ภาวะฉุกเฉิน DKA หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ควรระวัง

medicine, diabetes, glycemia, health care and people concept - close up of woman checking blood sugar level by glucometer at home

โดยพญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร

 อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม

โรงพยาบาลพระรามเก้า

ภาวะฉุกเฉิน DKA (Diabetic ketoacidosis) เป็นภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันที่พบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน แต่เดิมพบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (เบาหวานชนิดที่หนึ่ง) แต่ปัจจุบันพบได้บ่อยขึ้นในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง (ผู้ป่วยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่เป็นชนิดนี้)โดยเฉพาะเมื่อมียารักษาเบาหวานกลุ่มใหม่ กลุ่ม SGLT-2 inhibitor (ยาที่ออกฤทธิ์โดยการขับน้ำตาลทางปัสสาวะ) เช่น Jardiance Forxiga Xigduo และ Luxefi

พญ.ณัฐกานต์ มยุระสาคร อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า DKA คือ ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงร่วมกับภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งไม่หายเป็นปกติได้ โดยการกินยาหรือฉีดยาอินซูลินเพิ่มเพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล บางครั้งต้องเข้า ICU เพื่อให้น้ำเกลือ ยาอินซูลินเข้ากระแสเลือด และสารน้ำเกลือแร่ด้วยความระมัดระวัง รักษา 12-24 ชั่วโมงจึงจะพ้นภาวะนี้  

โดย DKA เกิดจากปัจจัย 3 ปัจจัย คือ อินซูลินไม่เพียงพอ ภาวะขาดอินซูลิน ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่งร่างกายไม่ผลิตอินซูลิน เมื่อผู้ป่วยหยุดฉีดยาอินซูลินก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ DKA ได้ หรือภาวะดื้ออินซูลิน ร่วมกับหลั่งอินซูลินไม่เพียงพอ พบได้ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สองโดยเฉพาะคนที่เป็นโรคเบาหวานมานาน มียาฉีดอินซูลินเป็นประจำอยู่แล้ว ร่างกายมีภาวะ Stress เช่น การติดเชื้อ การผ่าตัด อุบัติเหตุ หรือ โรคหลอดเลือดแดงตีบเฉียบพลัน ขาดอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต (แป้ง น้ำตาล) เป็นปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะในผู้ป่วยทีได้รับยากลุ่ม SGLT-2 inhibitor

สำหรับกลไกการเกิดภาวะ DKA ร่างกายหลั่งสารกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Counter-regulatory hormone ที่ประกอบด้วย อะดรีนาลีน คอติซอล และ กลูคากอน ออกมาต่อสู้กับความเจ็บป่วยเฉียบพลัน มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โดยการเมตาบอลิสมไขมันเป็นพลังงาน กลไกนี้มีผลดีคือทำให้ร่างกายมีพลังงานมากขึ้น แต่มีของแถมคือสารคีโตนซึ่งทำให้เลือดเป็นกรด เมื่อเกิดคีโตนปริมาณมาก ร่างกายจะขับคีโตนออกทางการหายใจ ทำให้มีอาการหอบเหนื่อย

อาการที่บ่งชี้ว่ากำลังเกิดภาวะ DKA เช่น มีอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หรืองดน้ำงดอาหารเพื่อเตรียมตัวผ่าตัด มีอาการปัสสาวะบ่อย ปริมาณมากขึ้น คอแห้ง กระหายน้ำ (โดยเฉพาะน้ำเย็น น้ำหวาน) อ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้ อาเจียน หอบเหนื่อย ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ และตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

โดยการป้องกัน ภาวะ DKA สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน (Sick- day rules) ให้เน้นกินคาร์โบไฮเดรต ดื่มน้ำมากขึ้น อย่าหยุดยาฉีดอินซูลิน ตรวจน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น และแนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก น้ำข้าวผสมเกลือเล็กน้อย แครกเกอร์ หรือขนมปัง ถ้าไม่สามารถกินอาหารอ่อนได้ แนะนำให้กินอาหารเหลว ที่มีคาร์โบไฮเดรตอย่างน้อย 50 กรัม ทุก 3-4 ชม. เช่น น้ำผลไม้หรือโยเกิร์ต ซุปข้น ดื่มนํ้าเปล่าให้เพียงพออย่างน้อย 1 แก้วทุก 1 ชั่วโมง (สำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณนํ้าที่เหมาะสม)

อย่าหยุดยาฉีดอินซูลิน โดยเฉพาะ basal หรือ long-acting insulin ตรวจน้ำตาลในเลือดบ่อยขึ้น  คือ ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ  เช่น ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่หนึ่ง ควรตรวจทุก 4 ชั่วโมง  และในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง ควรตรวจอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน (3 เวลาก่อนอาหารและก่อนนอน) มาโรงพยาบาลทันทีเมื่อาการไม่ดีขึ้น เช่น อาการของโรคร้ายแรง ได้แก่ มีอาการแน่นหน้าอก ปากเบี้ยว แขนขาอ่อนแรง มีอาการป่วยหรือมีไข้มากกว่า 2 วัน แล้วยังไม่ทุเลา คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องร่วง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้นานเกิน 6 ชั่วโมง ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารมากกว่า 240 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร มีอาการของภาวะขาดน้ำ ริมฝีปากแห้งแตก คอแห้ง กระหายน้ำ หรืออาการรุนแรงขึ้น อ่อนเพลีย หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจมีกลิ่นผลไม้ 

และเมื่อมีการงดน้ำงดอาหารเพื่อเตรียมตัวผ่าตัดหรือทำหัตถการใดๆ  แนะนำให้หยุดยากลุ่ม SGLT-inhibitor 3-7 วันก่อนทำหัตถการ

ทั้งนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาฉีดอินซูลิน รวมถึงแจ้งรายการยาทุกตัวที่ใช้อยู่ อาหารเสริม และวิตามินต่างๆ กับแพทย์และทันตแพทย์ก่อนทำหัตถการทุกครั้ง เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

Written By
0 replies on “ภาวะฉุกเฉิน DKA หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานที่ควรระวัง”