อันตรายกว่า “สารอันตราย”

วันนี้ คุยเรื่องหนักหัว ก็รู้…ท่านไม่อยากอ่านเรื่องทำนองนี้ซักเท่าไหร่
แต่อยากให้ฝืนซักนิด
เพราะมันไม่เพียงเป็น “ห่วงโซ่ชีวิต” ที่ทุกคน ทั้งรู้ตัว-ไม่รู้ตัว ล้วนอยู่ในนั้นแล้วมันยังเป็นห่วงโซ่ธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมประเทศ ทั้งผลิต-บริโภค-ส่งออก-นำเข้า สัมพันธ์ถึงแรงงาน บนฐานตัวเลขประเทศ ปีละร่วม ๒ ล้านล้านบาท!

ก็เรื่องวัตถุอันตราย……..
“พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” ที่เข้าใจ-เข้าถึงกันครึ่งๆ-กลางๆ สุดแต่ว่า ฝ่ายไหนจะมีแรงฉุดกระชาก ก็ลากกันไปนั่นแหละ
ขณะนี้ ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศไปแล้ว เมื่อ ๑๕ พค.๖๓ ว่า
ตั้งแต่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๓ เป็นต้นไป ไม่ว่าใครก็ตาม “ห้ามมี-ห้ามใช้” วัตถุอันตรายทั้ง ๒ ตัวนั้นเด็ดขาด

ขีดเส้นใต้ด้วยหมึกแดง ๒ เส้น….. “ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองวัตถุอันตราย ชนิดที่ ๔ (พาราควอต, คลอร์ไพริฟอส) ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ มีผลใช้บังคับ

ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด
แปลภาษาราชการ เป็นภาษาชาวบ้านเพื่อความเข้าใจก็คือ
ตั้งแต่ ๑ มิย.คือ ตั้งแต่สัปดาห์หน้านี้เป็นต้นไป ใครผลิต ใครนำเข้า ใครส่งออก และใครมีไว้ในครอบครอง
ผิดกฎหมาย………

“ผู้ใดนำผ่านวัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ที่ยกมาคุย อย่าเข้าใจผิด ว่าผมจะมาต้าน-มาค้านการห้ามมี-ห้ามใช้

เลิก-ก็เลิก เมื่อเกษตรฯ, อุตสาหกรรม, สาธารณสุข ลงมติ “ห้ามใช้-ห้ามมี” พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว ก็ต้องเป็นตามนั้น

และผมก็หรี่หูฟังมาตลอดว่า……
เมื่อ “ห้ามมี-ห้ามใช้” แล้ว มีวัตถุอันตรายตัวไหนล่ะ ที่รัฐบาลสรรหามาให้ชาวไร่/ชาวนา/ชาวสวน ใช้แทน ๒ ตัวที่ยกเลิกไป
โดยวัตถุอันตรายที่นำมาทดแทนนั้น เมื่อตรวจหาสารพิษตามพืช, ผัก, ผลไม้ ต่างๆนานาแล้ว

“สารตกค้างต้องเป็น 0”
“ต้องเป็น 0” ตามความหมายของ “วัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ ๔” ของไทย ก็คือ

“ต้องไม่มีสารตกค้างปนเปื้อนอยู่เลย”!

เหนือกว่ามาตรฐาน Codex ที่องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การอาหารและการเกษตรฯ (FAO) กำหนดซะอีก

มาตรฐาน Codex ก็คือ….. “ระดับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่ยอมรับได้ในอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์”

มีหน่วยเป็น “มิลลิกรัมสารพิษตกค้าง/กิโลกรัมสินค้าเกษตร” โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร เป็นผู้กำหนด
แต่กฏหมายไทยขณะนี้ กำหนดไว้เหนือมาตรฐานโลก……..

