31 ก.ค.63 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมาธิการ โดยกล่าวในที่ประชุมว่า สำหรับสถานการณ์การชุมนุมของนักศึกษาตอนนี้ มีเรื่องข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นเอกภาพ เพราะมีทั้งอยากให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ อยากให้ยกเลิก ส.ว. และอยากให้ยกเลิกองค์กรอิสระ เป็นต้น
ในฐานะที่เราเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่ง ใครทำอะไรได้ต้องช่วยกัน อย่าปล่อยให้การชุมนุมนี้ไปสู่จุดที่เราไม่อาจคาดหมายได้ และมีความเห็นว่า 2 เดือนก่อนปิดสมัยประชุมสภา ยังมีโอกาสในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้ตามมาตรา 256 ที่บอกว่าแก้ยาก แต่ก็อยู่ที่ทุกฝ่ายว่าจะแก้หรือไม่
โดยมีข้อเสนอแก้ 3 กรณี คือ
1. ปรับวิธีการแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ง่ายขึ้น คือ ใช้เสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา พร้อมเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้วให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
2. ระหว่างกระบวนการในข้อหนึ่งที่ใช้เวลานาน ก็ให้แก้ไขบางมาตราที่สามารถทำให้ประเทศกลับสู่สภาวะปกติได้ นั่นคือ มาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรนูญที่ให้ความคุ้มครองรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบรรดาประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งหมด จำเป็นต้องเปิดทางให้คนโต้แย้งได้ เพราะถ้าไม่อย่างนั้นก็จะเหมือนกับว่าเรามีมาตราสุดท้ายนี้ที่ยกเว้นทั้ง 278 มาตราก่อนหน้าทั้งหมด เมื่อเจอกับประกาศ คำสั่ง คสช.
3. ยกเลิก ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269-272 และไปใช้ช่องทางการได้มาซึ่ง ส.ว. ตามระบบปกติ
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า จริงอยู่ที่ว่ารัฐธรรมนูญควรต้องแก้ยาก แต่รัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องผ่านฉันทามติร่วมกันของสังคมมาแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย รัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการยึดอำนาจของ คสช. แล้วเขียนรัฐธรรมนูญกันเอง เพื่อสกัดกั้นอีกฝ่ายไม่ให้แก้ อย่างนี้หากเอาไปเทียบไม่ได้เลยกับรัฐธรรมนูญสากล จะผิดฝาผิดตัวมาก เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ผู้ชนะเป็นคนร่าง
ประสบการณ์จากหลากหลายประเทศบอกไว้ว่า หากรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นฉันทามติร่วมกันแต่กลับกำหนดให้แก้ไขยาก ในท้ายที่สุดจะนำไปสู่วิกฤตรัฐธรรมนูญ อาจจบด้วยความขัดแย้งรุนแรง หรือ ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งด้วยวิธีการนอกระบบ