สุริยะ คุมเข้มสั่งการให้ กรอ. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจโรงงานผลิตสารแอมโมเนียมไนเตรท จ.ระยอง พร้อมทั้งเน้นย้ำอุตสาหกรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานที่ครอบครองสารแอมโมเนียมไนเตรททั่วประเทศ รายงานด่วนภายใน 48 ชม. สร้างความเชื่อมั่นให้ชาวบ้าน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตสารแอมโมเนียมไนเตรทที่นิคมอุตสาหกรรมไออาร์ซีพี จังหวัดระยอง ในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิต และขั้นตอนในการจัดเก็บรักษาที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนคนไทยโดยเฉพาะชาวระยอง เนื่องจากกรณีเหตุระเบิดช็อกโลกที่ประเทศเลบานอน จากแอมโมเนียมไนเตรทที่จัดเก็บอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมในคลังสินค้าที่ท่าเรือ ทำให้ประชาชนทั่วโลกเกิดความตระหนกอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศเข้าไปตรวจสอบโรงงานลำดับที่ 48(4) หรือเป็นโรงงานทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิดและดอกไม้เพลิง จำนวน 9 แห่ง ซี่งบางแห่งมีการครอบครองวัตถุหรือสารที่ก่อให้เกิดระเบิด และสารแอมโมเนียมไนเตรท ว่าแต่ละโรงงานมีการจัดเก็บหรือดำเนินการตามรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานที่ได้เสนอไว้หรือไม่
โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดต้องรายงานผลการเข้าตรวจสอบภายใน 2 วันหรือ 48 ชม. หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดจัดเก็บที่ไม่ถูกต้องต้องรีบสั่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขในทันที
“กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่กำกับดูแลโรงงาน และมีโรงงานบางประเภทที่ครอบครองวัตถุอันตรายซึ่งรวมถึงสารแอมโมเนียมไนเตรท เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเรื่องของมาตรการด้านความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น
ทางกระทรวงฯ ให้ความสำคัญมาตลอดในทุก ๆ ด้าน เป้าหมายเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และที่สำคัญจะช่วยสร้างความมั่นใจแก่ชุมชนในพื้นที่โดยรอบว่าโรงงานที่มีการครอบครองวัตถุดังกล่าว มีการจัดเก็บที่ปลอดภัยตามมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้”
สำหรับสารแอมโมเนียมไนเตรทเกิดจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างกรดไนตริกและแอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ประโยชน์สำหรับการผลิตไม้ขีดไฟ ดอกไม้ไฟ และวัตถุระเบิด อีกทั้งใช้เป็นปุ๋ยเคมี (ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท) สารดูดความชื้นสำหรับผ้าฝ้าย สารกำจัดแมลงและใช้เป็นเวชภัณฑ์ที่ใช้กับสัตว์ โดยในปัจจุบันจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับผิดชอบดูแล 5 หน่วยงาน คือกระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม