วันนี้ (11 พ.ค. 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงประเด็นด้านการดูแลช่วยเหลือสินค้าเกษตร และสินค้าอุปโภคบริโภค สรุปสาระสำคัญ ว่า
รัฐบาลมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศโดยจ่ายเงินเยียวยาให้รายละ 5,000 บาทต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมนี้ และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติร่วมกันในหลักการว่าจะให้มีการพักชำระหนี้กับพี่น้องเกษตรกรทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยมีผลต่อเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนฟื้นฟู รวมทั้งองค์กรเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนฟื้นฟูอยู่ด้วย วงเงินเบื้องต้นประมาณ 900 ล้านบาท โดยกองทุนฟื้นฟูต้องไปแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อน เนื่องจากระเบียบเดิมกำหนดแค่การขยายเวลาของการชำระหนี้ แต่ไม่มีเรื่องของการพักชำระหนี้ เมื่อแก้ไขแล้วจะนำกลับเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งต่อไปโดยเร็วที่สุดเพื่อการออกมาตรการให้สอดคล้องกับระเบียบใหม่
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการประกันรายได้ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา โดยโครงการประกันรายได้นี้ ไม่ใช่การประกันราคา รัฐบาลไม่ได้ไปสั่งให้ราคาสินค้าเกษตรขึ้นหรือลง แต่เป็นวิธีคิดของรัฐบาลที่ว่า พี่น้องเกษตรกรควรจะขายผลผลิตได้ในราคาประมาณไหน จึงจะมีรายได้พอกับการยังชีพ โดยนำราคาตรงนั้นมาเป็นเกณฑ์ หากผลผลิตราคาตกต่ำลง รัฐบาลจะจ่ายชดเชยในส่วนต่างให้ ด้านหนึ่งคือรับชดเชยจากส่วนต่างที่ราคาผลผลิตอาจจะตกต่ำลง
อีกด้านหนึ่งคือสินค้าเกษตรที่พี่น้องประชาชนเก็บเกี่ยวมาได้ ก็ยังเป็นของพี่น้องเกษตรกรอยู่ นำไปขายได้ตามปกติ ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ มีสินค้าเกษตร 5 ชนิดที่ได้ทำไปแล้ว ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และยางพารา โดยในส่วนของยางพารา มีการจ่ายชดเชยไปเกือบครบถ้วนแล้ว ยังเหลือบางส่วนที่ถือบัตรสีชมพู ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งดำเนินการอย่างเร็วที่สุด
ขณะที่ข้าว เหลืออีก 3 งวดจะสิ้นสุดปีการผลิต ในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้จะเป็นการประกาศราคาขั้นสุดท้าย สำหรับรอบการผลิตปีต่อไป เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล จะมีการพิจารณาในเร็ว ๆ นี้ ว่าจะดำเนินการมาตรการนี้ต่อไปเมื่อไร สำหรับมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังไม่สิ้นสุดปีการผลิต มันสำปะหลังจะไปเสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม
ดังนั้น ขอให้พี่น้องเกษตรกรที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิ์ได้เร่งดำเนินการ ที่ผ่านมาสินค้าต่าง ๆ ทั้ง 5 ชนิดดังกล่าว มี 4 ชนิดที่ราคาปรับตัวดีขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มใช้มาตรการใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือยางพารา ก็มีการปรับตัวขึ้นมา
แต่ในส่วนของปาล์มน้ำมันมีการปรับตัวลง สาเหตุจากช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 63 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่ผลปาล์มมีผลผลิตมาก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีมาตรการจำกัดการเดินทางต่างๆ ตามสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีการใช้ปาล์มน้ำมันในเรื่องพลังงานไบโอดีเซลลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาผลปาล์มลดน้อยลงตาม
ทั้งนี้ จากการหารือกับสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซล ขณะนี้สถานการณ์กำลังจะเริ่มดีขึ้น ประกอบกับรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ไปมากแล้ว การเดินทางสัญจรเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้น รวมทั้งการขนส่งด้วย จึงจะมีการกลับมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลมากขึ้น นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อมาใช้เป็นพลังงานผลิตไฟฟ้า อันจะช่วยในการรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มด้วย และยังเหลือผลปาล์มที่จะต้องรับซื้ออีก 30,000 ตัน ซึ่งมีสัญญาณที่ดีว่า กฟผ. อาจจะดำเนินการรับซื้อในเร็ว ๆ นี้ ทำให้ราคาผลปาล์มขยับตัวสูงขึ้น โดยมีการกำหนดสำรองไว้อีกว่าให้ กฟผ. สามารถรับซื้อได้เพิ่มอีก 100,000 ตัน หากเสถียรภาพราคาปาล์มยังไม่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ยังมีมาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยกำกับดูแลการรับซื้อผลปาล์มในราคาที่เป็นธรรม