สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ครั้งที่ 5/2563 โดยมี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุมสุปัญญา สวรส. อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 สวรส. ได้เร่งขับเคลื่อนการวิจัยภายใต้แผนงานวิจัยระบบสาธารณสุขเร่งด่วนเพื่อตอบสนองการระบาดโควิด-19 วงเงินงบประมาณ 103 ล้านบาท ซึ่งแผนงานดังกล่าวกำหนดกรอบการวิจัยสำคัญไว้ 5 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ แนวทางการตรวจคัดกรองการวินิจฉัยและรักษา, การวิจัยทางคลินิก, การวิจัยด้านระบาด, การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ และการวิจัยเชิงระบบสุขภาพ
โดย สวรส. ได้ดำเนินการสนับสนุนทุนวิจัย ไปแล้วกว่า 20 โครงการ เช่น การพัฒนาแบบจำลองปอดโดยแบบจำลองการเลี้ยงเซลล์สามมิติเพื่อพัฒนายาในการรักษาโควิด-19, การเตรียมพลาสมาผู้ฟื้นจากโรคโควิด-19 เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด, การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เทียบกับการรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการไม่หนักและยังไม่มีภาวะปอดอักเสบ, ความชุกการติดเชื้อด้วยการตรวจทางซีโลยีและการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อ SAR-CoV-2 ในบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์ระบาดโรคโควิด-19 ภายใน รพ.ศิริราช, การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการป้องกันติดเชื้อโควิดด้วยคลอโรควินและวิตามินซีในผู้อยู่อาศัยร่วมบ้านกับป่วยที่ได้รับวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19, การศึกษาการตอบสนองและเตรียมพร้อมของระบบบริการสุขภาพต่อวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในด้านการดำเนินการของโรงพยาบาล รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมภายในขอบเขตของระบบสุขภาพ เป็นต้น
ทางด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ได้กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการระบาดโควิค-19 ของประเทศในแต่ละช่วง ซึ่ง สวรส. ได้เร่งผลักดันผลการศึกษาวิจัยต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในการออกแบบมาตรการของรัฐ อาทิเช่น การสังเคราะห์มาตรการและนโยบายของรัฐบาลในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดจากการประเมินการปฏิบัติตนของประชาชนไทยที่มีต่อมาตรการต่างๆ และผลศึกษาจากโครงการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่าด้วยเส้นทางชีวิตและกิจกรรมร่วมของครัวเรือนไทยภายใต้สถานการณ์โควิด-19
โดยได้นำเสนอผลการวิจัยพร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาแนวทางผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ประเทศ นอกจากนั้น สวรส. ยังได้สนับสนุนให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนามาตรการกักตัวสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยจะช่วยกำหนดจำนวนวันของการกักตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสม เนื่องจากระยะเวลาการกักตัวที่นานเกินไป เช่น 14 วัน อาจส่งผลต่อการขาดกำลังคนในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข
ทั้งนี้ คณะกรรมการ สวรส. ได้ให้แนวทางและข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัยสำคัญๆ ในระยะต่อไป อาทิเช่น โครงการวิจัยที่ต้องใช้จำนวนผู้ป่วยเป็นกลุ่มตัวอย่าง ถ้าจำนวนผู้ป่วยไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อการวิจัย ควรมีแผนรองรับและปรับแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม การศึกษาระยะฟักตัวและระยะการแพร่เชื้อของโควิด-19 จากกรณีที่มีข้อมูลของระยะเวลาการตรวจพบเชื้อที่นานกว่า 14 วัน ควรมีประเด็นการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ความรู้กับประชาชน ต้องมีการสื่อสารข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อลดความวิตกกังวลของประชาชนต่อการระบาดของโรค เนื่องจากความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันที่เชื่อมโยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
นอกจากนั้น ผลกระทบที่สำคัญจากการระบาดของโควิด-19 อาทิ การปรับระบบบริการของโรคอื่นๆ ของโรงพยาบาล เช่น ระบบ Stroke Fast Track ที่อาจมีผลต่อการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรคนี้มากกว่าผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากการรักษามีการยืดระยะเวลาออกไป รวมทั้งการงดให้บริการโรคเรื้อรังอื่นๆ หรือบริการทางทันตกรรม ดังนั้น จำเป็นต้องมีองค์ความรู้สำหรับการรับมือในอนาคตต่อการระบาดของโรคในลักษณะการระบาดใหญ่ (pandemic) และการปรับตัวของระบบบริการต่อปัญหาการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19 ด้วย
นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวปิดท้ายว่า สวรส. จะนำข้อเสนอต่างๆจากคณะกรรมการไปพัฒนาการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยแนวทางการทำงานหนึ่งของ สวรส. จะเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงการถอดบทเรียนทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม ที่เกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เพื่อนำความรู้มาใช้ประโยชน์ต่อไป