สินค้าเกษตร จะส่งออก-นำเข้า ต้องปลอดสารตกค้าง ๑๐๐%

ฟังดูเท่ “ทางคำสั่ง” มาก
แต่เมื่อดู “ทางปฏิบัติ” ที่เป็นจริง จากเท่ กลายเป็นทุเรศ มันเป็นคำสั่ง สักแต่ว่าสั่ง ไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทั้งทางปฏิบัติ ทั้งทางกลไกธุรกิจการค้า

ถ้าในช่วง ๕-๖ วัน ก่อนถึงมิถุนา.ไม่แก้ไขปัญหาดังที่ผมมองเห็นดังจะกล่าวต่อไป รับรอง เมื่อมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแล้ว
ไม่อยากใช้คำว่าวินาศสันตะโร…..
แต่จะเดือดร้อน วุ่นวาย ไล่ตามแก้แต่ละเรื่อง แต่ละจุด เสียเวลา เสียความรู้สึก เสียโอกาสทั้งทางทำมาหากินชาวบ้าน

ที่สำคัญ ธุรกิจอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสินค้าเกษตร มันจะเป็นปัญหาย้อนศร
ถึงตอนจะรวย แทนที่จะรวยจากเกษตร กลับต้องซวย เพราะบริหารกันสักแต่มีอำนาจสั่ง และที่สั่ง แทนจะเป็นคุณ กลับเป็นโทษ

ไม่รู้จะบอกใคร ก็ต้องลงที่ท่าน “นายกฯประยุทธ์” นั่นแหละ
ประเด็นแรก เกษตรกร ชาวไร่-ชาวนา-ชาวสวน ใครยังมีพาราควอต, คลอรไพริฟอสเหลือติดบ้าน ไม่ต่างซุกซ่อนยาเสพติดไว้ในบ้าน
ถึงคุก!

พ่อค้า, บริษัท, ห้างร้าน ใครยังมีสาร ๒ ตัวนั้นเหลือในสต็อก หรือสินค้าอยู่ระหว่างเดินทางเข้ามาจากสั่งซื้อ
นอกจากเจ๊งแล้ว ยังจะติดคุก ฐานมีหรือนำเข้าสารพิษ!

นี่ยังไม่เท่าไหร่…….
จากกฎหมาย ว่าด้วยวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ ๔ ยังหมายไปถึงว่า
วันที่ ๑ มิย.เป็นต้นไป เอาเฉพาะพืชที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะผลิตเองไม่ได้/ไม่พอ
นั่นคือ ถั่วเหลืองและข้าวสาลี!
มันเป็นวัตถุดิบหลักและจำเป็นในอุตสาหกรรมแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ ตลอดถึงอาหาร, ขนม

เรียกว่าสารพัด ที่มี ที่ใช้ ที่กิน ที่ขาย ที่ส่งออก ต้องใช้ถั่วเหลืองและข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบตั้งต้นแทบทั้งนั้น

ประเด็นก็คือ ในต่างประเทศ …….
เขาใช้พาราควอต กำจัดวัชพืช และใช้คอลร์ไพริฟอส จำกัดสัตรูพืช ทั้งนั้น
นั่นคือ ทั้งข้าวสาลี ถั่วเหลืองนำเข้า ล้วนมีสารพิษปนเปื้อนตามมาตรฐาน Codex ทั้งนั้น

ในเมื่อสารทั้ง ๒ ตั้วนั้น เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ ๔ ตามกฎหมาย ที่บังคับใช้ ๑ มิย.นี้
ก็ยุ่งซี เมื่อนำเข้าถั่วเหลือง-ข้าวสาลีไม่ได้….

แล้วบะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป่อง เช่นปลาทูน่า เนื้อสัตว์ทั้งสด/แช่แข็ง ซอสปรุงรส ขนมปัง น้ำมั่นถั่วเหลือง ขนม อาหารชุบแป้ง อาหารสัตว์ อาหารแปรรูปต่างๆ กระทั่งซาละเปา และฯลฯ
เจ๊งหมด!

เมื่อกิจการเหล่านี้ขาดวัตถุดิบ ธุรกิจเดินไม่ได้ แรงงานในวงจรนี้กว่า ๑๐ ล้านคนแน่ๆ “ว่างงาน”

ความเสียหายด้านอาหารคน, อาหารสัตว์, อุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประเมินกันแล้ว เฉียด ๒ ล้านล้านบาทต่อปี!

