คงไม่มีใครคิดกระมัง?
ว่าสักวันหนึ่ง ……….
จะมีป่ารักน้ำขนาด ๔๕๐ ไร่ ผุดกลางใจเมืองหลวง ให้เข้าไปเที่ยวท่องหลากร้อยพันธุ์ไม้
ล่องเรือในสายน้ำ
ลัดเลาะพงอ้อ กอกก แซมแทรกแมกไม้ ใบพริ้วลม ใต้แสงตะวันแทงแยงยอน
แต่ทุกคนจะได้เห็นสิ่งนี้
ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๔” วันแม่” คือวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา
“สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
“ป่ารักน้ำ” ที่ว่านี้ อยู่ตรงไหน?
ตรงพื้นที่ “โรงงานยาสูบ” ย่านคลองเตย โดยโรงงานยาสูบน้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อปี ๓๕ ในยุครัฐบาล “นายอานันท์ ปันยารชุน” เป็นนายกฯ เพื่อใช้สร้างสวนน้ำ สวนป่า
ขณะนี้……
โรงงานยาสูบกำลังย้ายออกไปจากตรงนั้น การส่งมอบพื้นที่เสร็จสิ้น “ป่ารักน้ำ” กำลังกำลังจะเกิดขึ้นแทน
นับไป ๑ ปีเต็มๆ จากนี้……..
คือจาก สิงหา.๖๓ ถึงสิงหา.๖๔ พื้นที่โรงงานยาสูบกว่า ๓๒๐ ไร่ นอกเหนือจากที่จัดทำเป็น “สวนเบญจกิติ” ไปก่อนแล้วในปัจจุบัน ๑๓๐ ไร่
สวนป่า “เบญจกิติ” ครบสมบูรณ์รูปแบบ จะเกิดขึ้นเต็มพื้นที่ทั้งหมด ๔๕๐ ไร่
เป็นสวนป่าธรรมชาติสมดุล ดิน-น้ำ-ลม และไฟ คือแสงแดด อัจฉริยทัศน์รังสรรด้วย “วิศวนิเวศน์” แห่งยุค
เพื่อเฉลิมพระเกียรติและสนองพระราชปณิธาน “สมเด็จพระพันปีหลวง” ในเรื่องป่าและน้ำ ที่ทรงมุ่งมั่นทำมาตลอด
มีพระราชเสาวนีย์ไว้ เมื่อปี ๒๕๒๕ ว่า…..
“พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า”
ครับ…..
เหล่านี้ จากผมได้อ่าน “สวนป่าเบญจกิติ…๒๙ ปี ที่เดินทาง” ของอาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ
อ่านแล้ว ได้รับข่าวสารมงคลเป็นเช่นใด ก็เช่นนั้น ตื่นตัว ตื่นใจ และเต็มตื้น จริงๆ
๒๙ ปี ที่ว่า คือ โครงการนี้ เริ่มสมัยท่านนายกฯ อานันท์ ปี ๓๕ ผ่านมา ๒๘ ปี คืบหน้าไปได้แค่ “สวนเบญจกิติ” เฉพาะส่วนเดียว ๑๓๐ ไร่
ที่เหลืออีกกว่า ๓๒๐ ไร่ ยังไม่มีอะไรเป็นรูป-เป็นร่างในเรื่องป่าและน้ำสมบูรณ์เลย
จนถึงสมัย “นายกฯประยุทธ์” นี้แหละ!
ภายใน ๑ ปี หลังมอบพื้นที่เสร็จ เดือนมิย.-กค.นี้ ถึง ๑๒ สิงหา.๖๔ คือปีหน้า อันเป็นปีที่ ๒๙ ของโครงการ
หวังไว้ว่า พื้นที่โรงงานยาสูบทั้งหมด……
ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวง “น้ำและป่า” ต้องปรากฏให้เห็น แทนโรงงานและสิ่งระเกะระกะทั้งหมด ในพื้นที่ ๔๕๐ ไร่ นั้น!
รัฐบาลและพสกนิกรทุกหมู่เหล่าทั้งประเทศ
จะได้น้อมเกล้าฯถวาย “สวนป่าเบญจกิติ” แด่ “สมเด็จพระพันปีหลวง” ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๙ พรรษา
ณ ๑๒ สิงหา.๖๔ ที่จะถึงปีหน้านี้ เป็นพันธสัญญาทางใจระหว่างรัฐกับราษฏร์ ขีดเส้นใต้ ภายใน ๑ ปี นับจากนี้ “สวนป่าเบญจกิติ” ต้องเสร็จ!
ประเด็นกำหนดเวลานี้ พอดีผมจำได้ เมื่อ ๒๐ มีค.๖๒ นายกฯไปตรวจพื้นที่บริเวณโรงงานยาสูบ และท่านปักหมุดหมายเป็นความตั้งใจเช่นนั้นไว้
ใจความที่นายกฯ ประยุทธ์พูดเกี่ยวกับสวนป่าที่จะสร้าง เมื่อได้ดูผังและอ่านที่อาจารย์ขวัญสรวงบอกกล่าวข่าวมงคล เกิดความรู้สึกทันที ๒ อย่าง
อย่างแรก ขอบคุณนายกฯ ประยุทธ์ ที่มั่นในกตัญญุตาไม่ละเลยน้ำกับป่าแห่งสองพระองค์ จี้งานสานต่อ น่าปลื้ม
เป็นอีก ๑ ใน ๑๐๐ ของผลงาน ที่ท่านเข้ามา ๕-๖ ปี ผลักดันที่ค้างคาให้เดินหน้าเป็นรูปธรรม นำประเทศขึ้นจากหล่ม
อย่างที่สอง ให้เครดิต “กรมธนารักษ์” ด้วยชื่นชมทั้งรมช.คลัง “นายสันติ พร้อมพัฒน์” ผู้กำกับงาน และอธิบดีกรมธนารักษ์ “นายยุทธนา หยิมการุณ” ผู้เดินงาน
ในฐานะเจ้าของพื้นที่, เจ้าของแผนงาน ต้องบอกว่า ท่านตีโจทย์ “ป่าและน้ำ” ตามพระราชปณิธาน “สมเด็จพระพันปีหลวง” ได้แตกจริงๆ
จึงออกมาเป็น โครงสร้าง-ผัง-แบบ “สวนป่าเบญจกิติ” ตามปรากฏ ทั้งลงตัว ทั้งอลังการ ในมิติ “ชีวิต-สิ่งแวดล้อม” สมดุล
“ป่ารักน้ำ” เป็นน้ำคู่ป่า ……
เมื่อน้ำเลี้ยงป่า ป่าเลี้ยงดิน ความชุ่มชื้น-ฉ่ำเย็น ย่อมยังชีวิตและสรรพสิ่ง สอดประสานสมบูรณ์ในทางเกื้อ
อ่านตามตัวหนังสือ ดูตามผังภาพ สวนป่าเบญจกิติตาม “ผังแม่บท” ของกรมธนารักษ์ จินตภาพเกิดตามทันที
คำที่นายกฯ พูดวันไปตรวจพื้นที่โรงงานยาสูบ ๒๐ มีค.๖๒ ผมยังตัดข่าวเก็บไว้
“……….พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานโครงการต่างๆไว้มากแล้ว
และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ทรงพระราชทานกับนายกรัฐมนตรี ขอให้สืบสานรักษาต่อยอด สิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ ได้พระราชทานไว้ และทำต่อไปให้มากยิ่งขึ้น
ซึ่งขณะนี้ ที่ดำเนินการอยู่ เป็นการต่อยอดสิ่งที่ทั้งสองพระองค์ได้พระราชทานไว้
สิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง
ถ้าเราปลูกต้นไม้แบบเดิมทั้งหมด คนจะไม่กล้าเข้าไป คือเข้าไปแล้วไม่มีความแตกต่าง
ฉะนั้น สิ่งที่ผมคิดว่า ……….
ในฐานะที่ผมได้ตามเสด็จฯ สมเด็จฯ มาหลายสิบปี ท่านรับสั่งเสมอว่า ให้ตัดตรงนั้น…แต่งตรงนี้หน่อยได้มั้ย
ก็พัฒนาต่อยอดไปทำนองนี้
ผมคิดว่าพระองค์ท่านไม่ได้สตริกว่าอย่างนี้ทีเดียว เพราะเราทำหลักการให้แล้วไง หลักการสำคัญถวายพระองค์ท่านไปแล้ว
เพราะฉะนั้น เราต้องปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม วันนี้ ต้นไม้เป็นแถว เหมือนปลูกต้นยาง คนมองเห็นก็ไม่น่าสนใจ
ฉะนั้น ลองไปจัดกลุ่มแลนด์สเคป ว่าตรงนี้เราจะต้องปลูกอะไรเข้าไปด้วย ให้มันสวยงาม คนเดินเข้าไปในกลุ่มนี้ โดยไม่ต้องรื้อของเก่าออก….”
