2 ก.ค.63 ในการประชุมสภา นายจักรัตน์ พั้วช่วย ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2564 วงเงินงบประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท ว่า
มีการแบ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญเป็น 6 ด้าน คือ 1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์ด้านการแข่งขัน 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยยุทธศาสตร์ที่ 5 ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ได้รับงบประมาณ 118,000 ล้านบาท คิดเป็น 3.6 % จากวงเงินงบประมาณรวม 3.3 ล้านล้านบาท เห็นว่ายังน้อยมาก ทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ
ซึ่งเข้าใจรัฐบาลที่ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลอาจมีข้อจำกัดในการจัดสรรเงินงบประมาณ สังเกตได้จากเงินงบประมาณงบกลาง ที่ปีนี้ตั้งสูงกว่าปีที่แล้ว 1 แสนล้านบาท ซึ่งต้องนำเงินงบประมาณไปแก้ไขปัญหาโควิด-19 ที่ทางการแพทย์ทั่วโลกยืนยันว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีในการคิดค้นวัคซีนป้องกันโลกโควิด-19 แต่ก็หวังว่าปีหน้ารัฐบาลจะเพิ่มเงินงบปะมาณในการบริหารจัดการน้ำเพราะเป็นต้นทุนสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ
นอกจากนี้ “ส.ส.จักรัตน์” ได้อภิปรายยุทธศาสตร์ที่ 5 คือ การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญโดยเฉพาะการบูรณาการเรื่องการบริหารจัดการน้ำ จำนวนเงิน 66,000 ล้านบาท สาระสำคัญของแผนงานนนี้เขียนไว้ว่า เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำมากขึ้น มีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยมี 2 กระทรวงสำคัญที่เป็นภารกิจหลัก คือ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมชลประทาน ที่ปีนี้ได้รับงบประมาณ 75,000 ล้านบาท และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกรมทรัพยากรน้ำ ได้รับงบประมาณ 4,900 ล้านบาท กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้รับงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายประจำ ส่วนงบลงทุนยังมีสัดส่วนที่น้อย โดยที่เพชรบูรณ์เวลาฤดูฝนน้ำก็ท่วมเวลาฤดูร้อนน้ำก็แล้งเป็นปัญหามายาวนาน เพราะการบริหารจัดการน้ำเขตลุ่มน้ำป่าสักยังต้องพัฒนาอีกมาก
ซึ่งประกอบด้วย จ.เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา ซึ่งมีพื้นเกษตรกรรม 6,500 ล้านไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานเพียง 1,200 ล้านไร่ คิดเป็น 18 % ยังเหลือพื้นที่ที่ต้องพัฒนาอีก 5,300 ล้านไร่ ดังนั้นพื้นที่เกษตรกรรมในลุ่มน้ำป่าสักพัฒนาไปเพียง 1 ส่วน เหลืออีก 4 ส่วนที่ต้องรอการพัฒนา
จึงขอรัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณในการสร้างอ่างเก็บน้ำที่เพชรบูรณ์ โดยเฉพาะในเขตอำเภอหล่มสัก หล่มเก่า น้ำหนาว เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งการสร้างอ่างเก็บน้ำจะสำเร็จช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับกรมป่าไม้ ขอให้กรมป่าไม้เร่งรัดในการใช้พื้นที่
พร้อมฝากคณะกรรมการพิจารณางบประมาณให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมเป็นหลักโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้ เพราะเกษตรกรกำลังรอเม็ดเงินเพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ซึ่งตนเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ในวาระแรก