นิ่วในไต ความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ในพฤติกรรมของคุณ

ใครจะคิดว่าการดื่มน้ำน้อย หรือการกินอาหารที่มีโซเดียมสูง อาจนำไปสู่โรคนิ่วในไตได้ ถึงแม้โรคนี้ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่หากปล่อยทิ้งไว้นาน ไม่รีบมารักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมและไตวายได้ในที่สุด

นายแพทย์นุพัชร ยอดคุณธรรม ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า นิ่วในไต เกิดจากการสะสมของแร่ธาตุและสารเคมีในปัสสาวะที่ตกตะกอนและก่อตัวเป็นก้อนแข็งในไตหรือทางเดินปัสสาวะ ก้อนนิ่วเหล่านี้อาจมีขนาดเล็กจนไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่หากมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและอุดตันในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดเอวเรื้อรัง ปัสสาวะเป็นเลือด มีการติดเชื้อในระบบปัสสาวะที่จะทำให้มีไข้ หนาวสั่น หากนิ่วมีขนาดใหญ่มากและตกค้างในไตเป็นเวลานาน อาจทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกรวยไตได้

นิ่วในไตเกิดจากหลายปัจจัย เช่น

  • การดื่มน้ำน้อยทำให้ปัสสาวะเข้มข้น และแร่ธาตุต่าง ๆ ตกตะกอนได้ง่าย
  • การกินอาหารที่มีแคลเซียมหรือกรดยูริกสูง เช่น เนื้อแดง อาหารเค็ม และน้ำตาล
  • กรรมพันธุ์ หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยมีนิ่วในไต อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • ปัจจัยด้านสุขภาพ เช่นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ

การวินิจฉัยนิ่วในไตจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลประวัติด้านสุขภาพและผลการตรวจร่างกายของผู้ป่วย เช่นการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

นิ่วในไตเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายดีได้ โดยมีการรักษาดังนี้

  • การกินยาคลายท่อไตทำให้นิ่วตกลงมาได้ง่ายขึ้น หรือยาช่วยละลายนิ่ว ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ได้กับนิ่วที่อยู่บริเวณท่อไตส่วนปลายที่มีขนาดเล็กมากกว่า 5 มิลลิเมตร
  • การสลายนิ่ว (Extracorporeal shock wave lithotripsy:ESWL) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วในไตขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร และนิ่วมีความแข็งไม่มาก โดยมักมีข้อจำกัดหลายอย่างในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก, ตั้งครรภ์ และนิ่วที่อยู่ด้านล่างของไต(lower pole stones)
  • การผ่าตัดรักษานิ่วในไตผ่านรูที่ผิวหนัง (Percutaneous nephrolithotomy:PCNL) เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะกับนิ่วขนาดกลางถึงใหญ่ ต้องอาศัยศัลยแพทย์ที่มีความชำนาญและเครื่องมือเฉพาะสำหรับการกรอนิ่วผ่านการเจาะรูที่ผิวหนัง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่อการเสียเลือดมากอยู่
  • การผ่าตัดเปิดเพื่อรักษานิ่ว วิธีนี้ได้รับความนิยมน้อยลงในปัจจุบัน เพราะต้องมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียเลือดมาก และอาจทำให้การทำงานของไตลดลงได้หลังการผ่าตัด

ปัจจุบันมีวิธีการรักษานิ่วในไตโดยไม่ต้องผ่าตัด คือการส่องกล้องสลายนิ่วโดยใช้เลเซอร์ผ่านทางท่อไต (RIRS)” เป็นเทคนิคใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม ที่สามารถรักษานิ่วในไตได้ดีทุกขนาด ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผู้ป่วยไม่มีบาดแผล เสียเลือดน้อย ใช้ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้น และสามารถนำนิ่วมาวิเคราะห์หาชนิดของนิ่ว เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม โรคนิ่วในไตเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพที่ดี เช่น การดื่มน้ำให้เพียงพอและการควบคุมอาหาร หากมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนิ่วในไต ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

Written By
More from pp
รมว.พม.-ภริยา นำคณะคู่สมรส ออท.ประจำประเทศไทย เยี่ยมชม งานฝึกอาชีพ พัฒนาศักยภาพสตรีไทย โชว์เมนู ผัดไทย-ต้มข่าไก่-ข้าวเหนียวมะม่วง
24 กุมภาพันธ์ 2568 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ภริยา ให้การต้อนรับ...
Read More
0 replies on “นิ่วในไต ความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ในพฤติกรรมของคุณ”