เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 63 ส.ส.จักรพันธ์ พรนิมิตร กทม เขต 30 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวอภิปรายถึงประเด็นเรื่องการใช้รถใช้ถนนในเมืองไทย ว่า จากรายงานต่างๆ เช่น รายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน จัดทำโดยองค์การอนามัยโลก หรือรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยจากกระทรวงคมนาคม
จะเห็นว่าอุบัติหตุบนท้องถนนมีสถิติติดอันดับโลกหรือสูงที่สุดในอาเซียน ซึ่งไม่ใช่สถิติที่น่าภูมิใจ และสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมีหลากหลาย เช่น วินัยจราจร ความปลอดภัยของลักษณะถนน สถานที่ที่ยานพาหนะขับขี่ หรือสาเหตุเล็ก ๆ ที่มองข้ามไป
เช่น ป้ายสัญญาณจราจร เส้นจราจรต่าง ๆ บนถนนของประเทศไทย ซึ่งดร.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส. กทม เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ ได้เคยหารือในที่ประชุมบ่อยครั้งเรื่องสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของจราจรในกรุงเทพมหานคร
ส.ส.จักรพันธ์ กล่าวว่า สำหรับผมเห็นว่าการใช้รถใช้ถนนในสังคมไทยมีอะไรที่แปลกประหลาดกว่าหลายที่ในโลก มีนักวิชาการบางท่านระบุว่า ตราบใดที่คนข้ามถนนในเมืองไทยยังต้องยกมือไหว้คนขับรถทุกครั้งที่จะต้องข้ามทางม้าลาย หรือคนข้ามถนนมีความคิดว่า การที่รถหยุดให้ข้ามทางม้าลายคือความใจดีของผู้ใช้รถ เป็นสิ่งสะท้อนถึงความไม่เจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง บ้านเมืองของเราย่อมไม่เป็นประชาธิปไตย
ตราบใดที่ผู้ใช้รถไม่เคารพสิทธิ์ของคนเดินถนน หากสังเกตจะพบว่ากรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมีสะพานลอยเป็นจำนวนมาก ซึ่งใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านบาท
ทั้งนี้สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้พิการใช้รถเข็นมากขึ้น สะพานลอยจึงดูเป็นวัตถุแปลกปลอมในการใช้รถใช้ถนนสำหรับคนเดินเท้า แต่การออกแบบเมืองในอดีตคำนึงถึงผู้ใช้รถมากกว่าผู้เดินเท้า ซึ่งผมมีความคิดเห็นว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว
ส.ส.จักรพันธ์ กล่าวสนับสนุนกับประเด็นเรื่องข้อจำกัดของกองทุนในเรื่องการรณรงค์การปลูกฝังค่านิยมต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดขึ้นในการใช้รถใช้ถนนให้ถูกต้อง ว่า ผมเห็นด้วยเพราะว่าตราบใดที่เรายังไม่เคารพสิทธิ์ของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะการเคารพสิทธิ์ของผู้เดินเท้า ไม่ว่าเราจะทำโครงการไปมากขนาดไหนก็จะไม่มีประโยชน์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น อยากฝากท่านประธานไปยังผู้บริหารกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนทุกท่าน ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการบริหารจัดการความปลอดภัยในท้องถนนของพี่น้องประชาชน ถ้าหากสามารถทำให้กองทุนใช้งบประมาณเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัย โดยเฉพาะเรื่องของทางม้าลายให้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทย ยกตัวอย่างเช่น หากรถราชการสามารถทำให้หน่วยราชการของไทยทุกกระทรวง ทบวง กรม หยุดให้คนข้ามทางม้าลายเมื่อมีคนจะข้ามได้ ผมเชื่อว่า บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ยินดีที่จะกระทำตาม เราต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ มิเช่นนั้นเราอาจจะต้องนำเงินจากกองทุนไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วควรป้องกันไว้ก่อน