15 พฤษภาคม 2568 ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี รองหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและกรรมการบริหาร พปชร. กล่าวว่า
กรณีที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอคณะรัฐมนตรีจะออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบโทเคนดิจิทัล G-Token เตือนให้ข้าราชการกระทรวงการคลังระวังจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ ในกรณีที่ กระทรวงการคลังตีความว่า การออกโทเคนดิจิทัลซึ่งสามารถทำได้ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เข้าข่ายปฏิบัติถูกต้องตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 นั้น ไม่น่าถูกต้อง
เพราะในการออกพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ ในปี พ.ศ. 2548 เมื่อ 20 ปีก่อน ยังไม่มีเรื่องเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล แต่เพิ่งจะมีพระราชกำหนดในปี พ.ศ. 2561
รวมทั้ง การพิจารณาในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 จะเห็นคำนิยามสำหรับ ตราสารหนี้ ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน และพันธบัตร ซึ่งล้วนเป็นเอกสารแห่งหนี้ แต่ไม่มีสิ่งใดที่สามารถตีความได้ว่า เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเลย
ส่วนการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ ครม. ว่าสามารถใช้มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ในการออกโทเคนดิจิทัล G-Token ได้นั้น
ก็น่าจะเป็นการตีความที่ผิด เพราะมาตรานี้บัญญัติว่า “การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้หรือวิธีการอื่นใดก็ได้” คำว่า “วิธีการอื่นใด” ย่อมต้องหมายถึงวิธีการที่มีเอกสารแห่งหนี้เช่นเดียวกับเอกสารสัญญาหรือตราสารหนี้
แต่ทั้งนี้ ถึงแม้นิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กำหนดให้เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ถือในการได้มาซึ่งสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง แต่ก็เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่แสดงสิทธิ ไม่ได้มีสภาพเป็นเอกสารแห่งหนี้
ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ครม. อาจจะรอดจากความผิด เพราะในมติที่อนุมัติ มีการระบุว่าให้เป็นไปตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 แต่ผู้ที่ต้องรับความเสี่ยงเต็มที่ ก็คือข้าราชการ กระทรวงการคลังนั่นเอง
ดังนั้น จึงขอแนะนำว่า ข้าราชการควรเสนอเรื่องแย้งเพื่อให้รัฐมนตรีคลังเป็นผู้สั่งการในเรื่องดังกล่าว และเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว