เปลว สีเงิน
ยากนะ….
และเป็นไปไม่ได้เลย ที่ “วันที่ ๕ ธันวาคม” จะเลือนหายไปจาก “จิตใต้สำนึก” คนไทย ตราบเท่ามีลมหายใจ
ยามเหนื่อยยาก
ทุกข์ทับถมครั้งใด ยากไขว่คว้าสิ่งใดยึดเกาะ
พลันภาพ “พ่อบนฟ้า” ผุดขึ้นมาในห้วงจิต
พ่อพระเสโทท่วม
สะพายกล้อง ถือแผนที่แผ่นใหญ่ เสด็จฯ ลุยน้ำ-ลุยโคลน-ลุยป่า ทรงนำหน้าไปในทุกถิ่นทุรกันดาร
สำรวจ “สภาพดิน-แหล่งน้ำ” เพื่อชีวิตการทำกินที่ดีขึ้นของพสกนิกร
ครั้งนั้น ความเหนื่อยล้า ทุกข์ ท้อแท้ พลันหาย ความฮึกเหิม ฮึดสู้ ราวปาฎิหาริย์ พลันเกิดขึ้นแทน!
ในเมื่อ “พ่อบนฟ้า” เป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ยังทรงตรากตรำ-ลำบาก “เพื่อคนอื่น” ขนาดนี้
แล้วเรา…แค่ธุลีใต้เบื้องพระยุคลพระบาทพ่อ
จะทุกข์ยาก-ลำบากเหนื่อยบ้าง ตามครรลองชีวิต แค่นั้น ท้อแท้ สำอาง-สำออย ช่างน่าละอายนัก
ผมเกิดมา ตั้งแต่จำความได้ พ่อบนฟ้าไม่เคยทอดทิ้งประชาชนของพระองค์เลย
เสด็จฯ เวียนไปประทับอยู่กับประชาชนทั้ง “เหนือ-อีสาน-ใต้” มากกว่าประทับอยู่ในพระราชวัง “สวนจิตรลดา”
ผมจำได้ดี ว่าหลังจาก “พ่อบนฟ้า”
“พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระบรมนาถบพิตร” รัชกาล ที่ ๙
พร้อมด้วย “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”
เสด็จประพาส “สหรัฐอเมริกา-ยุโรป” รวม ๑๔ ประเทศ เมื่อ ๖๓ ปีที่แล้ว เป็นเวลานาน ๗ เดือน
คือจาก ๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๓ และเสด็จฯ นิวัติประเทศไทย เมื่อ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๔
จากนั้นแล้ว…..
“พ่อหลวง” ไม่เสด็จฯออกนอกประเทศอีกเลย
ทรงใช้เวลา “ตลอดพระชนม์ชีพ” สุข-ทุกข์อยู่กับพสกนิกรของพระองค์ในประเทศ
การเสด็จพระพาส ๑๔ ประเทศ “ครั้งประวัติศาสตร์” นั้น พ่อบนฟ้า ทรงมี “พระราชดำรัสอำลาประชาชน” ใจความตอนหนึ่ง ว่า
“ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย….
เมื่อปีใหม่ ข้าพเจ้าได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า ประเทศต่าง ๆ ได้เชิญให้ไปเยี่ยมเป็นทางราชการ
บัดนี้ ถึงกำหนดที่ข้าพเจ้าและพระราชินี จะได้ไปประเทศเหล่านั้น
พรุ่งนี้ จะออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน แล้วจะไปประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอีก ๑๓ ประเทศ
การไปต่างประเทศคราวนี้ ……..
ก็ไปเป็นทางราชการแผ่นดิน เป็นการทำตามหน้าที่ของข้าพเจ้า ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ในสมัยนี้ ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ จะว่าชนทุกชาติเป็นญาติพี่น้องกันก็ว่าได้
จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดีอีกด้วย”
“ไกรฤกษ์ นานา” นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ยุโรป
เล่าถึงเบื้องหลังพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ ๙ ในนานาประเทศ ไว้ในงาน “ครบรอบ ๖๐ ปี” ของการเสด็จเยือนสหรัฐ-ยุโรปตอนหนึ่ง
และ “นพพร วงศ์อนันต์” บีบีซีไทย บันทึกเป็นข่าว ดังนี้
“หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้ชนะสงครามพยายาม “จัดระเบียบโลกใหม่”
พร้อมกับรุกคืบ-กินแดนของหลายประเทศในยุคแห่งการแสวงหาเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม
จึงปะทะกับขบวนการท้องถิ่นปลดแอกที่รับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์มาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้
ส่วนประเทศในเอเชีย ที่เพิ่งพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก ต่างพะวักพะวน
และตกลงกันไม่ได้ว่า จะใช้ระบอบการปกครองแบบไหน
แม้บริบทไทยต่างจากชาติอื่น ไม่ต้องต่อสู้เพื่อเอกราชจากเจ้าอาณานิคม
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “สงครามโลกครั้งที่ ๒” กระทบเสถียรภาพทางการเมืองของไทยอย่างยิ่งยวด
ระหว่างกลุ่มการเมืองที่ยืนเคียงฝ่าย “สัมพันธมิตร” นำโดย “ปรีดี พนมยงค์”
กับกลุ่มที่สนับสนุนฝ่าย “อักษะ” นำโดย “จอมพล ป. พิบูลสงคราม”
ทว่าความขัดแย้งของฝ่าย “ปรีดี-จอมพล ป.”
ถูกสกัดด้วยการยึดอำนาจของ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐
นำไปสู่การกวาดล้างผู้สนับสนุนของทั้งสองฝ่ายและการกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน “ภาพลักษณ์ไทย” ในสายตาโลกตะวันตก ยังไม่สู้ดีนัก
เป็นเพราะ “ไม่มีใครอยากเปิดบ้านต้อนรับไทย ในฐานะพันธมิตรของญี่ปุ่น”
แต่ขณะเดียวกัน สยามก็ไม่เคยประกาศสงครามกับสหรัฐฯ มาก่อน
เหตุที่สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ทรงเสด็จฯ เยือน เพราะในเวลานั้น สหรัฐฯ ถือเป็น “พี่ใหญ่” เป็นอภิมหาอำนาจ
มีความสำคัญสูงสุดในเชิงสัญลักษณ์และกลายเป็น “ใบเบิกทาง” ไปสู่ยุโรป
นอกจากนี้ ไทยเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญาชาติแรกของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
และเป็นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ขาดหายไปถึง ๒๙ ปี นับจากในหลวงรัชกาลที่ ๗ เสด็จประพาสในปี ๒๔๗๔
ที่สำคัญ เป็นการประกาศว่าไทยเป็นประเทศที่อยู่ในค่ายของโลกเสรีอย่างเต็มที่
เราพูดกันตามประสาคนมีความรู้สึกนึกคิด ก็จะเห็นว่า การเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น ใช่ว่าจะสุขสบายอย่างที่บางคนเข้าใจและพูดจา
จริงๆแล้ว การเป็น “พระเจ้าแผ่นดิน” ผู้ทรงทศพิธราชธรรม นั้นคือ พระผู้รับภาระ “แบกแผ่นดิน”
หรือพูดอีกที คือพระผู้ “แบกรับสุข-ทุกข์” ในความเป็นชาติ เพื่ออาณาประชาราษฎร์ ได้อยู่เป็นสุข เอกราช-เสรี
เราทั้งหลาย ผู้อยู่ใต้ร่มเงาพระบารมี ไม่รู้หรอกว่า แต่ละช่วงกาลเวลา ของแต่ละสถานการณ์บ้านเมือง
“พระเจ้าแผ่นดิน” จะต้องทรงแบกรับทั้งทางกายและทางใจหนักหนาขนาดไหน?
ถ้าเราคิดย้อนอดีตและช่วงแต่ละตอนของเหตุการณ์ทั้งภายใน,ภายนอก อันมีผลกับชะตาอนาคตประเทศไทย และค่อยๆ ลำดับภาพ
ประเทศเรารอดและผ่านพ้นวิกฤตแห่งวิบากแต่ละช่วงมาได้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วยหรือเพราะบังเอิญ
หาแต่ด้วยพระอัจฉริยภาพ ด้วยพระวิสัยทัศน์ และด้วยขัตติยมานะกษัตริย์แห่ง “พ่อบนฟ้า” ของเราโดยแท้
“ชาติไทย” ในร่วมศตวรรษนี้ จึงธำรงเอกราชสรี ผึ่งผงาดเป็น ๑ ในชาติก้าวหน้าสู่ระดับ “อารยชาติ” ในโลกได้
ที่ผมกล่าวเช่นนี้ได้ ใช่ว่าพูดเอง
หากแต่มีวาสนาได้พบพานหลายๆท่านที่ได้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท และเล่าบางเรื่อง-บางเหตุการณ์ให้ฟัง
กระทั่งในช่วงสถานการณ์สู้รบ “ชีวิตต่อชีวิต”
อย่าง ๓-๔ วันก่อน มีนายทหาร “อดีตนักบิน” ท่านหนึ่งมาเยี่ยม เล่าถึงตอนบินถวายอารักขา ขณะพระองค์ทรงบุกป่าฝ่าดอย
ท่านได้เล่าหลายๆ อย่างที่ได้สัมผัสด้วยตัวเองให้ฟัง และสุดท้าย อดีตนักบินท่านนั้น บอกว่า
“พวกที่คิดชนกับพระองค์ท่าน ผลบั้นปลาย ไม่มีดีเลยซักคน”!
คำว่า “ชน” หมายถึง ใครที่มุ่งร้ายคิดลบหลู่พระองค์ท่าน
ก็ไม่มีใครทำอะไรหรอก
แต่มีอัน “วิบัติเป็น” ไปเอง เพราะในหลวงท่านเป็น “พระโพธิสัตย์”
พูดแล้วก็คุยอวดซักนิด ก่อนท่านกลับ ควัก “สมเด็จบางขุนพรหม” ให้ผม ๑ องค์ บอกว่า ได้มาตอน “จอมพลประภาส จารุเสถียร” เปิดกรุวัดบางขุนพรหม ปี ๒๕๐๐
นี่ต้องบอกว่า ด้วยพระบารมีพ่อบนฟ้าโดยแท้
เพราะอดีตนักบินท่านนั้น บอกถึงเหตุที่มอบให้ผมว่า เพราะผมยึดมั่นใน “ชาติ, ศาสน์ และสถาบันพระมหากษัตริย์”
กราบ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” (โต) พรหมรังสี พระผู้เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ
กราบสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพ่อหลวง
“พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระบรมนาถบพิตร” รัชกาล ที่ ๙
พระผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณไพศาล ต่อความเป็นชาติไทยดำรง ต่อพสกนิกรชาวไทยและผู้เข้ามาพึ่งอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารทั้งหลาย
เนื่องในวันคล้ายวัน “พระบรมราชสมภพ” นี้
ข้าพระพุทธเจ้า “เปลว สีเงิน”
ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
เปลว สีเงิน
๕ ธันวาคม ๒๕๖๖