วันนี้ (9 พ.ค. 63) เวลา 11.30 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านโซเซียลมีเดียช่วงการแถลงข่าวของศูนย์ข่าวโควิด-19 และสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โฆษก ศบค. ชี้แจงกระบวนการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 2 ตามไทม์ไลน์จะเริ่มวันที่ 8 – 12 พ.ค. เป็นช่วงการรับฟังความคิดเห็น และวันที่ 13 พ.ค. จะมีการประเมินผลในระยะที่ 1 โดยรวบรวมชุดข้อมูล ซักซ้อมทำความเข้าใจ จากนั้น วันที่ 14 – 15 พ.ค. จะมีการยกร่างข้อกำหนดใหม่ที่จะนำไปสู่การผ่อนคลายในระยะที่ 2 และทดลองใช้ด้วยวิธีการ Sandbox คือ หากลุ่มตัวอย่างเพื่อทดลองเปิดให้บริการ เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อสังเกตมาตรการที่ใช้ภายในห้างสรรพสินค้า รวมถึงการปฏิบัติตัวของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ มีข้อจำกัดอย่างไร เพื่อประเมินผลในวันที่ 16 พ.ค. หากประสบความสำเร็จ วันที่ 17 พ.ค. ก็จะประกาศมาตรการผ่อนคลายระยะ 2
ทั้งนี้ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ ศบค. จะต้องประชุมหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายความมั่นคง และภาคเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจหากเปิดให้บริการแล้วจะไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากขึ้น เมื่อมีมติจากที่ประชุมแล้ว ก็จะรายงานรายละเอียดโดยเร็วเพื่อให้ผู้ประกอบการจัดเตรียมมาตรการ และให้ประชาชนมีความเข้าใจมาตรการผ่อนคลายด้วย
โฆษก ศบค. เผยถึงความคืบหน้ากรณีการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก หรือ Active Case Finding ที่ชุมชนคลองเตย และความคืบหน้าการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกในจังหวัดอื่น ๆ ว่า ข้อมูลกรมควบคุมโรค มีการรายงานการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกแล้ว 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก 3,581 ราย พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย จังหวัดยะลา ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก 3,277 ราย พบผู้ติดเชื้อ 20 ราย จังหวัดภูเก็ต ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก 2,552 ราย พบผู้ติดเชื้อ 26 ราย และ จังหวัดกระบี่ ตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุก 477 ราย พบผู้ติดเชื้อ 3 ราย รวมทั้งหมดมีการตรวจเชิงรุก 7,993 ราย พบผู้ติดเชื้อ 44 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 0.55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ทำการดูแลการตรวจหาผู้ป่วยเชิงรุกจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง
โฆษก ศบค. กล่าวถึงตลาดนัดจตุจักรที่จะกลับมาเปิดให้ใช้บริการตามปกติในวันนี้ อาจจะมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมากว่า ผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการมีส่วนสำคัญโดยยึดจากการประกาศราชกิจจานุเบกษา มีแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 กล่าวถึงมาตรการที่รัฐบาล ผู้ประกอบการ และประชาชนจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันการตรวจสถานประกอบการมีทั้งหมด 3 ระดับ
คือ 1. การตรวจสอบตามมาตรการหลัก ได้แก่ การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัย บริการจุดล้างมือ การเว้นระยะห่าง และการควบคุมความแออัด 2. การตรวจสอบมาตรการเสริมเฉพาะกิจการ/กิจกรรม ซึ่งแตกต่างตามประเภทของการให้บริการ และ 3. การตรวจตามคู่มือปฏิบัติโดยละเอียด
ทั้งนี้เพื่อเป็นการยืนยันว่า ทั้ง 3 ระดับดังกล่าวนั้นปลอดเชื้อและปลอดภัย หากพบเห็นผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการได้
อย่างไรก็ตาม โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายอาหารในตลาดนัดยังไม่ปรากฏอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 6 กลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วย บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขัง คนขับรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์หรือพนักงานส่งของ แรงงานต่างด้าว และผู้ประกอบอาชีพเสี่ยง แต่ทุกคนถือว่ามีความเสี่ยง หากเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยงที่มีความแออัด หรือสถานที่ที่พบผู้ติดเชื้อ
ดังนั้น การปฏิบัติตามมาตรการหลัก 5 ข้อ จึงมีความสำคัญจำเป็น ทั้งการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส สวมหน้ากากอนามัย บริการจุดล้างมือ การเว้นระยะห่าง และการควบคุมความแออัด ฉะนั้นการดูแลป้องกันตนเองและผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ฝากทุกคนช่วยกันดูแลสุขภาพ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากระยะที่ 1 นั้น เป็นไปได้ด้วยดี ร่วมมือกันปฏิบัติอย่างมีสติ เพื่อให้ 7-14 วันข้างหน้า จะได้มีพื้นที่ในการเดินทางที่เปิดโล่งมากขึ้น