นี่เพราะ สักแต่ “ออกประกาศ-ออกคำสั่ง”
สารพิษนั้น เลิกได้ จะออกมาตรการอะไรก็ออกได้ แต่ก่อนเลิก-ก่อนออก
ต้อง “อุดรูรั่ว” ให้เรียบร้อยก่อน เช่น หาสารเคมีมาให้ชาวไร่/ชาวสวนซื้อหาแทนสารที่ห้ามใช้ก่อน

ที่ยังเหลือ อนุโลมให้ใช้จนหมดภายใน ๑ ปี หรือไม่ก็รับซื้อคืน ไม่ใช่ด้วยโมหะแห่งอำนาจ ประกาศปุ๊บ ของถูกกลายเป็นของผิด กูจับอย่างเดียว

การค้าก็เหมือนกัน ธุรกิจซื้อ-ขายระหว่างประเทศ เทอมเวลาการค้าว่าเขากันเป็นปีๆ
แทนที่ภาครัฐจะคิดคำนึง……
กลับเป็นว่า…ไม่รู้ กูมีหน้าที่สั่ง สั่งปุ๊บ ของถูกกลายเป็นของเถื่อนตั้งแต่อยู่ในท้องเรือขนส่งสินค้า นั่นรื่องมึง กูไม่รับรู้ด้วย
อย่างนี้เสียครับ เสียมากด้วย!

ถ้าไม่รีบแก้ไข ไม่ได้หมายถึงให้กลับไปใช้สารอันตราย แต่หมายถึง ความเป็นจริงทางบริหารและปกครอง กับของจำเป็นต้องใช้
เมื่อให้เขาเลิกใช้อย่างหนึ่ง ก็ต้องหาอีกอย่างมาทดแทนให้เขาใช้ แต่ก็ไม่หา-ไม่มี
จากของที่รัฐบาลบอกให้ใช้ มาอีกวันบอกไม่ให้ใช้ แล้วประกาศหน้าตาเฉย ที่เอ็งมีอยู่ ถือเป็นของผิดกฎหมาย

แบบนี้อันธพาลทำ ไม่ใช่รัฐบาลบริหาร
การสักแต่ว่า กูจะเอา-กูจะประกาศ โดยไม่ดูกฎหมายที่เชื่อมโยงถึงกันว่า มันขัดแย้งเป็นโทษ หรือสอดคล้องเป็นคุณ ผลเสียตกกับส่วนรวมมหาศาล

โลกเป็นจริงทางเกษตรปัจจุบัน มีมั้ย ที่สารตกค้างเป็นศูนย์?
ขนาดมาตรฐานโลก ด้วย WTO และ FAO ยังกำหนดให้มีสารตกค้างได้ ระดับมิลลิกรัม/กิโลกรัมสินค้าเกษตร
แล้วนี่ เกษตร-อุตสาหกรรม-สาธารณสุข มีมติ เป็นประกาศเปรี้ยงปร้าง โดยไม่คิดให้รอบคอบว่า
ด้วยมาตรฐานเทวดาไทย เราจะไปซื้อ-ไปขายกับเขาได้อย่างไร เช่น ถั่วเหลือง ข้าวสาลี

ในเมื่อต่างประเทศใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ ๔ เพาะปลูก มีสารตกค้างตามมาตรฐาน Codex ทั้งนั้น กฎหมายไทยบอก ไม่ได้…ต้องเป็นศูนย์

ก็หมายความว่า………
จาก ๑ มิย.ไป นำเข้าถั่วเหลือง/ข้าวสาลีไม่ได้ ใครสั่ง ผิดกฎหมาย คุกไม่เกิน ๑๐ ปี!
ยังไม่พูดถึง ชาวไร่/ชาวนา/ชาวสวน ทั่วไป คำนึงถึงเขามั้ย ว่าเขาจะใช้อะไรในการเพาะปลูก หรือมีใครแอบตั้งโรงงานทำสารเคมีทดแทนไว้แล้ว?

ถ้าดีจริง ปราบวัชพืชได้ ปราบศัตรูพืชได้จริง โดยสารตกค้างเป็น 0 ก็ไม่ต้องกระมิด-กระเมี้ยน โผล่หน้ามาเลย

ครับ…..
นี่ไม่ใช่ปัญหาโลกแตก แต่เป็นปัญหาซ่อนเงื่อนหาแหลกของใครหรือเปล่าก็ไม่รู้?
แต่เห็นมันจะเป็น “ปัญหาประเทศ” ก็เลยกราบเรียนให้ท่านนายกฯ ได้เดือดร้อนอีกซักครั้ง!

