“ไชยา พรหมา” : รัฐบาลไม่จริงใจที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย

30 พ.ค.63 นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 , พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ว่า

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อีกทั้งมาตรการของรัฐ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องหยุดกิจการ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง คนจำนวนมากต้องตกงาน กำลังซื้อหดหาย หลายฝ่ายคาดว่าปัญหาเศรษฐกิจอาจทอดยาวไปถึงปลายปี 2564 กว่าที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยมีอยู่ทั้งสิ้นมากกว่า 3 ล้านราย แต่ทำให้เกิดการจ้างงานในระบบ สูงถึง 13 ล้านอัตรา คิดเป็นมากกว่า 85 % ของการจ้างงานที่มีอยู่ทั้งประเทศ และมีบทบาทต่อขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ เปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจประเทศ

สาระสำคัญของ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 นั้นก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการและหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจประเทศ โดยให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยกู้ซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ 5 แสนล้านบาทเพื่อให้สถาบันการเงินไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

แต่เงื่อนไขในการกู้ครั้งนี้ทำให้เกิดปัญหาที่เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จำนวนนี้ได้ ทั้งเงื่อนไขที่ต้องเป็นลูกค้ารายเดิมกับสถาบันการเงินและจะต้องไม่เป็นเอ็นพีแอล รวมไปถึงต้องเป็นวิสาหกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ทำให้ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้อาจไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่อาจเป็นผู้ประกอบการรายเดิมและเป็นลูกค้ารายใหญ่ของสถาบันการเงินที่ได้ประโยชน์ไป

เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 90% ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบธนาคารได้ การกำหนดคุณสมบัติดังกล่าวเป็นผลให้เกิดการตัดสิทธิ์เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ให้ยื่นกู้ ซึ่งเป็นช่องว่างของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมีช่องว่างของการไม่กำหนดคำนิยามของเอสเอ็มอีให้ถูกต้องตั้งแต่ต้น โดย พ.ร.ก.ฉบับนี้จะดูที่วงเงินกู้เป็นหลัก ไม่ดูกิจการหรือการจ้างงานเพื่อพิจารณาว่ารายใดเป็นรายใหญ่หรือรายย่อยที่แท้จริง ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาเงินกู้ผิดเพี้ยนไปแล้วทำให้เงินกู้จำนวนนี้ไม่กระจายไปถึงคนที่เดือดร้อนจริง ไม่ได้มีส่วนในการเสริมสภาพคล่อง และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เพื่อช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่จริงใจที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย

ในส่วนของการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้น นอกจากการออก พ.ร.ก. กู้เงินฉบับนี้ รัฐบาลยังสามารถใช้กลไกทางการบริหารเข้ามาช่วยเหลือเยียวยา ทั้งมาตรการทางภาษี หรือการผ่อนปรนเงื่อนไขในการพิจารณาสินเชื่อ รวมไปถึงการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2563 ที่ค้างท่ออยู่อีกกว่า 1.1 ล้านล้านบาท เพื่อเพิ่มเงินเข้าระบบ เพื่อให้เกิดการจ้างงานและเพิ่มกำลังซื้อ


Written By
More from pp
พล.ต.อ.อดุลย์ฯ สมาชิกวุฒิสภา ร่วมปลูกต้นไม้ของชาติ มอบเงินสนับสนุน เสริมทัศนียภาพริมฝั่งโขง
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมมาธิการแรงงาน สมาชิกวุฒิสภา และครอบครัวแสงสิงแก้ว
Read More
0 replies on ““ไชยา พรหมา” : รัฐบาลไม่จริงใจที่จะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย”