ผักกาดหอม
ตกใจ!
หลังจากตกใจกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่สร้างความเสียหายให้ประเทศไทยในวงกว้างแล้ว มาตกใจซ้ำกับคำพูดของ นายกรัฐมนตรีประเทศไทย
“…เรื่องแผ่นดินไหวถามตัวดิฉันก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะต้องทำตัวอย่างไร
ค่อนข้างที่จะเหมือนประชาชนคนไทยทุกคน เพราะเราไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีแผ่นดินไหวเป็นประจำและหนัก
ทุกคนคิดว่าตัวเองไม่สบาย ขาดน้ำตาลอะไรหรือไม่ ก็คงต้องให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องนี้…”
เป็นการแถลงข่าวหลังการประชุมติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวและมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ที่ศูนย์กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
ไม่ผิดครับที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า ต้องรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวอย่างไรบ้าง เพราะไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ
แต่ก็เป็นความรู้พื้นฐานที่อย่างน้อยผู้นำประเทศควรต้องรู้
ถ้าไม่รู้แสดงว่าไม่เคยแสวงหาความรู้รอบตัวเลย
ก็คงเป็นเช่นนั้น เพราะความรู้งูๆ ปลาๆ ด้านภูมิศาสตร์ ทำให้เราได้เห็นระดับความรู้ของนายกรัฐมนตรีมาแล้ว
“…น้ำท่วมเชียงใหม่เริ่มลดลงแล้ว ตัวของลำปาง กับลำพูน นะคะ ก็ อ่า.. น้ำจากเชียงใหม่ก็จะไป แต่ว่าไม่ท่วมเยอะนะคะ เพราะว่าน้ำก็เคลื่อนตัวไปลงเขื่อนภูมิพล และแม่น้ำโขงด้วยค่ะ…”
เป็นคำพูดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วช่วงไปตรวจน้ำท่วมภาคเหนือ
ถ้าเป็นไปตามที่ นายกฯ แพทองโพยว่า น้ำจะไหลจากที่ต่ำไปที่สูงครับ!
ก็ทำนองเดียวกันกับ เงินบาทแข็งมีผลดีต่อการส่งออก
ประเทศไทยได้ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีกันเนี่ย?
มีเด็กไทยจำนวนไม่น้อยครับรู้ว่า เมื่อแผ่นดินไหว สิ่งแรกที่ต้องทำคือ มุดใต้โต๊ะ
แต่ผู้ใหญ่บางคนบางประเภทอาจชอบ “ใต้โต๊ะ” มากกว่า
เริ่มหนาหูแล้วนะครับว่า ที่อาคารสำนักงาน ๓๐ ชั้น ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวนั้น อาจมาจากการคอร์รัปชัน
ใต้โต๊ะ นั่นแหละครับ
โครงการนี้พิรุธเพียบ!
คำยืนยันจาก “มานะ นิมิตรมงคล” ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT คือหนึ่งในการค้นหาหลักฐานที่จะนำไปสู่การดำเนินคดีคอร์รัปชันหลังจากนี้
“…องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ พบว่าการก่อสร้างหย่อนประสิทธิภาพ โดยเห็นได้จากการก่อสร้างล่าช้า ผู้รับเหมาหยุดงานเป็นช่วงๆ ซึ่งได้ทักท้วงมาโดยตลอด
โดยปกติโครงการจะเปิดให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เริ่มเข้าสังเกตการณ์ตั้งแต่เขียนข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) เพื่อป้องกันการล็อกสเปก การฮั้วประมูล
และการตั้งงบประมาณสูงเกินจริง
ให้ทุกขั้นตอนเป็นไปตามกฎหมายอย่างเปิดเผยโปร่งใส
แต่โครงการนี้ กลับไม่ได้รับอนุมัติจากรัฐให้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้ทาง สตง.เป็นผู้ติดต่อขอให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมโครงการนี้เอง
เนื่องจาก สตง.มีภารกิจตรวจสอบผู้อื่น เพื่อเป็นแบบอย่างการเปิดเผยโปร่งใส จึงต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์ภายนอกเข้ามาร่วมให้ความเห็น
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังจาก สตง.คัดเลือกผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดคุณสมบัติและการคัดเลือกผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรวมทั้ง TOR ดังกล่าว
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้รับเหมาโครงการนี้มีการหยุดงานเป็นช่วงๆ ในช่วงแรก และเมื่อทำงานต่อก็ทำอย่างล่าช้ามาก ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้ทักท้วงมาโดยตลอด
จนเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๘ สตง.แสดงท่าทีเตรียมยกเลิกสัญญาก่อสร้าง
ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ มีขอบข่ายหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารสัญญาก่อสร้างว่าถูกต้องตรงตามแบบก่อสร้างตามสัญญาหรือไม่ หากมีการแก้แบบ เพิ่มลดงานหรือวัสดุก่อสร้าง
สตง.และผู้ควบคุมงานจะต้องแจ้งให้ผู้สังเกตการณ์ทราบ
ส่วนเรื่องการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทางวิศวกรรมระหว่างการก่อสร้าง เช่น การแก้แบบ เพิ่มลดงาน เปลี่ยนวัสดุก่อสร้าง หรือดึงงานล่าช้าเป็นความรับผิดชอบของ สตง. และบริษัทผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ได้รับว่าจ้างเป็นผู้กำกับควบคุมผู้รับเหมาให้ก่อสร้างตามสัญญา
โครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เป็นมาตรการสากล ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ นำแนวคิดมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ โดยนำเสนอให้รัฐบาลไทยนำมาใช้ตรวจสอบความโปร่งใสในโครงการเมกะโปรเจกต์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๘
ปัจจุบันมีผู้ทรงคุณวุฒิอาสาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์อิสระจำนวน ๒๕๒ คน ร่วมสังเกตการณ์ ๑๗๘ โครงการ มูลค่ารวมกว่า ๒ ล้านล้านบาท
ประหยัดงบประมาณประเทศได้ ๗๗,๕๔๘ ล้านบาท
หรือร้อยละ ๖.๗ ของงบประมาณรวม
แต่มีข้อสังเกตว่าในช่วง ๕-๖ ปีที่ผ่านมา โครงการที่รัฐเลือกเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมกลับมีขนาดและความสำคัญลดน้อยลงเหลือไม่ถึง ๑ ใน ๓
เป็นเรื่องน่าเสียดายโอกาสของประเทศไทยที่จะใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐให้คุ้มค่า และส่งเสริมการทำงานของภาครัฐให้เปิดเผยโปร่งใสโดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน…”
นี่คือการแฉว่ามีการคอร์รัปชันในโครงการของรัฐมโหฬาร
เป็นความตั้งใจที่จะเลี่ยงการตรวจสอบจากภายนอก ทั้งๆ ที่มีข้อตกลงคุณธรรม
แต่กลับเพิกเฉย!
แม้ทาง สตง.จะชี้แจงมาละเอียดยิบ
“….สตง.ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต อีกทั้งยังได้ร่วมกับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ผู้ประกอบการ) จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔…”
แต่คำถามคือ ทำไมรัฐไม่อนุมัติให้โครงการนี้เข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม ทำให้ไม่มีผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมตั้งแต่ต้น
กลับมาขึงขังจะเลิกสัญญาในภายหลัง แต่ไม่มีการเลิกจริง
การทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้หลายขั้นตอน
กินอิฐ กินเหล็ก กินทราย กินกระทั่งความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
ทั้งหมดเป็นการกินใต้โต๊ะ
