18 มิ.ย.63 ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายในวาระรับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ว่า กองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นตามความในพระราชบัญญัติรถยนต์ ฉบับที่ 12 2546 มีรายได้หลัก จากการนำเลขทะเบียนพิเศษมาเปิดประมูลให้กับประชาชนทั่วไป ถือว่าเป็นเรื่องดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นอีกเรื่องที่เป็นการยืนยันสิทธิอันเท่าเทียมของคนในประเทศไทย
แม้กองทุนจะใช้ชื่อว่า กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน แต่ปรากฎว่าระหว่างปี 57-61 มีคนไทยทุก 1 แสนคน เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากอุบัติเหตุรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มจาก 6,700 กว่าคน เป็น 8,300 กว่าคน และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน เป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งเป็นข้อมูลที่สวนทางกับความคาดหวังของกองทุน
ยิ่งไปกว่านั้นตอนนี้เข้ากลางปี 63 แต่สภาเพิ่งได้รับทราบรายงานกับเรื่องที่ผ่านมาแล้ว 3 ปีกว่า หากเทียบกับการที่รัฐให้เอกชน ผู้ประกอบ ห้างร้าน ส่งงบการเงินภายในเวลาไม่เกิน 5 เดือน และหากส่งช้าจะมีค่าปรับ มีบทลงโทษ ดังนั้นก่อนที่รัฐจะไปบังคับเอกชน หน่วยงานของรัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่าง
ดร.อิสระ ได้แบ่งรายละเอียดของของเงินกองทุนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก 723 ล้าน เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ส่วนที่ 2 335 ล้าน เป็นค่าจ้างเหมา ประกอบด้วย จ้างเหมาประชาสัมพันธ์ คิดเป็นเงิน 265 ล้าน และจ้างเหมาที่ปรึกษาศึกษาวิจัย เป็นเงิน 70 ล้าน
เมื่อเห็นยอดเงินในส่วนจ้างเหมาประชาสัมพันธ์ จากโครงการที่ดำเนินการมาจนถึงตอนนี้เกือบ 20 ปี พบว่าคนไทยแทบไม่มีใครไม่รู้ว่ามีการประมูลเลขสวย จึงได้ตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการใช้เงินถึง 265 ล้านเพื่อประชาสัมพันธ์สิ่งคนไทยรู้จักเรื่องนี้แล้ว
สำหรับยอดเงินจ้างเหมาศึกษาวิจัย 70 ล้าน หากเทียบกับเงินสำหรับการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาต้องถือว่าสูงมาก แต่ผลลัพธ์ออกมากลับไม่ทำให้มีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และแย่ลงกว่าเดิม
พร้อมกับได้เสนอแนะแนวทางการใช้เงิน 1,200 กว่าล้านบาท ไปกับโครงการที่ทำอยู่ 68 โครงการ ซึ่งล้วนเป็นโครงการที่มีภาระผูกพัน หรือเป็นโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จใน 1ปี นอกจากนี้ยังได้อภิปรายว่าเงื่อนไขในงบการเงินฉบับนี้มีปัญหา ไม่ถูกต้อง ไม่สมบูรณ์ และไม่สะท้อนกับความเป็นจริง ซึ่งผู้สอบบัญชี สตง. ก็ตั้งข้อสังเกตไว้เช่นกัน
ดร.อิสระ จึงตั้งข้อสังเกต 4 ประการ ที่จะฝากให้กองทุนนำไปพิจารณาปรับแก้ ประกอบด้วย
- ประการที่ 1 ก่อนเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด กองทุนฯ จัดประมูลปีละ 120 ครั้ง ซึ่งบ่อยเกินไป ข้อเสนอแนะคือจัดให้น้อยลงเพื่อลดค่าใช้จ่าย และหากจำเป็นต้องจัดก็ควรมั่นใจว่าจัดแล้วคนจะมีเงินจ่าย และจะจ่ายเงิน
- ประการที่ 2 ควรใช้เทคโนโลยีในการประมูล ให้เต็มศักยภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ลดลงกว่านี้
- ประการที่ 3 ควรจัดลำดับคุณภาพของลูกหนี้ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้รายงานฉบับนี้ไม่สะท้อนความเป็นจริง
- ประการที่ 4 ไม่มีการปฏิบัติตามระเบียบวิธีการทางบัญชี มีการทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และ สตง. ก็ได้แสดงความเห็นไว้ท้ายรายงานเช่นกัน
ดร.อิสระ ได้นำรูป “ป้าแก้ว” หญิงขายของหาบเร่ มาเพื่อนำเสนอใน 2 นัยยะ
- นัยยะแรก เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนของการทำงานของ “ป้าแก้ว” กับต้นทุนการประมูลทะเบียนเลขสวยของกองทุนฯ ว่า กองทุนฯ ไม่มีต้นทุนวัตถุดิบ เหมือน “ป้าแก้ว” ดังนั้นจึงคาดหวังว่ากองทุนฯ ต้องทำได้ดีกว่า “ป้าแก้ว”
- นัยยะที่ 2 ทุกวันมีคนแบบ “ป้าแก้ว” ที่มีสถานะเป็นแม่ของลูก และคนอื่นๆ ที่เป็นพ่อของลูก ลูกของพ่อ ซึ่งแต่ละวันมี 60 คน ที่ออกมาจากบ้านแล้วไม่ได้กลับบ้านอีก เพราะเสียชีวิตบนท้องถนน