ให้สอดคล้องกับราคาที่ควรจะเป็นตามตลาด ไม่กดราคากับชาวสวนปาล์ม หากพบว่ามีการกดราคารับซื้อ กดราคาโดยไม่เป็นธรรม มีความเสี่ยงที่อาจจะขัดต่อข้อกฎหมายมาตรา 29 ของ พรบ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ในข้อหาจงใจกดราคา ทำให้ราคาต่ำเกินสมควร มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พร้อมกันนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนโดยตรง ในเรื่องของผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาล จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบ การส่งออกต่างประเทศมีข้อจำกัด มีการลดเที่ยวบิน หรือปิดด่าน ทำให้การขนส่งไปประเทศจีน ที่ต้องผ่าน สปป.ลาว เวียดนาม ตามเส้นทางการขนส่งแต่ละประเทศมีการปิดด่านพรมแดน ทำให้การขนส่งยากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ได้เข้ามาช่วยเหลือชาวสวน โดยร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดจำหน่ายผลไม้ออนไลน์ ที่เป็นการเปิดช่องทางการจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งมีแพลตฟอร์มใหญ่ ๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย
อีกทั้งยังมีความร่วมมือจากกรมท่าอากาศยาน บมจ. ท่าอากาศยานไทย จัดพื้นที่การจำหน่ายผลไม้ที่สนามบินให้ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ตอนนี้เนื่องจากเที่ยวบินลดน้อยลงตามสถานการณ์ หากสถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว มีการกลับมาทำการบินได้เหมือนเดิม ก็สามารถที่จะระบายผลไม้ขึ้นเครื่องบินได้ และหลายสายการบินช่วยเรื่องการขนส่งฟรี ไม่เกิน 20 กิโลกรัม นอกจากนี้ สถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ก็ได้จัดพื้นที่พร้อมให้ผู้ค้าผลไม้เข้าไปวางจำหน่ายได้เช่นกัน โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ตอบคำถามกรณีโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรว่า โครงการนี้เป็นแนวคิดที่กระทรวงพาณิชย์มีกลไกของพาณิชย์จังหวัดอยู่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ จึงได้เกิดแนวคิดให้พาณิชย์จังหวัดเป็น Sales Man ขายสินค้า แต่ละจังหวัดจะรู้ว่ามีสินค้าใดที่ล้นตลาด อยากจะระบายไปที่อื่น และในแต่ละจังหวัดก็จะรู้ว่าจังหวัดตนเองต้องการอะไรบ้าง ฉะนั้นแนวคิดนี้เป็นการเพิ่มเติมจากการค้าปกติ โดยใช้กลไกของพาณิชย์จังหวัดร่วมกับหอการค้าจังหวัด สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร มาดูแลเรื่องสินค้าเกษตร
โดยผลิตภัณฑ์ที่จะมีการแลกเปลี่ยนกันจะมีทั้งผลไม้ ข้าวสาร สัตว์น้ำ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ และอื่น ๆ ทั้งนี้การแลกเปลี่ยนจะใช้หลักการประมาณ เนื่องจากเป็นหลักการที่ใช้องค์กรนอกเหนือจากการค้าปกติมาช่วยกัน และมีกลไก Biz Club ที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ ๆ ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ มาช่วยกัน และในการแลกเปลี่ยนสินค้าก็จะประมาณราคาคุณค่าสินค้าให้ใกล้เคียงกัน จะทำให้การคำนวณค่าที่จะมีการแลกเปลี่ยนเป็นไปได้โดยง่าย สะดวก และจะส่งเสริมให้กระบวนการนี้ทำงานได้
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงสถานการณ์การส่งออกการขายสินค้าไปต่างประเทศ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทุกประเทศมีมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน โดยปัญหาที่สำคัญที่ผ่านมาคือการขนส่งสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศผู้ค้าหลัก เนื่องจากประเทศต่างๆ มีมาตรการล็อคพรมแดน ทำให้เกิดความยากลำบาก และการขนส่งสินค้ามีปัญหา
ดังนั้น รัฐบาลได้มีการเจรจาในทุกระดับ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ มีการเจรจาทางการทูต รวมทั้งภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ โดยมีการเจรจาในด่านพรมแดนบ่อเต็น ที่จะผ่านไป สปป.ลาว และเป็นเส้นทางไปสู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งการเจรจาได้คลี่คลายแล้วเสร็จในวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง สปป. ลาวได้ประกาศให้มีการเปลี่ยนถ่ายสินค้า และคนขับรถ และมีจุดถ่ายสินค้าที่พรมแดนที่แน่นอน