LineID:plewseengern.com

Written By
More from plew
“การ์ดเชิญ” ๒๑ ตุลา. – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน นี่ก็ตกเข้ามา ๑๔ ตุลา….. ผมยังไม่ได้ออกการ์ดเชิญประจำปีผ่านตรงนี้ให้แฟนๆ ไทยโพสต์ได้ทราบเลยว่า วันพฤหัสบดี ที่ ๒๑ ตุลา.ที่จะถึง คืออีก...
Read More
One reply on “อันตรายกว่า “สารอันตราย””
  1. says: Tak

    สารพวกนี้เมื่อลงดินแล้ว stern คือกลายเป็น organic นะคะ
    คนต้นคิดทำกฎหมายห้ามเพื่อผลทางการค้า คือถึงฤดูแล้งหญ้าก็ตายเอง สารพวกนี้ก็ขายไม่ดี ทีนี้จะทำไง อ้าวก็ส่งมาขายประเทศที่ evergreen สิคะ แล้วก็ออกกฏแบบ BOIของเรา ทำเพื่อส่งออกเท่านั้น
    ประเด็นแค่นี้เอง คนที่งัดเรื่องนี้มาพูดแล้วพูดอีก ยังขูดรีดนักธุรกิจสายเกษตรไม่พอใช่ไหมคะ อ้างประเทศต้นทางไม่ให้ใช้ก็เค้าจะใช้ทำไมละในเมื่อทำเกษตรตลอดปีไม่ได้ รง. อยากลดทนสินค้าขอยกเว้นภาษีก็เลยทำเพื่อส่งออก แบบเราทำหน้ากากอนามัยเพื่อส่งออก เป็นประเด็นจน อธิบดีกรมการค้าภายในต้องย้ายไปแขวน โควิดมาใหม่ๆ ทุกคนงุนงง

    พราราคอต ลงดินแล้ว stern แต่เอาไปกินฆ่าตัวตายได้เหมือนน้ำยาขัดห้องน้ำนะคะ
    แล้วก็นำเรื่องการตกค้างมาอ้างไว้ เผื่อปกป้องสินค้าตัวเองที่ผลิตได้น้อย ราคาจะต่ำ
    จึงเห็นได้ชัดว่า เป็นกำแพงการค้าที่ไมาใช่ภาษี แบบเดียวกับ ISO ,GPM/PICS, etc.
    กรรมการ codex ก็พวกเค้าทั้งนั้น ทำให้เราต้องส่งเอกสารรับรองการส่งออกเพิ่มขึ้นอีกใบนึงนะคะ
    ทำไมเราจะทำให้ สารตกค้างเป็น 0 ไม่ได้คะ อย่าดูแพงเกษตรกรไทยสิคะ
    นี่ไม่ต้องห้ามใช้ แล้วมาพิสูจน์กันเองว่า สารตกค้างเป็น 0 ไหมคะ หา LAB เจ๋งๆ ที่ accredit แบบ iso17025 หรือ lab Harvard (ที่เคารพ) มีข้อมูลดิบ มากางคุยกันไม่ต้องเอานักสถิติ วิเคาระห์เลยค่ะ เพราะข้อมูลมันกระจอกพอที่เกษตรกรชาวไทย และชาวไทย ธรรมดา อ่านเฉยๆก็เข้าใจได้
    ขอถามแบบโง่โง่สักหน่อย เวลาเราขัดห้องน้ำด้วยน้ำยากัดสิ่งสกปรกเสร็จแล้ว ทีนี้เวลาเราเข้าไปอาบน้ำ เราพิสูจน์ได้อย่างไรว่าห้องน้ำนี้ไม่มีสารกัดกร่อน เหลือไว้มากัดผิวเรา
    ….เบื่อประพาราคอตเต็มทน
    ต่อไปนี้ใครหยิยยก ประเด็นนี้มาพูดอีกดิฉันจะไม่ตอบโต้ เชิญเล่นกันตามสบาย
    ประเทศไทยไม่ใช่ของดิฉันคนเดียว ประเทศไทยเป็นของคนไทยทุกคน

Comments are closed.