เภสัช จุฬาฯ เผยผลวิจัยชีวเภสัชภัณฑ์จากพืช ยับยั้งเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลอง หวังต่อยอดผลิตยารักษามะเร็งในคน

ครั้งแรกของไทย! อาจารย์คณะเภสัชฯ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จพัฒนาเทคโนโลยีผลิตแอนติบอดี้จากพืชยาสูบ มีผลยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลอง หนึ่งในความหวังการเข้าถึงยาและการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลง

จากความสำเร็จระดับโลกในการวิจัยผลิตวัคซีนโควิด-19 จากพืชยาสูบ วันนี้ ทีมนักวิจัยจาก ใบยา ไฟโตฟาร์ม บริษัทสัญชาติไทยในสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยความสำเร็จอีกขั้นในการวิจัยผลิตยาแอนติบอดี้จากพืชยาสูบ ที่พบว่าสามารถลดขนาดและยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองได้!
“ทีมวิจัยของเราพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการผลิตโปรตีนจากพืชเพื่อทำยาประเภทแอนติบอดี้ โดยหวังจะช่วยลดต้นทุนการผลิตยาเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศเข้าถึงยาได้ง่ายและกว้างขวางมากขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร.วรัญญู พูลเจริญ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความตั้งใจในการวิจัยชีวเภสัชภัณฑ์เพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยแนวทางภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเพิ่งได้รับรางวัลผลงานวิจัยประจำปี 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ที่มาของแนวคิดผลิตยาแอนติบอดี้จากพืชยาสูบ

รศ.ดร.วรัญญู อธิบายถึงแนวทางการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดว่า “โรคมะเร็งเกิดจากการที่เซลล์มะเร็งจับกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน แล้วบล็อกการทำงานของเซลล์ในร่างกาย การรักษาด้วยยาคีโมที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเป็นการใช้ยาเข้าไปฆ่าเซลล์มะเร็งในร่างกาย แต่สำหรับแนวทางการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดหรือเซลล์บำบัด ไม่ได้มุ่งไปที่การทำลายเซลล์มะเร็ง แต่จะใช้ยาเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ภูมิคุ้มกันในระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้น บล็อกไม่ให้เซลล์มะเร็งจับกับเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันจัดการเซลล์มะเร็งเอง”

แนวทางการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยาประเภทแอนติบอดี้ที่นำมาใช้สำหรับการรักษาในแนวทางนี้มีราคาแพงมาก

“กระบวนการผลิตยายังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทั้งวัสดุอุปกรณ์และอาหารที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเซลล์ การขยายขนาดการผลิตด้วยเทคนิคการเพาะเลี้ยงเซลล์ เหล่านี้ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ยาจึงมีราคาแพงไปด้วย”

ทีมวิจัยภายใต้การนำของ รศ.ดร.วรัญญู จึงริเริ่มการวิจัยที่จะผลิตยาประเภทแอนติบอดี้ ด้วยเทคโนโลยีของคนไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิตยา และเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

พืชยาสูบ โรงงานผลิตยาภูมิคุ้มกันบำบัด

ด้วยการสนับสนุนจาก CU Enterprise รศ.ดร.วรัญญู ดูแลหน่วยปฏิบัติการวิจัยสำหรับการผลิตเภสัชภัณฑ์จากพืช โดยเน้นการพัฒนาและการผลิตรีคอมบิแนนท์โปรตีน สารเมทาบอไลต์ทุติยภูมิ และไวรัสจากพืชผ่านเทคโนโลยีชีวภาพของพืช โดยใช้พืช เช่น ยาสูบ เป็นโฮสต์ในการผลิตยาและวัคซีน

ทั้งนี้ ต้นยาสูบที่ใช้เป็นสายพันธุ์จากออสเตรเลียชื่อ Nicotiana benthamiana โดย รศ.ดร.วรัญญู ให้เหตุผลว่าสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ที่ง่ายต่อการใส่เชื้อแบคทีเรียมและมีปริมาณการแสดงออกของยาที่ต้องการในปริมาณมาก

“เราใช้พืชเป็นเสมือนโรงงานผลิตโปรตีนที่เราต้องการ โดยเราใส่ยีนที่สามารถผลิตแอนติบอดี้เข้าไปในพืชยาสูบ เพื่อให้ต้นยาสูบผลิตแอนติบอดี้ (ยา) ที่ต้องการออกมา จากนั้นก็เอาโปรตีนที่ได้ (แอนติบอดี้) สกัดมาทำให้บริสุทธิ์ ซึ่งเราพบว่าแอนติบอดี้ที่ผลิตออกมาจากพืชสามารถจับกับโปรตีนบนผิวของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันได้”

รศ.ดร.วรัญญูกล่าวถึงผลการวิจัยในสัตว์ทดลองว่า “แอนติบอดี้ที่ทีมวิจัยจุฬาฯ ผลิตจากพืชสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองได้ เซลล์ของก้อนมะเร็งในหนูมีขนาดลดลง ซึ่งความสามารถในการทำให้เซลล์มีขนาดลดลง เทียบเท่าได้กับยาที่ใช้ในท้องตลาด”

ผลจากการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ในวารสาร Scientific Reports

เทคโนโลยีผลิตยาจากพืช ความมั่นคงทางยาและการรักษาโรคของคนไทย เพื่อคนไทย

สำหรับการวิจัยขั้นต่อไป รศ.ดร.วรัญญู กล่าวว่าจะเป็นการทดสอบความปลอดภัย ความเป็นพิษ และการศึกษาลักษณะโครงสร้างของยา ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะได้นำส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขออนุมัติทำการทดสอบในมนุษย์

“หากการศึกษาวิจัยนี้สำเร็จ เราสามารถผลิตยาได้เองในประเทศ ก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิตยาลง และจะมีส่วนช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านยาลดลง ผู้คนจะเข้าถึงยาเพื่อการรักษาโรคมะเร็งได้มากขึ้น”

รศ.ดร.วรัญญู กล่าวว่านอกจากโรคมะเร็งแล้ว เทคโนโลยีการผลิตแอนติบอดี้จากโปรตีนจากพืช ยังสามารถใช้สำหรับการพัฒนายาหรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ ได้อีกหลายโรค ซึ่งปัจจุบัน ทีมนักวิจัยกำลังศึกษาการรักษาและป้องกันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศกำลังพัฒนา เช่น โรคพิษสุนัขบ้า โรคมือเท้าปาก โรคติดเชื้อไวรัสอีโบล่า นิปาห์ เป็นต้น

รศ.ดร.วรัญญู ย้ำเป้าหมายสูงสุดในความพยายามคิดค้นพัฒนายาว่าคือการสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงด้านยาและการรักษาโรคเพื่อคนไทย และนักวิจัยไทยมีศักยภาพและเทคโนโลยีในการพัฒนายาไม่แพ้บริษัทยายักษ์ใหญ่ต่างชาติเลย

Written By
More from pp
ห้างเซ็นทรัลจัดงาน ”CENTRAL MEGA SALE” ลดสูงสุด 70% ที่ ห้างเซ็นทรัลทุกสาขา
ห้างเซ็นทรัล ลดกระหน่ำกลางปี ชวนนักช้อปพบสินค้าราคาดีทุกชั้นทุกแผนกลดสูงสุด 70% ที่งาน “CENTRAL MEGA SALE” (เซ็นทรัล เมก้า เซล) ลดหนักท็อปฟอร์ม Now Normal แห่งวงการช้อป พร้อมสิทธิ์ลด/รับเพิ่มสูงสุด 37% จากเดอะวัน
Read More
0 replies on “เภสัช จุฬาฯ เผยผลวิจัยชีวเภสัชภัณฑ์จากพืช ยับยั้งเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลอง หวังต่อยอดผลิตยารักษามะเร็งในคน”