ที่นายกฯบอกว่า……….
“ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและทันกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง”
นี่..ตรงนี้ ถ้าสวนป่าเบญจกิติ เสร็จตามแผนวันไหน ได้เข้าไปสัมผัสกัน ผมเชื่อ ทุกคนต้องร้อง…ว้าวววว!
นอกจาก “ป่า-น้ำ” หทัยแห่งพระองค์เพื่อทวยราษฏร์เด่นชัดแล้ว
อื่นๆ ตอบโจทย์คำว่า “ทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง” ได้เกินจินตนาการถึง อย่างนั้นเลย
อย่างแรก “สวนป่าเบญจกิติ” พื้นที่ ๔๕๐ ไร่ โรงงานยาสูบเดิม ผนวก “สวนลุมพินี” พื้นที่ ๓๖๐ ไร่ “สองสวน” ๘๑๐ ไร่ เชื่อมต่อถึงกัน
คิดดูซิ……..
ปอดเมืองที่ไหนในโลก จะใหญ่ขนาดนี้ รองรับคนเฉียดแสน เข้าไปวิ่งออกกำลังกาย ไปปั่นจักรยาน ไปพายเรือ ไปชมนก-ชมไม้ ไปนันทนาการ ไปศึกษาหาความรู้หลายหลากที่พิพิธภัณฑ์ โดยไม่เกิดสภาพแออัด
๒ สวน เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร อาจสงสัย?
ไม่ต้องสงสัยหรอก เพราะมีสะพานลอยฟ้า ที่เรียกสกายวอล์ค เชื่อมระหว่างสวนลุม กับสวนป่าเบญจกิติ เป็นระยะทางร่วม ๒ กิโลเมตร
คือ ขึ้น-ลง สกายวอล์ค ลอยฟ้าไปได้ทั่วทุกทิศทางของสวนเบญจกิติ ไม่ว่าทางสุขุมวิท ทางรัชดา ทางพระราม ๔ คลองเตย
จากสวนลุม ขึ้นตรง Bangkok One ของเสี่ยเจริญ หรือตรงซอยโปโล แถวๆ โรงพักลุมพินี ลอยข้ามทางด่วนไปเลย
๒ กิโล ว่าเดินขาลาก …….
แต่ตามที่ดู จะบ่นว่า “เร็วจัง” ด้วยซ้ำ เพราะเขาออกแบบเหมือนเส้นทางเหาะชมเมืองแบบพาโนรามา ชนิดว่า ขึ้นสกายวอล์ค “ที่เดียว” เห็นครบ จบสองสวนทุกจุด
ถ้าเสร็จจริงๆ ไม่แน่ใจ ระหว่างคนทอดน่องจรบนสกายวอล์คชมสวนป่า กับคนอยู่บนพื้นสวนป่า ไหนจะมากกว่ากัน?
ทั้งหมดนี้ เป็นความรู้สึกตอบสนอง เมื่อเห็นผัง แนวคิด-รูปแบบสวนป่าเบญจกิติ ของกรมธานรักษ์ ที่จะลงมือสร้างปีนี้
แค่ “ตาเหลว” กลางนาและ “หมวกงอบ” ของไทย มันชินตา จนไม่ค้างใจ แต่วิศวะจำลองลักษณ์ แล้วรังสรรออกมาเป็น “อาคารหอชมสวน”
เห็นแล้ว….ใจจะขาด!
ไทยโพสต์อยู่คลองเตย อยากไปนั่งเฝ้า-นอนเฝ้า ดูสวนป่าเบญจกิติเกิดเป็นจริง
โดยเฉพาะ “หมวกงอบ” ที่เคยสวมพายเรือฝ่าแดดไปล่มน้ำเหนือปากอ่าว
เมื่อเป็นหอ…….
ก็อยากเห็น ว่า “หองอบ” กับ “หอไอเฟล” ไหนจะเด่นเหนือเด่นกว่ากัน?