ในช่วง 3 เดือนที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ COVID-19 ได้เริ่มแพร่ระบาดไปทั่วโลก บางท่านคงอาจจะกำลังได้รับผลกระทบของมันอยู่ในตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจ็บป่วย การงาน รายได้ หรือสินค้าราคาแพงที่ขึ้น ฯลฯซึ่งในบทความนี้ไพรซ์ซ่าอยากจะนำเสนอในอีกแง่มุมของไวรัส ที่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกและธุรกิจ เพื่อชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่หลายสิ่งกำลังแย่ ก็ยังมีสิ่งดีๆ เหล่านี้อยู่
ไวรัสโควิด-19 ทำประโยชน์อะไรให้กับโลก?
ให้โอกาสธรรมชาติได้พักหายใจ
เมื่อสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ เช่น ทะเล ป่า ดอย ฯลฯ ถูกปิดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ปราศจากการรบกวนจากมนุษย์ ระบบนิเวศน์จึงมีโอกาสฟื้นฟูตัวเองได้มากกว่าปกติ ดังที่เห็นได้จากเหตุการณ์เหล่านี้
เมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา พบเต่าทะเล Olive Ridley1 ที่ถือเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กว่าแสนตัวกลับขึ้นมาวางไข่ในรอบ 7 ปี หลังจากที่เว้นมาตั้งแต่ปี 2013 บนชายหาด Rushikulya และ Gahirmatha รัฐโอดิชา ประเทศอินเดีย ในช่วงที่มาตรการล็อคดาวน์ในประเทศได้เริ่มต้นขึ้น
ทำให้มลพิษทางอากาศทั่วโลกลดลง
หลังจากหลายๆ ประเทศได้เริ่มใช้มาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ หรือที่เรียกว่า Lock Down จำกัดการเดินทางของประชาชน หรือให้งดออกจากที่อยู่อาศัย ผลปรากฎว่า มลพิษทางอากาศของประเทศเหล่านั้นลดลง อย่างมีนัยสำคัญ
โดยดัชนีที่ใช้ชี้วัดมลพิษในอากาศ ได้แก่ ปริมาณฝุ่น PM 2.5 และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่องค์การอนามัยโลก ระบุว่าเป็นก๊าซเรือนกระจกอันตราย ที่มีสาเหตุมาจากกระบวนการดำรงชีวิตของพืช การทำอุตสาหกรรม และการเผาผลาญเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบต่อสุขภาพร้ายแรงได้
- จีน มีปริมาณก๊าซ NO2 ลดลงประมาณ 10 – 30% 2
- สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงที่สุดในโลก หลังจากประกาศให้ลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน ปริมาณก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงไปประมาณ 30% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3
- อิตาลี มีปริมาณก๊าซ NO2 ลดลงประมาณ 40% 2
- อินเดีย ประเทศที่มีประชากรราว 1,400 ล้านคน หลังรัฐบาลประกาศ Lock Down ห้ามออกจากบ้าน ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ พบว่าค่าความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ ณ เมืองหลวงของประเทศ กรุงนิวเดลี ลดลงจากช่วงก่อนการประกาศถึง 71%4
สำหรับประเทศไทย จากภาพถ่ายดาวเทียม ESA’s Sentinel-5P ของ European Space Agency satellite 5 เปรียบเทียบระหว่างเดือนธันวาคม 2562 (ก่อนไวรัสแพร่ระบาด) และ เดือนมีนาคม 2563 พบว่าปริมาณความหนาแน่นของไนโตรเจนไดออกไซด์ มีการลดระดับลงเป็นอย่างมาก
ไวรัสโควิด-19 ส่งผลดีอย่างไรต่อธุรกิจ?
เหตุการณ์การแพร่ระบาดนี้ส่งผลให้หลายธุรกิจมีรายได้ที่ลดลง แต่ในทางกลับกันมันได้สร้างโอกาสให้บางธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ ที่ช่วงนี้เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
ตลาดขายของออนไลน์เติบโตขึ้น 78.85% ในเดือนมีนาคม
เมื่อต้องถูกกักตัวอยู่ในบ้าน ห้างร้านต่างๆ ปิดทำการ จะออกไปไหนก็กลัวติดไวรัส “การซื้อสินค้าออนไลน์” ที่สามารถสั่งของแบบสบายๆ ผ่านแอปบนมือถือ หรือบนเว็บไซต์ จึงกลายมาเป็นช่องทางการซื้อของที่ตอบโจทย์กับปัญหาในช่วงนี้
จากกราฟแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงจำนวนคำสั่งซื้อ (Order) ออนไลน์ในเดือนมีนาคมของปี 2562 เปรียบเทียบปี 2563 ที่ผ่านมา กลับพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 79% ข้อมูลชุดนี้ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดซื้อของออนไลน์ ซึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคเราที่เปลี่ยนไปเพราะความจำเป็นต้องอยู่บ้าน ต้อง Work From Home ทำให้ต้องซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
โดยหมวดหมู่ของสินค้าที่มีอัตราการซื้อ (Conversion Rate: CVR) เติบโตขึ้น เมื่อเทียบในเดือนมีนาคม 2563 กับอัตราการซื้อเฉลี่ย 4 เดือนย้อนหลัง สูงสุด 5 อันดับแรก ตามข้อมูลจาก Priceza Insight พบว่าเป็นสินค้าประเภท สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เพิ่มขึ้นถึง 139%, หนังสือ 105%, ส่วนลดและแพ็กเกจท่องเที่ยว 102%, สินค้าแม่และเด็ก 96% และ อุปกรณ์สำนักงานและเครื่องเขียน 95% ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำเป็นในการใช้ชีวิตในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลดังกล่าว มีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ แม้ว่าช่วงนี้คนจะไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แต่สินค้าหมวดหมู่ ดีลส่วนลดและแพ็กเกจท่องเที่ยว กลับมีอัตราการซื้อที่สูงขึ้นมาก ซึ่งจากการสำรวจพบว่าในเดือนมีนาคม สินค้าประเภทแพ็กเกจท่องเที่ยว มีการจัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดที่ค่อนข้างสูง และสามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน รวมไปถึงสินค้าประเภทดีลส่วนลด ส่วนมากจะเป็น E-Coupon หรือ E-Voucher ที่สามารถใช้ได้เลยทันทีไม่ต้องรอการจัดส่ง เช่น คูปองส่วนลดบริการจัดส่งอาหาร Food Delivery เป็นต้น
ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อมากขึ้นกว่าเดิม
จากข้อมูลกราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงจำนวนรายการสินค้า (SKU) รวมบน Marketplace รายใหญ่ของไทย 3 แห่ง Shopee Lazada และ JD Central บน Priceza.com ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 ก่อนเกิดเหตุการณ์ไวรัสระบาด เปรียบเทียบกับช่วง เดือนมีนาคม 2563 ด้านล่าง พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านรายการ ซึ่งไพรซ์ซ่าสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากจำนวนผู้ขาย หรือ SMEs ที่ขยับกิจการมาสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น
ในมุมผู้บริโภคการที่ผู้ขายมีจำนวนเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้เรามีตัวเลือกในการซื้อสินค้ามากขึ้น ไม่จำกัดว่าจะต้องซื้อจากร้านค้าเพียงไม่กี่รายอีกต่อไป (ในบางประเภทสินค้า) นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างร้านค้า ที่ต้องออกโปรโมชั่นมาลดราคามาเพื่อแย่งลูกค้า ซึ่งผลประโยชน์ก็จะตกที่ผู้บริโภคเรา ในเรื่องการได้ซื้อราคาสินค้าที่ถูกลงมา
สรุป
จากข้อดีของไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาทั้งต่อโลกและเศรษฐกิจ ล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นที่หากการแพร่ระบาดนี้จบลง สิ่งต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เพราะเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น ล้วนเกิดมาจาก “ความจำเป็น” จำเป็นที่ต้องอยู่บ้าน, จำเป็นต้องซื้อของออนไลน์เพราะกลัวการติดเชื้อ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ทุกภาคส่วนรวมถึงตัวผู้บริโภคเอง จึงควรใช้โอกาสนี้หาแผนเสริมรักษาสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นให้คงอยู่สืบต่อไป และจำเป็นต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงระลอกใหม่อีกครั้งเมื่อภัยจากไวรัสสิ้นสุดลง
ภาพจาก Twitter @DrAshJac
แหล่งที่มา
4. edition.cnn.com/2020/03/31/asia/coronavirus-lockdown-impact-pollution-india-intl-hnk/index.html
5. dhruvmehrotra3.users.earthengine.app/view/earther-time-series