อยากถูก “ยุบพรรค” ก็เชิญ #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

      น่าเอ็นดู….

“ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข” อาจารย์รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

เรื่อง “เพื่อไทย+พรรคประชาชน”

ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖ และเพิ่มหมวด ๑๕/๑ เข้าที่ประชุมรัฐสภา ๑๓-๑๔ ก.พ.

เป้าหมาย “แก้” เพื่อ “ฉีก” รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทิ้ง แล้วให้มี ส.ส.ร. ๒๐๐ คน เขียนฉบับใหม่ใช้แทน

๒๐๐ ส.ส.ร.นั้น ให้มาจากเลือกตั้ง เพื่อไทย-ประชาชนตั้งสเปกผู้สมัคร อายุ ๑๘ ปี ขึ้นไป สมัครเป็น ส.ส.ร.ได้เลย!?

จานรัฐศาสตร์ระดับดอกเตอร์ท่านนี้บอก วาระแรกให้ “รับหลักการ” ไปก่อน แล้วค่อยไปว่ากันในวาระสอง

เขามีเหตุผลสนับสนุนที่ให้ “รับไปก่อน” ว่า…..

ทั้งนี้ เพราะวรรคท้ายของคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๔ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่า  ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่    และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้งหนึ่ง”

ซึ่งตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ศาลฯ ไม่ได้กำหนดว่า ต้องลงประชามติ ๒ หรือ ๓ ครั้ง พร้อมทั้งยังระบุชัดเจนว่า “เป็นอำนาจของรัฐสภา” ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ที่ดอกเตอร์ยกมานี้ “ไม่ผิด” หรอกครับ….

แต่ยกมาครึ่งเดียว ไม่ต่างนักเรียนลอกคำตอบโจทย์คณิตศาสตร์เพื่อนมาตอบ โดยตัวเองไม่รู้ที่มาของคำตอบ

ฉะนั้น ผมจะยกคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๖๔ ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ ๑๑ มี.ค.๖๔ ส่วนประเด็นศาลฯ มีคำวินิจฉัย   เรื่องที่ “ประธานฯ วันนอร์” ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๐  วรรคหนึ่ง (๒)

กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖(๑) มาให้อ่านครบทั้งส่วนคำตอบและที่มาของคำตอบ

………………………….

ประเด็นรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่?

กรณีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอํานาจจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่?

พิจารณาแล้วเห็นว่า…..

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้กําหนดหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็น ๒ ระดับ ๓ ลักษณะ คือ

ระดับที่ ๑ สําคัญมาก

จะกําหนดให้การแก้ไขเป็นไปได้ยากมาก

ระดับที่ ๒ ไม่มีผลกระทบต่อรูปแบบของรัฐหรือโครงสร้างทางการเมืองมากนัก

จะกําหนดให้แก้ไขได้ในระดับที่ยากกว่าปกติ โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเป็นสำคัญ

ส่วน ๓ ลักษณะนั้น คือ

ลักษณะที่ ๑ ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

ลักษณะที่ ๒ การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องต่อไปนี้

๑) หมวด ๑ บททั่วไป

๒) หมวด ๒ พระมหากษัตริย์

๓) หมวด ๑๕ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

๔) เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหนงต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญู และ

๕) เรื่องเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระ ไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่และอํานาจได้ โดยให้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ

ญัตติ “ขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ที่คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภาหรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนเป็นผู้เสนอแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติด้วย และ

ลักษณะที่ ๓ การแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นใด ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกของทั้งสองสภา

ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมือง ดังกล่าวรวมกัน

และต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ดังนั้น “หลักการ” แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กําหนดข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๕ มิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยเด็ดขาด

ส่วน “หลักเกณฑ์” และวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นไปตามมาตรา ๒๕๖(๑) ถึง(๙)

และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสามารถกระทำได้โดยประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา ๑๕๖(๑๕)

โดยกำหนดให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๕๖ ซึ่งต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกําหนดโดยเคร่งครัดว่า

กรณีใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้โดยเด็ดขาด ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๕

หรือกรณีใด ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ หากแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ตามมาตรา  ๒๕๖ (๘)

การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. ทั้งสองฉบับต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาตามมาตรา ๒๕๖

ซึ่งมีหลักการและเหตุผลให้มีการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น โดยมีเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด ๑๕/๑ การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่

และมาตรา ๒๕๖/๑ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามหมวดนี้ นั้น
เห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๖(๑๕) บัญญัติให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

มุ่งประสงค์ให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อํานาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญได้กําหนดให้กระบวนการใช้อํานาจนิติบัญญัติของรัฐสภาในกรณีดังกล่าว มีหลักเกณฑ์และวิธีการ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการทําหน้าที่ในกระบวนนิติบัญญัติทั่วไป

โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญและรักษาความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ

กล่าวได้ว่าแม้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นอำนาจที่ได้รับมอบมา

ซึ่งถูกจำกัดทั้งรูปแบบกระบวนการและเนื้อหา

รัฐสภาจึงต้องทําหน้าที่ตามที่ได้รับมอบอย่างเคร่งครัด โดยไม่อาจกระทํานอกขอบของหน้าที่และอํานาจที่รัฐธรรมนูญกําหนดไว้ได้

การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ในเงื่อนไข ที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐานและให้เหมาะสมและสอดคลองกับมติมหาชน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๑๕

        เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เทานั้น

        ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทําขึ้นใหม่ทั้งฉบับ

        การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวด ๑๕/๑

        ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

อันเป็นการแก้ไขหลักการสําคัญที่ผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้

“หาก” รัฐสภาต้องการจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อน

ว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย

จึงดําเนินการจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

เมื่อเสร็จแล้ว….

ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

แล้วจึงนําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหมอมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย

เมื่อพระมหากษัตริยทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนําประกาศใช้ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทํารัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๔.ผลคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเหตุผลดังได้วินิจฉัยข้างต้น

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า………

รัฐสภามีหน้าที่และอํานาจจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้

โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า

ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่?

และเมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

——————————

เห็นมั้ย คำวินิจฉัยจะ “ยึดโยง” ซึ่งกันและกันในแต่ละประเด็นความ จะรวบรัดสรุปว่า

แก้มาตรา ๒๕๖ เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญแล้วตั้ง ส.ส.ร.เขียนใหม่ ศาลฯ บอกว่าทำได้โดดๆ แบบนั้น มันไม่ใช่

ศาลฯ ท่านปูพื้นมาเป็นลำดับว่า “ไม่มีบทบัญญัติให้จัดทําขึ้นใหม่ทั้งฉบับ”

แต่ถ้ารัฐสภาจะทำ ศาลฯ ใช้คำว่า “หาก”

หมายถึง ถ้าต้องการทำนอกเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติ ถามประชาชนก่อนว่าต้องการให้มีฉบับใหม่มั้ย?

นี่ ต้องทำประชามติ ๑ ครั้งก่อน ตามเงื่อนไข “หาก” ซึ่งนอกเหนือจากหลักเกณฑ์การทำประชามติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕๖

ความต่อมา ศาลฯ บอกว่า “เมื่อจัดทําร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

ตรงนี้ มี ๒ ขั้นตอนซ้อนกันอยู่

คือถ้าผ่านประชามติ “นอกรัฐธรรมนูญ” ครั้งที่ ๑ แล้ว การแก้ไขเพิ่มเติม หมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๑๕ ก็ต้องกลับเข้ามาเดินในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๒๕๖(๘)

นั่นคือ ต้องทำประชามติ เป็นครั้งที่ ๒ ตาม(๘)

เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ก็ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้ง คือเป็นครั้งที่ ๓ ตามคำวินิจฉัยศาลฯ

ยาวแล้ว สรุปจบเลยดีกว่า

ผมเห็นแย้งกับจานรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ท่านนั้นที่ให้สมาชิกรัฐสภาชุ่ยๆ คือ “รับหลักการ” ไปก่อน ในวาระแรก ว่า

ญัตติแก้เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญของ “เพื่อไทย+พรรคประชาชน” แท้งนอกมดลูก ตั้งแต่ขั้น “รับหลักการ” ชัวร์

เพราะศาลฯ วินิจฉัยไว้แล้ว…….

        “การจัดทํารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้มีหมวด ๑๕/๑

        ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐”

นั่นเท่ากับ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

อยาก “ถูกยุบพรรค” ก็เชิญเลย!

           เปลว สีเงิน

        ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ

 

 

 

Written By
More from plew
ทีมแพทย์ “ศูนย์วิจัย” จุฬาฯ – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน วัคซีน “Chula Cov19” จะเป็นวัคซีนที่ “ช้าหน่อย แต่ชัวร์” ด้านคุณภาพและความปลอดภัย ในบรรดาวัคซีนโควิด-๑๙ ที่มีอยู่ตอนนี้! ยิ่งกับปัญหา…....
Read More
0 replies on “อยากถูก “ยุบพรรค” ก็เชิญ #เปลวสีเงิน”