เดือนแห่งความรักนี้ มาลองเช็คสุขภาพหัวใจกันหน่อยค่า หัวใจแข็งแรงดีอยู่ไหม? เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญ การรักษาสุขภาพหัวใจเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก การเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ สามารถช่วยลดความเสี่ยงและส่งเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงขึ้นได้ อาหารที่เรารับประทานทุกวันมีผลโดยตรงต่อระดับคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต และการอักเสบในร่างกาย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คุณหมอจึงได้แนะนำหลักการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อหัวใจ ได้แก่
1. เลือกอาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 กรดไขมันโอเมก้า 3 เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจ ช่วยลดการอักเสบ ลดการเกิดลิ่มเลือด และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาเทราต์ ปลาซาร์ดีน เมล็ดเจีย เมล็ดแฟลกซ์ วอลนัท
2. เลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันทรานส์เป็นไขมันที่ผ่านการแปรรูป เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) และลดคอเลสเตอรอลดี (HDL) ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ได้แก่ เบเกอรี่ เช่น คุกกี้ เค้ก และขนมหวานที่มีการใช้มาร์การีนหรือไขมันพืชที่ผ่านการแปรรูป อาหาร ขนมขบเคี้ยว
3. ลดการรับประทานโซเดียม การบริโภคโซเดียมในปริมาณมากสามารถทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด อาหารที่ช่วยลดโซเดียม ได้แก่ ผักใบเขียว ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ควินัว ถั่วเปลือกแข็ง และควรเลี่ยงการรับประทานอาหารกระป๋อง ซุปสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว
4. อาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล การลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเป็นการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล ได้แก่ ข้าวโอ๊ต ธัญพืช ไฟเบอร์จากผัก น้ำมันมะกอก อะโวคาโด
ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น อาหารที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยลดการอักเสบและคอเลสเตอรอล ลดการบริโภคไขมันทรานส์ที่มีผลเสียต่อสุขภาพหัวใจ ควบคุมการบริโภคโซเดียมที่ส่งผลต่อความดันโลหิต รวมถึงการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะยาว