัย จนถึงกระบวนการติดตามส่งต่อเพื่อการรักษาตามมาตรฐานของประเทศภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ และสอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนขยายสิทธิ์จาก สปสช. เช่น การป้องกันโดยการให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเด็กอายุ 11-12 ปี การคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย ทุกช่วงอายุ ทุกสิทธิ์
นอกจากนี้ สปสช. อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายสิทธิ์ในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้เร็วขึ้น เช่น การตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์ของทารกในครรภ์จากเลือดแม่ด้วยวิธี Noninvasive Prenatal Testing (NIPT) ซึ่งตรวจได้เร็วขึ้น 4 เท่า และมีแผนขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดแบบเพิ่มจำนวนโรค โดยการตรวจภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์สาเหตุโรคเอ๋อ การตรวจยืนยันและรักษาโรคหายากในกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม (Inborn errors of metabolism: IEM) 40 โรค ที่พบรายใหม่ 120 ราย/ปี ซึ่งจะช่วยให้เด็กไทยกว่า 1,670 คนต่อปี ลดความเสี่ยงต่อพัฒนาการช้าและสติปัญญาบกพร่องอีกด้วย
รวมทั้งขณะนี้ได้พัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อ HPV DNA ในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีความไวและแม่นยำ ช่วยให้วินิจฉัยได้เร็วขึ้น ลดอัตราการเสียชีวิต ในอนาคตถ้าผู้รับบริการสามารถเก็บตัวอย่างด้วยตนเองจากที่บ้าน และส่งตัวอย่างไปตรวจทางไปรษณีย์ จะช่วยลดขั้นตอนการเดินทางไปโรงพยาบาล การรับคำปรึกษา เพิ่มประสิทธิภาพและเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญต่อการดูแลหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีประมาณ 600,000 ราย/ปี ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด โดยมารดาจะได้รับการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมีย กลุ่มอาการดาวน์ ส่วนเด็กแรกเกิดจะได้รับการตรวจคัดกรองภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของพัฒนาการช้าและเชาว์ปัญญาบกพร่อง ในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง 4,200 ราย กลุ่มอาการดาวน์ 1,000 ราย ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด 550 ราย
การคัดกรองได้ตั้งแต่แรกเกิดและการรักษาก่อนที่แสดงอาการจะทำให้เด็กมีพัฒนาการและเชาว์ปัญญาปกติ สำหรับมะเร็งปากมดลูก พบมากเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย มีอุบัติการณ์การเกิดโรค 23.4 คนต่อประชากร 100,000 คน จากนโยบายการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้เพิ่มความครอบคลุมทำให้อัตราป่วยลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 11.7 คนต่อประชากร 100,000 คน ปัจจุบันพบผู้ป่วยรายใหม่ 5,500 ราย และเสียชีวิต 2,200 รายต่อปี