ความสุขที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการมีเงินทองมากมาย มีลาภ มียศ มีตำแหน่งสูงๆ มีคนมาคอยสรรเสริญเยินยอ มีกามสุข ความสุขที่เกิดจากการได้สัมผัสกามคุณทั้ง ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสุข แต่เป็นเหมือนยาเสพติด ยาเสพติดเราก็รู้ว่าเป็นอย่างไร คนที่เสพกับคนที่ไม่เสพเราก็รู้ว่าเป็นอย่างไร คนที่ไม่เสพยาเสพติด เขาสบาย เขาไม่เดือดร้อน เขาไม่ต้องไปคอยหายามาเสพอยู่เรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม คนที่ติดยาเสพติด ถ้าไม่มียาเสพติดในวันไหนแล้วจะต้องดิ้นรนทุรนทุรายลงแดง ถ้าไม่มีเป็นวันๆเข้า อาจจะถึงตายได้ นี่คือโทษของยาเสพติด ฉันใดโทษของลาภ ยศ สรรเสริญ กามสุข ก็เป็นเช่นนั้น ถ้าไปติดในลาภ ยศ สรรเสริญ และกามสุขแล้ว ใจจะอยู่ไม่สุข ใจจะไม่อิ่มใจจะไม่พอ ใจจะมีแต่ความหิว มีแต่ความอยาก ไม่มีที่สิ้นสุด หามาได้เท่าไรก็ไม่พอ
ความต้องการของตัณหาในเบื้องต้นคือ เมื่อเกิดมาแล้วก็ขอให้มีอาหารการกินพอเพียง ขอให้มีปัจจัย ๔ พออยู่ได้ เมื่อมีปัจจัย ๔ แล้ว ขั้นต่อไปก็อยากจะร่ำรวย เมื่อร่ำรวยแล้ว ก็อยากจะมีเกียรติ มีหน้า มีตา มีตำแหน่ง มียศถาบรรดาศักดิ์ เมื่อมีสิ่งเหล่านี้แล้ว ขั้นต่อไปก็อยากจะมีอายุยืนยาวนาน ไม่อยากตายเร็ว เพราะอยากจะอยู่กับสิ่งที่ตนได้หาไปนานๆ ถ้าต้องตายไป ก็ขอให้ไปเกิดในสวรรค์ต่อไป นี่คือความอยากของกิเลสตัณหาที่ไม่มีที่สิ้นสุด
แต่หารู้ไม่ว่า ความอยากเหล่านี้ ถ้าไม่ควบคุมไว้ ไม่ดูแล ปล่อยให้พาไปแบบไม่มีขอบเขต แทนที่จะไปสู่สวรรค์ กลับจะพาไปสู่นรก เพราะว่าถ้าต้องการอะไรแล้ว ไม่ได้หามาด้วยความสุจริต ไม่ได้หามาด้วยศีลธรรม แต่หามาด้วยความทุจริต ด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยการลักทรัพย์ ด้วยการประพฤติผิดประเวณี ด้วยการโกหกหลอกลวง ถ้าประพฤติแบบนี้แล้ว แทนที่จะไปสวรรค์ เมื่อตายไป กลับต้องไปสู่อบาย คือภพใดภพหนึ่งทั้ง ๔ ภพ คือ เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นรก นี่คือที่ไปของผู้ที่ทำผิดศีลธรรมเป็นอาจิณ
นี่แหละคือโทษของกิเลสตัณหา ถ้าไม่คอยควบคุมไว้ ไม่คอยกำจัด ไม่คอยชำระแล้ว กิเลสตัณหาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่เราสนองตัณหาความอยาก สนองความโลภความต้องการแล้ว ความโลภความต้องการจะไม่เบาบางลงไป แต่กลับจะเพิ่มมากขึ้น จะมีความต้องการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไป ดังวลีที่ว่า ได้คืบก็จะเอาศอก ได้ศอกก็จะเอาวา คือความโลภจะเพิ่มพูนขึ้นไปเรื่อยๆ จะไม่ลดน้อยถอยลงไป จะทำให้เราเป็นทาส จะคอยสั่งให้ไปเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาอยู่เสมอ เมื่อได้มาแล้วแทนที่จะขอบอกขอบใจ จะบอกว่าพอ กลับบอกว่าไม่พอ ต้องเอามาอีก
นี่แหละคือเรื่องของความโลภ ได้มาเท่าไรก็ไม่พอ เมื่อยังไม่มีความพอ เราจะไปหาความสุขได้อย่างไร นี่แหละคือโทษของความโลภ ของความอยาก ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เห็น หลังจากที่ได้ชำระสิ่งเหล่านี้ออกไปจากใจแล้ว จึงทรงได้พบกับความสุขที่แท้จริง คือความอิ่ม ความพอ ซึ่งเกิดจากความสงบของจิตใจ พระพุทธเจ้าจึงทรงนำมาสั่งสอนพวกเรา ให้พวกเราละความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่ให้ไปส่งเสริม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนกับอสรพิษ
เราก็รู้ว่าอสรพิษนั้นเป็นอย่างไร มีพิษมีภัยขนาดไหน เวลาเจองู เราจะไม่จับมาเลี้ยงไว้ มีแต่จะตีให้ตาย แต่ทำไมเวลาเจอความโลภ ความโกรธ ความหลง เรากลับไม่ตีให้ตาย เรากลับทะนุถนอมบำรุงรักษา กลัวจะเจ็บช้ำน้ำใจ เวลาโลภก็ต้องพยายามวิ่งไปหาในสิ่งที่ต้องการมาให้ เวลาโกรธก็ต้องโกรธตาม ต้องไปทำร้าย ต้องไปด่า ไปว่าผู้อื่น เพื่อความโกรธจะได้ไม่โกรธเรา นี่แหละคือความหลงของพวกเรา
ความหลงก็คือความเห็นผิดเป็นชอบ เห็นว่าความโลภ ความโกรธ เป็นสิ่งที่น่ารักษาไว้ น่าสนับสนุน แทนที่จะเห็นว่าเป็นพิษเป็นภัย เป็นสิ่งที่จะต้องคอยทำลายล้าง คอยขจัดให้หมดไปจากจิตจากใจ เรากลับไม่ทำกัน เรากลับปล่อยให้ความโลภ ความหลงเจริญรุ่งเรืองด้วยการสนับสนุน เวลาโลภก็โลภกับเขา เวลาโกรธก็โกรธกับเขา ชีวิตของเราเลยกลายเป็นชีวิตที่มีแต่ความรุ่มร้อน มีแต่ความทุกข์ หาความสงบหาความสุขไม่ได้ เพราะความหลงนี่เอง
กำลังใจ ๖, กัณฑ์ที่ ๑๐๗
วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๕
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน