เปลว สีเงิน
ชีวิตเป็นของเรา ชะตาเป็นของฟ้าและดิน
ช่วง ๗-๘ วันที่หายไป
ผมไปเล่นเกม “ยื้อชีวิต” มา ๒ ขยัก!
คืน ๒๗ มีนา.ปวดกระเพาะปัสสาวะจนหน้าเขียว ต้องเข้าห้องฉุกเฉินให้หมอ “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ช่วยสวน
บ่ายโมงกว่าๆ ของวันที่ ๒๘ มีนา.๖๘ เสียบสายปัสสาวะนอนมองเพดานห้องอยู่บนชั้นที่ ๑๕ อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
จู่ๆ รู้สึกเหมือนมีมือยักษ์มาเขย่าห้อง อาการคล้ายนั่งเรือโต้คลื่นในทะเล ห้องโคลงเคลง…สั่นเหมือนเจ้าเข้า เอียงวูบวาบไปมา
ตามด้วยเสียงเพดานห้องลั่นเปรี๊ยะๆ…กร๊อบๆ รางม่านรูดบนเพดานเหนือเตียง ทำท่าจะร่วงลงมาทับผม
รับรู้ได้ทันทีว่า “แผ่นดินไหว”!
มองฝ่าแดดแจ๋ออกไปทางหน้าต่าง เห็นอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาลเริงระบำยิมนาสติก
ก็ยังนอนชิลๆ
คิดว่า เดี๋ยวก็หยุด ผมก็ไม่ต่าง “คนตาบอดไม่กลัวเสือ” ค่าที่ว่าเกิดมาจนตะบันน้ำกิน ไม่เคยเห็นว่าประเทศไทยมีแผ่นดินไหวเป็นงาน-เป็นการ แบบนี้มาก่อน
แต่..เอ๊ะ ไม่ยอมหยุดแฮะ แถมเขย่าแรงเอาจริง-เอาจัง เพดานห้องยิ่งลั่นเปรี๊ยะๆ ท่าไม่ดีแน่ เผ่นก่อนดีกว่า…นึกในใจนะ
ค่อยๆ คลานลงจากเตียง เพราะต้องทะนุถนอมสายท่อปัสสาวะไม่ให้หลุด เพื่อไม่ให้สะเทือนกล่องดวงใจ
ขืนพรวดพราด ท่อหลุดนาทีนั้น-ชั่วโมงนั้นละก็ หมอที่ไหนจะมาสวนเสียบให้ล่ะ ไอ้หวังก็ต้องตายแน่ๆ!
คลานลงจากเตียง อุ๊ย…ตาเถนหก
เกงเกงชุดคนไข้เป็นแบบไม่มีเชือกผูก ใช้สำหรับคนไข้ที่สวนปัสสาวะมีสายระโยง-ระยางแบบผม
นาทีนั้น ตึกเหมือนถังไอติมหลอดกำลังปั่น เพดานห้องยิ่งรัวเสียงกร็อบบบ…กร็อบบบ ไม่ไหวละมั้ง…โยม…แบบนี้
มือขวาหิ้วขอบกางเกง มือซ้ายคว้าถุงปัสสาวะที่มีค่าเท่าชีวิตตั้งท่าโกย แต่สภาพนั้น เห็นท่า “ผ้าหลุด” กลางทางแน่
โดดไปเปิดตู้ แขนซ้ายหนีบกางเกง มือขวาดึงเข็มขัดจากกางเกงในตู้มาคาด ไม่ลืมคว้ากระเป๋าสตางค์กับโทรศัพท์มือยัดกระเป๋าคนเฝ้าไข้ที่ละล้า-ละลังอยู่ไปด้วย
นาทีนั้น ทั้งเนื้อ-ทั้งตัว นอกจากถุงปัสสาวะกับชีวิต ก็ไม่มีอะไรเหลือติดตัวเลย!
ก่อนเผ่น แหงะหน้าไปนอกหน้าต่าง อีกที….
เห็นฝุ่นขาวเป็นมวลก้อนใหญ่ฟุ้งตลบขึ้นท้องฟ้า รู้ว่าตึกถล่ม แต่ยังไม่รู้ว่าที่ไหน ตึกอะไร มารู้ภายหลังว่า เป็นอาคาร สตง. กำลังก่อสร้าง แถวตลาดจตุจักร
ถึงตอนนั้น ธรณีก็ยังไม่คลายพิโรธ โกรธจริง-โกรธจัง อาคารต่างๆ ในโรงพยาบาล ถึก อึด ทน สมกับที่เป็นโรงพยาบาลทหาร
แต่หยุ่นเหนียว ด้วยเทคนิกก่อสร้าง ไม่แข็งขืนกับแรงเขย่าระดับ ๕-๘ ริกเตอร์ ให้ดีดตัวไปมา ไม่ต่างหลิวลู่ไปตามแรงลม
เปิดประตูห้องออกไป พบคนไข้จำนวนหนึ่งและเจ้าหน้าที่-พยาบาลออกมารวมตัว ผมถามว่า “ต้องลงไปข้างล่างมั้ย”?
พยาบาลบอก..ลง…ลง “แล้วบันไดหนีไฟอยู่ทางไหนล่ะ?”
ภาวะผู้นำของคุณพยาบาลสาวเปล่งประกาย ชนิดเป็นนายกฯ ได้ทันที เธอบอกให้ทุกคนเดินตาม แล้วเธอนำไปทางบันไดหนีไฟ
ผมหิ้วถุงปัสสาวะเดินท่อกแท่กตามผู้นำลงไปจากชั้น ๑๕ ก็สมทบกับผึ้งแตกรังแต่ละชั้นที่ออกมารวมทางบันไดหนีไฟด้วยกัน
แล้วการผจญภัยของ “ร้อยชีวิต” ในทางร่วมก็เกิดขึ้น!
คนป่วยชายที่พยาบาลประคองลงบันไดเกิด “ช็อก” ฟุบลงไปนอนขวางคาบันได คนตามหลังก็ไปไม่ได้ เกิดจอแจคับคั่งในทางแคบกันขึ้นละทีนี้
คุณพยาบาลตะโกนบอกให้ลุก..ลุกขึ้น คนอื่นเขาจะได้ลงไปได้ ผู้ชายคนนั้น วัยไม่น่าเกิน ๕๐ ร่างกายกำยำ ไม่ยอมลุก บอกจะนอนอยู่ตรงนี้
คุณพยาบาล ๔-๕ คน ตัดสินใจช่วยกันประคองปีกชายผู้นั้นเปิดทางลงบันไดหนีไฟ พวกเธอนำหน้า ท่าจะหนักเอาการ เห็นได้จากสีหน้าคุณพยาบาลที่นำหน้า พยาบาลตะโกนว่า…คุณอย่าทิ้งตัว มันหนัก
เรียกว่าข้างหน้าทุลัก-ทุเล คนตามหลังที่จะลงก็ลงไม่ได้ บางคนเริ่มเรรวน ต้องชื่นชมคุณพยาบาลที่จะโกนปลุกใจชายคนนั้น สู้..สู้..อดทนไว้
แต่แกตกใจกลัวแผ่นดินไหวจนแข้งขา-มือไม้อ่อน ไม่สนใจเสียงปลุกเร้า แถมยังละเมอเรียกแม่
คุณพยาบาลหัวไวเป็นเลิศ รีบตะโกนเสียงก้อง บอกแม่คุณรออยู่ข้างล่าง อดทนเข้าไว้ อีกนิดเดียว…อีกนิดเดียว จะได้เจอแม่แล้ว
พอหิ้วปีกชายผู้นั้นทุลัก-ทุเลลงไปทีละชั้นได้
เจอคนไข้ทางตาอีกราย ในสภาพยังปิดตาไว้ คุณพยาบาล ๓-๔ คน ประคองลงบันได ก็น่าสงสารที่ตามองไม่เห็น
คุณพยาบาลต้องตะโกนนำทาง เอ้า…ก้าวขวา..ก้าวซ้าย…ค่อยๆ ไต่บันไดลงไปทีละขั้น ไปทีละชั้น
ท่านคิดเอาละกัน ในสภาพทุกคนตื่นตระหนก ต้องการออกจากตึกไปพื้นราบให้เร็วที่สุด
แต่คนเดินหน้า รายหนึ่งช็อก ขาอ่อน ไม่ยอมเดิน กับอีกคน ต้องให้สัญญาน ซ้ายย่างหนอ…ขวาย่างหนอ
แล้วที่คับคั่งอยู่ข่างหลังจะมีสภาพไหน ผมมันพวกวิญญานนักข่าวเข้าสิง อดไม่ได้ที่จะยกมือถือถ่ายภาพ คนข้างหลังยังบอก เดิน..เดิน!
จากชั้น ๑๕ พอโผล่จากบันไดหนีไฟเห็นพื้นล่าง เฮ้อ…โล่งใจ กางเกงก็จะหลุด จะขยับให้เข้าที่ก็ไม่ถนัด เพราะอีกข้างต้องหิ้วถุงกล่องดวงใจ ก็ต้องใช้มือเดียวพยายามดึงขึ้นมา
ที่พื้นล่าง สับสนอลหม่านทั้งคนป่วย-ไม่ป่วยจากอาคารต่างๆ ออกมารวมกัน ผมยืนหิ้วถุงเก้ๆ กังๆ เด่นเป็นสง่า ไม่รู้จะไปทางไหน
มีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล มาจูงมือผมไป นำรถเข็นมาให้นั่ง แล้วเข็นออกไปตามถนนราชวิถี
พาไปนั่งรวมๆ ในหมู่ชาวรถเข็นด้วยกันบนถนนฝั่งตรงข้ามป้าย “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” นั่นแหละ
ก็นึกในใจ จะมีซักกี่คนที่โชคดีเหมือนผม
ในขณะที่คนเป็นแสน-เป็นล้าน ตื่นตระหนก สับสนอลหม่าน หนีภัยแผ่นดินไหว
แต่ผมกลับได้นั่งชิลๆ กลางถนน-กลางเมือง ดูความเป็นไปของแต่ละชีวิต ของแต่ละผู้คนร่วมสังคมชาติ และการบริหารของผู้นำรัฐบาลตระกูลชิน ยามประเทศวิกฤต
ต้องชมตัวเองว่า “บุญมา-วาสนาส่ง” ในรอบศตวรรษจริงๆ ที่ได้นั่งรถ มีคนเข็น ออกมาให้นั่งดูบ้าน-ดูเมือง เช่นนี้!
สงบใน อยู่กับกล่องดวงใจ ท่ามกลางความอึงอลและแออัดของคนป่วยและญาติที่ต้องอพยพนั่งอยู่กลางถนน
ข้างๆ มีอาจารย์ใหญ่พระมงกุฎเกล้ากับลูกศิษย์แพทย์ที่กำลังสอนจากคนไข้จริงๆ เข็นเตียงคนไข้หนักจากตึกมาอยู่ข้างๆ ด้วย
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เห็นการทำงานของแพทย์-พยาบาล บุคคลากรทางการแพทย์ กระทั่งนักศึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า รวมทั้งทหาร
ต้องบอกว่า “เอาหัวใจผมไปเลย”!
ในเหตุการณ์วิกฤต ถ้าจะมีอะไรถึงขั้นเป็น-ขั้นตาย
“แพทย์-พยาบาล” มีอันเป็นไปก่อนแล้วนั่นแหละ
คนป่วย-คนไข้ ถึงจะเป็นไปตามบุญวาสนาของแต่ละคน
จงอางหวงไข่ เป็นเช่นไร “แพทย์-พยาบาล” ปกป้องด้วยห่วงคนไข้ ก็เป็นเช่นนั้น!
ผมนั่งรถเข็นดู “หลากชีวิต” ด้วยใจสุข เพราะไม่เพียงเห็นแพทย์-พยาบาลเอาชีวิตเข้าแลกกับชีวิตคนป่วยเท่านั้น
กับคนไทยด้วยกัน ที่ว่า “คนไทยไม่ทิ้งกัน” นี่เรื่องจริง มีคนหนึ่งเห็นผมตากแดด ก็นำพัดลมมือถือเล็กๆ มาเป่าให้
เย็นกลางแดดนั้นซ่านถึงหัวใจ เกิดชาติหน้าฉันใด ขอให้เกิดในแผ่นดินไทย ได้พานพบกับคนไทยด้วยกันทุกชาติไปเถิด
ดูสิ…ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่คนรู้จัก ยามมีทุกข์-มีภัย คนไทยไม่เคยทิ้งกัน อะไรที่พอช่วยแบ่งทุกข์-แบ่งสุขกันได้ คนไทยไม่เคยรั้งรอที่จะทำ!
เดี๋ยวๆ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้าง ทหารบ้าง จิตอาสาบ้าง เอาน้ำมาแจก มีเจ้าหน้าที่มาดูป้ายข้อมือ แล้วเข็นรถไปหลบแดดบ้าง ไปรวมเข้ากลุ่มบ้าง
ในความมืดมิดทางข่าวสารว่าแผ่นดินไหวจะพอสยายยิ้มได้เมื่อใด ทางโรงพยาบาลย่านนั้น จะเป็นอายุรศาสตร์เขตร้อนหรือพระมงกุฏเกล้าก็ไม่ทราบ
เอาเครื่องขยายเสียงมาประกาศให้รู้ทิศทางคร่าวๆ ว่า ให้รออาฟเตอร์ช็อกอีกซัก ๒ ชั่วโมงครึ่ง อาจจะเข้าไปข้างในได้
จากบ่ายๆ โมงแก่ๆ จนบ่าย ๔ โมงกว่าเห็นจะได้ สภาพพอจะวางใจได้ เจ้าหน้าที่พระมงกุฎเกล้ามาเข็นข้ามฟากกลับเข้าภายในโรงพยาบาล
ให้นั่งอยู่แถวๆ ศาล “ท้าวหิรัญพนาสูร” ก่อนเข็นไปเขากลุ่มคนไข้จากตึกเดียวกันใกล้ๆ “เทวราชสภารมย์” พระราชวังพญาไท
บริเวณนั้น เห็นคนไข้อาการหนักจำนวนมากถูกเข็นจากตึกต่างๆ มารวมกัน ทั้งในเทวราชสภารมย์ ทั้งตามอาคารต่างๆ ที่ถูกปรับสภาพเป็นสถานพยาบาลฉุกเฉิน
ผม…จากที่รู้สึกเป็นคนป่วยที่ถูกทอดทิ้ง หายไปทันที กลับต้องสงสาร-เห็นใจ และซาบซึ้งจนอยากกอด “แพทย์-พยาบาล” เหล่านั้น
แพทย์-พยาบาล ถูกระดมมาฟูมฟัก รักษาคนไข้หนักที่หามลงมาทั้งเตียง เขาเหล่านั้น ไม่มีเวลากระทั่งจะเงยหน้าจากคนไข้นับร้อยที่เรียงรายไปทั่วทั้งในและนอกอาคาร
ราวๆ ๕ โมงเย็น ภายนอกพูดกันเป็นข่าวต่อมาว่า มีหญิงปวดท้องจะคลอดลูก แพทย์ทำคลอดให้ที่ “เทวราชสภาภิรมย์” นั้น
ความจริงไม่ได้คลอดที่ “เทวราชสภาภิรมย์” หากแต่ทำคลอดที่
“สมิตสโมสร” ซึ่งเพิ่งสร้างมาได้สัก ๖-๗ ปีนี้เอง เพื่อไว้ใช้ service เวลามีงานที่สนาม
เด็กที่คลอด “นาวาโทหญิงชูจิต จิตต์แก้ว” หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ตั้งชื่อเป็นมงคลนามว่า “สมิตตา”
จนกระทั่งพระอาทิตย์ของวันคล้าย “วันสิ้นโลก” อ่อนแสง ผมชักว้าเหว่ว่าจะถูกทิ้งเดียวดายเป็นคนไข้นกขมิ้น ที่ค่ำนี้ไม่รู้จะนอนไหนขึ้นมาตะหงิดๆ
คุณพยาบาลเดินมา ก็ถามถึงอนาคตผม คุณพยาบาลก็ตอบไม่ถูก หันไป-หันมา เจอคุณหมอหนุ่มเดินหน้าเครียดรีบไปดูอาการคนไข้ป่วยหนัก
ใช้ความเห็นแก่ตัวหยุดคุณหมอไว้ ถามจะกลับขึ้นตึกได้ไหม คุณหมอบอกยังไม่ได้ ให้ผมกลับบ้านไปก่อน แล้วอีก ๗ วันค่อยมาถอดสายปัสาสาวะ!?
แบบนี้ “ไอ้หวังตายแน่” ขอให้คุณหมอถอดสายออกเลย หมอบอกยังไม่ได้ ขืนถอด ซักตี ๑ ตี ๒ ก็ปัสสาวะไม่ออกอีก กลับมาก็จะติดขัดเรื่องหมอ
แล้วคุณหมอท่านก็รีบไป เหมือนกับพระอาทิตย์ที่ชักรถหนี จนความมืดขมุกขมัวเข้าครอบคลุม
สุดท้าย ๓ ทุ่มกว่า ถึงได้ซมซานหิ้วชีวิตกับถุงปัสสาวะมาเข้าห้องฉุกเฉินและแอดมิตต่อที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ให้คุณหมอวชิร คชการ ที่ผมเป็นคนไข้ประจำอยู่แล้วดูแลต่อ
ชีวิต ๒ ขยักที่เก็บตกก่อน “สุริยคราส” ของผมก็เป็นเช่นนี้ จึงรายงานให้ท่านทราบถึงเหตุจำเป็นที่ต้องหายหน้าไป ๗-๘ วัน
ถึงตอนนี้ “แม้ยังไม่เข้าที่” แต่ทนอดคิดถึงท่านไม่ไหว จึงขอเอาหางแหย่น้ำล่วงหน้าไว้ก่อน วันจันทร์ค่อยเข้าเรื่องกัน นะครับ!
เปลว สีเงิน
๕ เมษายน ๒๕๖๘