รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยโครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะครอบคลุมทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2567 นี้ ส่วนปี 2568 โรงพยาบาลในสังกัดจะพัฒนาระบบเชื่อมโยง/ส่งต่อข้อมูลในรูปแบบ Digital Online ทั้งหมด พร้อมเดินหน้าโครงการลดป่วย NCDs ให้ อสม.สอนประชาชนปรับพฤติกรรมสุขภาพ กินแบบนับคาร์บ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์
26 พฤศจิกายน 2567 ที่ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ท ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายในการขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ระยะที่ 4 โดยกล่าวว่า การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ฯ เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลที่มุ่งให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของหน่วยบริการ และยกระดับหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ มีการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ อาทิ ระบบการแพทย์ทางไกล ตู้ห่วงใย ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรการแพทย์ได้ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา 3 ระยะ ครอบคลุม 46 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) สามารถลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ถึง 23% และลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ สำหรับระยะที่ 4 นี้ จะดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ภายในสิ้นปี 2567 ส่วนในปี 2568 โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเชื่อมโยง/ส่งต่อข้อมูลสุขภาพในรูปแบบ Digital Online ทั้งหมด ผ่านระบบหมอพร้อม นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่นอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 5 เดือนกว่า ที่ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และขับเคลื่อนโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯตั้งแต่ระยะที่ 2 ซึ่งต้องบริหารงบประมาณของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประมาณปีละ 1.5 แสนล้านบาท ในการดูแลสุขภาพประชาชน พบว่า การใช้งบประมาณเพียงอย่างเดียวมีโอกาสที่จะไม่เพียงพอ เพราะจากข้อมูลผู้เข้ารับบริการผู้ป่วยนอกของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 304 ล้านคน/ครั้งต่อปี และมีการใช้งบประมาณของ สปสช. ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถึง 52% ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับพฤติกรรมสุขภาพ โดยเฉพาะการกินอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งจะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลในกลุ่มนี้ได้จำนวนมาก
“ขณะนี้ในพื้นที่ต่างๆ กำลังเร่งสื่อสารให้ อสม.ช่วยรณรงค์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการนับคาร์บ โดยตั้งเป้าให้ อสม. 1 คน สอนประชาชน 50 คน กระทรวงสาธารณสุขมี อสม.กว่า 1 ล้านคน คาดว่าสอนคนได้กว่า 50 ล้านคน เมื่อทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ เชื่อว่าอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 304 ล้านคน/ครั้งต่อปีจะลดลงส่งผลให้ลดภาระงานของบุคลาการทางการแพทย์ลดลงได้ ” นายสมศักดิ์กล่าว