ทั้งนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือกับทางรัฐบาลจีน เพื่อที่จะให้เปิดด่านพรมแดนมากขึ้น ซึ่งประสบความสำเร็จในปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยทางการจีนเปิดด่านนำเข้าผลไม้ทางบกเพิ่ม 2 ด่าน ได้แก่ ด่านตงซิง และผิงเสียง และเปิดด่านรถไฟเพิ่ม ซึ่งในเรื่องนี้ภาครัฐพยายามเจรจาให้การค้าขาย ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายโดยเร็วที่สุด และต้องให้เครดิตกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มีการจดในพิธีสารที่สามารถรับรองเรื่องการค้า ด้านสุขอนามัยผลไม้ ที่จัดส่งไปยังประเทศจีนได้ และสถานการณ์การเปิดด่านปาดังเบซาร์ ปัจจุบันสามารถขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อการส่งออกด้วยวิธีขนส่งทางรถ ไปขึ้นระบบรางของประเทศมาเลเซีย ผ่านด่านปาดังเบซาร์ได้แล้วในสินค้าทุกประเภท รวมถึงการส่งออกไม้ยางพารา ผลไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิด
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หลักการในการจัดการสินค้าอุปโภคบริโภค ข้อที่ 1 สินค้าจะต้องมีปริมาณเพียงพอ ข้อที่ 2 ราคาจะต้องเป็นธรรมและมีทางเลือกที่หลากหลาย ข้อที่ 3 ผู้บริโภคจะต้องเข้าถึงสินค้าได้ ไม่มีการกักตุนสินค้า
กระทรวงพาณิชย์ซึ่งกำกับดูแลสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ให้ความมั่นใจว่าสินค้าในประเทศจะไม่มีการขาดแคลน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เหมือนภัยพิบัติที่จะกระทบกับโรงงานที่ผลิตสินค้า กำลังการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยยังมีอยู่อย่างเหลือเฟือ
สำหรับส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์ มีภารกิจที่ได้รับมอบนโยบายจาก ศบค. ให้ดูแลในเรื่องของสินค้าทั้งปริมาณและราคา จึงได้จัดโครงการธงฟ้าสู้ภัยโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และให้ประชาชนมีช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพได้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการเดินทางเข้าไปแหล่งชุมชน ซึ่งมีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังนี้
1. จัดรถเร่ 250 คัน เรือเร่ 5 ลำ ในวันที่ 25 มีนาคม 63 ในพื้นที่ กทม. นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี 2. จัดรถเร่ 350 คัน เรือเร่ 5 ลำ วันที่ 17-24 เมษายน 63 ในพื้นที่ กทม. นครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี 3. รถเร่ 300 คัน เริ่มวันที่ 13 พฤษภาคม 63 ในพื้นที่ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดยจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ ได้แก่ ไข่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันปาล์ม เจลล้างมือ ปลากระป๋อง ข้าวหอมไทย ผลไม้ และเนื้อไก่ในราคาถูก
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังจัดโครงการพาณิชย์ลดราคาเพื่อประชาชน ที่เป็นความร่วมมือของทุกห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ เริ่มดำเนินการเฟสแรกตั้งแต่ 16 เมษายน 2563 มีสินค้าเข้าร่วมโครงการ 72 รายการ ซึ่งขณะนี้เป็นการดำเนินการเฟสที่ 2 เริ่มต้นวันที่ 25 เมษายน 2563 เป็นต้นมา มีสินค้าเข้าร่วมรายการถึง 3,025 รายการ และมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 51 ราย จากเดิม 30 ราย
โดยมีสินค้าลดราคา เช่น ข้าวหอมมะลิ 100% ถุงละ 5 กิโลกรัม ราคาเหลือต่ำสุด 138 บาท หรือข้าวขาว ถุงบรรจุละ 5 กิโลกรัม ราคาต่ำสุดเพียง 75 บาท อย่างไรก็ตาม แต่ละที่ราคาอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับยี่ห้อและขนาด โดยประชาชนผู้สนใจซื้อสินค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลทางเว็บไซต์ของกรมการค้าภายในได้ว่าที่ไหนจำหน่ายสินค้าอะไร อย่างไรบ้าง พร้อมกันนี้จะมีการขยายไปสู่เฟสที่ 3 ในระยะอันใกล้นี้
ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวด้วยว่า เซเว่นอีเลฟเว่นยังเข้าร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ โดยลดราคาอาหารแช่แข็ง เมนูยอดนิยม 6 เมนู จากเดิมที่ขายราคาประมาณ 30 – 32 บาท เช่น ข้าวกระเพราหมู ข้าวผัดเผ็ดหน่อไม้ไก่ ข้าวไก่กระเทียม ไข่เจียวทรงเครื่อง โดยขายราคาเดียว 20 บาท
รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด ลดราคามาม่าคัพ ทุกรส จากราคา 13 บาท เหลือ 10 บาททั่วประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ผู้ประกอบการทุกราย รวมถึงห้างโมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้อ เห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ดี และเป็น CSR ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ตลอดจนจะเป็นการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้สามารถซื้อหาสินค้าราคาถูก และลดค่าครองชีพไปได้ส่วนหนึ่ง