หนึ่งในเหตุวิกฤต #ผักกาดหอม

ผักกาดหอม

ปล่อยไปไม่ได้

วันก่อน นายกฯ แพทองธาร พูดเรื่อง การจัดการพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำเอาโซเชียลร้อนฉ่า

“ยกตัวอย่างเช่น ไม่เห็นด้วยเรื่องเส้นที่ขีดกันก็นำมาคุยกัน หากคุยกันแล้วสมมติว่าไม่ลงตัว ฉันก็ไม่ถอย เธอก็ไม่ถอย จะทำอย่างไรดี ก็แบ่งผลประโยชน์กัน นั่นคือสิ่งที่คณะกรรมการต้องไปคุยกันต่อว่าจะเอาแบบไหนต่อ ที่พูดมานี้คือการยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าเอ็มโอยู ๔๔ มีเพื่ออะไร ถามว่าที่มาล่ารายชื่อจะยกเลิกเพื่ออะไร ให้เอาเหตุและผลมาคุย”

หากคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ​ JTC​ เพื่อจัดสรรผลประโยชน์​ร่วมทางทะเล​ ระหว่างไทยและกัมพูชา​ รับโจทย์นี้ไปดำเนินการ

ฉิบหายครับ!

มันง่ายขนาดนั้นเลยหรือ

ฉันไม่ถอยเธอไม่ถอย ฉะนั้นมาแบ่งกันคนละครึ่งเถอะ

นี่ไม่ใช่การแบ่งมรดกตระกูลชินวัตรนะครับ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ชาติ

จะเอาผลประโยชน์ของชาติไปแบ่งให้ชาติอื่น เพียงเพราะเจรจาเพื่อประโยชน์ของชาติตัวเองไม่สำเร็จไม่ได้

แบบนั้นภาษาชาวบ้านเรียกว่า มักง่าย

นายกฯ แพทองธารมีปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจเยอะครับ

ยิ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้เห็นระดับของความรู้ความสามารถ

ห่างไกลกับตำแหน่งผู้นำประเทศมากจริงๆ

ขอบคุณที่นายกฯ แพทองธาร ไม่รับเงินเดือน

แต่จะขอบคุณอย่างแรง หาก “อุ๊งอิ๊ง” กลับไปทำหน้าที่แม่ เลี้ยงลูก ที่บ้าน เพราะคุณตาไม่ยอมเลี้ยง จะเป็นผลดีต่อประเทศโดยรวม

หากดื้อจะอยู่ต่อ การเมืองหลังจากนี้จะโหดร้ายชนิดที่ “ทักษิณ ชินวัตร” เองก็ไม่เคยเจอมาก่อน

เพราะไม่ได้พังคนเดียว

แต่จะไปทั้งตระกูล

ตรรกะแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการแบ่งกันน่าจะมาจากอิทธิพลทางความคิดของ “ทักษิณ” ไทยและกัมพูชามีการเจรจาตกลงเรื่องพื้้นที่ทับซ้อนมาหลายครั้ง แต่ยังไม่ประสบความสําเร็จ เนื่องจากปัจจัยด้านสัดส่วนผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว

เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๙ “ทักษิณ” เดินทางไปเยือนกัมพูชา มีการเจรจาเพื่อแสวงประโยชน์ร่วมกันในการสํารวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติและนํ้ามันในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว

รัฐบาลทักษิณเสนอแบ่งพื้นที่ทับซ้อนเป็น ๓ เขต

โดยพื้นที่ตรงกลางใช้สัดส่วน ๕๐:๕๐ กัมพูชายอมรับข้อเสนอนี้

ส่วนเขตด้านซ้ายและด้านขวากัมพูชาเสนอสัดส่วน ๙๐:๑๐ ขณะที่ไทยเสนอ ๖๐:๔๐ จึงยังไม่สามารถหาข้อยุติได้จนถึงปัจจุบัน

“ทักษิณ” รู้ดีว่า ประเด็นปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นประเด็นทางการเมือง ที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก

มากพอที่จะนำไปสู่วิกฤตทางการเมือง กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลแพทองธารโดยตรง

แต่ก็ยังเดินหน้าเจรจาผลประโยชน์กับกัมพูชา ขณะที่เส้นเขตแดนยังไม่ชัดเจน

เอ็มโอยู ๔๔ คือความผิดพลาดของรัฐบาลไทยรักไทย

“สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในยุคนั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า..

“…เราได้ MOU นี้มาเมื่อปี ๒๕๔๔ ไม่ใช่ว่าได้มาง่ายๆ นะครับ เราใช้อำนาจต่อรองมากพอสมควรที่จะได้ MOU อันนี้มา

เราพูดกันว่าอยากจะเลิกอันนี้ ไม่เคยได้ยินกัมพูชาออกมาพูดว่าจะคัดค้านเลย เขาจะดีใจมากถ้าเรายกเลิก เพราะว่าเป็นความตกลงที่เราค่อนข้างจะได้ประโยชน์…”

มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับคำพูดของ นายกฯ แพทองธาร ที่บอกว่า การยกเลิก เอ็มโอยู ๔๔ เพียงฝ่ายเดียว โดนฟ้องร้องจากกัมพูชาแน่นอน

รัฐบาลระบอบทักษิณเปลี่ยนความคิดแบบกลับหลังหันเพราะอะไร

บนพื้นที่เส้น ๑๑ องศา กัมพูชาแทบไม่มีพื้นที่เลย

ฉะนั้น เอ็มโอยู ๔๔ คือความได้เปรียบของกัมพูชา

หากจะแบ่งผลประโยชน์โดยไม่สนใจเรื่องเขตแดนจะทำให้กัมพูชาได้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ไม่ควรได้ตั้งแต่แรก

และจะมีปัญหาในการเจรจาเรื่องเขตแดนในภายหลัง

ที่สำคัญรัฐบาลอาจทำขัดรัฐธรรมนูญ

แนวทางที่ “ทักษิณ” ปูทางไว้ ไม่ต่างจากการสละสิทธิ์สิ่งที่เราประกาศไว้แล้ว

เหมือนเป็นการสูญเสียอธิปไตย

เมื่อรัฐบาลมองว่า เอ็มโอยู ๔๔ เป็นแค่ข้อตกลงชั่วคราว ไม่มีผลเรื่องเขตแดน

แต่การแสดงเจตนาว่าจะใช้สิทธิร่วมกัน ก็เป็นการไปแสดงเจตนารมณ์แล้วว่าพื้นที่ซึ่งอ้างว่าทับซ้อนกันไม่ใช่สิทธิของไทย ๑๐๐%

เป็นการสละอธิปไตย

เนื่องจากทรัพยากรใต้ท้องทะเลอยู่ค่อนมาทางเขตไทย

เรื่องนี้จึงใช้ตรรกะ ฉันไม่ถอย เธอก็ไม่ถอย ฉะนั้นมาแบ่งผลประโยชน์กัน ไม่ได้เด็ดขาด

อย่าลืมนะครับ กัมพูชาเตรียมการเรื่องนี้มาตลอด

ประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวครั้งแรกเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ แต่ประเทศไทยไม่ยอมรับเนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ต่อมากัมพูชาได้ประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๑๕ โดยประธานาธิบดีลอน นอล ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๑๖,๒๐๐ ตารางไมล์

ก็เส้นที่ผ่าเกาะกูดนั่นแหละครับ

แม้การตีความของกัมพูชาไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๗ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเขตแดนทางบก ไม่ใช่ทางทะเล

แต่กัมพูชายึดแนวที่ตัวเองตีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่เปลี่ยนแปลง

รัฐบาลไทยในอดีตมีความสามารถด้านการต่างประเทศพอตัวทีเดียว

ยิ่งช่วงที่ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งต้องต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก พระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ไทยนั้น นักล่าอาณานิคมยังต้องเกรงขาม

แต่การต่างประเทศของรัฐบาลระบอบทักษิณ ไม่ต่างจากเอาพ่อค้ามารักษาดินแดนของประเทศ

ผลประโยชน์กลุ่มทุนมาก่อนความมั่นคงของชาติ

หากจะเกิดวิกฤตกับรัฐบาลแพทองธาร

เหตุนี้คือหนึ่งในนั้น

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
รัฐมนตรีพลังงานตรียมเสนอ ครม.ตรึงราคาไฟฟ้า 3.99 บาท ก๊าซหุงต้ม 423 บาท ต่อถัง ขอประชาชนเข้าใจลดค่าใช้จ่ายต้องทำอย่างระวัง สอดคล้องกับการคลังของประเทศ
8 ธันวาคม 2566 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นห่วงเรื่องค่าไฟฟ้า ที่ขณะนี้ตัวเลขค่าไฟที่ 4.20...
Read More
0 replies on “หนึ่งในเหตุวิกฤต #ผักกาดหอม”