วัน “นาฬิกากรรม” #เปลวสีเงิน

เปลว สีเงิน

“๒๒ พฤศจิกา.” คือวันนี้หละ
ได้รู้กันซะทีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะ “รับ-ไม่รับ” คำร้อง “นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่?
ที่ร้องขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๙ โดยกล่าวหาว่า “นายทักษิณ ชินวัตร” และ “พรรคเพื่อไทย”
ร่วมกันใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใน ๖ ประเด็น มีดังนี้

ประเด็นที่ ๑ ทักษิณสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต

ประเด็นที่ ๒ ทักษิณสั่งรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่ “สมเด็จฮุนเซน” ให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา

ประเด็นที่ ๓ ทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเดิม ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า “มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ประเด็นที่ ๔ ทักษิณสั่งแทนพรรคเพื่อไทยเจรจากับแกนนำพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาล “นายเศรษฐา ทวีสิน” อดีตนายกฯ เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่บ้านพักส่วนตัวของทักษิณ

ประเด็นที่ ๕ ทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐ ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

ประเด็นที่ ๖ ทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทยนำนโยบายของตน ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา

ทั้ง ๖ ประเด็นนี้ ….
ก็วันนี้แหละ ศาลฯ ประชุมกันจะ “รับ-ไม่รับ” คำร้องทั้ง ๖ ประเด็นนั้นไว้พิจารณาวินิจฉัย หรือรับไว้พิจารณาวินิจฉัยเฉพาะบางประเด็น?

ห้วงเวลานี้ เราควรให้เกียรติศาล ไม่ควรพูดจาในเชิงชี้นำไปทางใด-ทางหนึ่ง ฉะนั้น “รอฟังศาล” นั่นแหละ ดีที่สุด!

ประเด็นที่เราควรคุยเพื่อขจัดความสับสน-สงสัยบางประการ ก็คือในมุมเกี่ยวเนื่องกับขั้นตอน “อัยการสูงสุด”

เพราะ ๒-๓ วันก่อน มีข่าวเผยแพร่ว่า “นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ” อัยการสูงสุด
ส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องเเละผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมความเห็นว่า…

“เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้”

ตรงนี้ บางคนอาจเข้าใจสับสน ว่าอัยการสูงสุดดำเนินการแล้ว ทั้งมีความเห็นว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์การล้มล้างการปกครอง สั่งไม่รับดำเนินการตามที่นายธีรยุทธร้องขอไปแล้ว

เมื่อเห็นขาวเช่นนี้…..
ก็อาจเข้าใจกันว่า “เรื่องจบแล้ว” ในเมื่ออัยการสูงสุดพิจารณาวินิจฉัยเช่นนั้น ก็ไม่จำเป็นที่ศาลฯ จะรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยอีก

ดังนั้น วันนี้ ก็ไม่มีอะไรต้องลุ้นอีกว่าศาลฯจะ “รับ-ไม่รับ” แล้ว!
ฟังเผินๆ อาจมีคนเข้าใจอย่างนั้น แต่ไม่ใช่หรอกครับ เรื่องกฎหมาย พูดลอยๆ มันก็เลื่อนลอย มันต้องมีหลักเป็นบรรทัดฐานบ่งชี้ในทางยึดถือ “ความใช่-ไม่ใช่” กันบ้าง

ฉะนั้น เรามาไล่เลียงกันดู ก่อนอื่นต้องทราบเป็นพื้นฐานว่า การร้องของนายธีรยุทธนี้
เขาร้องตาม “รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๙” ที่บอกว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ

ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง”

สรุปประเด็น จะไปร้องศาลฯ โดยตรงไม่ได้ ต้องไปร้องที่อัยการสูงสุด ให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ร้องขอให้ศาลฯ วินิจฉัยสั่งการ

ถ้าอสส. “ไม่รับดำเนินการ” หรือ “ไม่ดำเนินการ” ภายใน ๑๕ วัน ผู้ร้องถึงจะมีสิทธิไปยื่นร้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ได้เลย!

เอ้า…ทีนี้มาดูนะ…
ว่าเมื่อนายธีรยุทธร้องต่ออสส.แล้ว ออส.ดำเนินการอย่างไร?

-๒๔ กันยา.๖๗ นายธีรยุทธไปยื่นคำร้องอัยการสูงสุด
-๒๕..๒๖..๒๗…กันยา.ไปจนถึง ๘ ตุลา.ครบ ๑๕ วัน

ปรากฎว่า “ไม่มีเสียงตอบรับใดๆจากปลายสาย”!

ความหมายก็คือ ยื่นต่ออัยการสูงสุดแล้ว เก็บเรื่องไว้เฉยๆ ไม่ดำเนินการอะไรเลย จนครบ ๑๕ วัน

มันก็เข้าตามวรรค ๓ ของมาตรา ๔๙ “ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้”

ดังนั้น….
-๑๐ ตุลา.๖๗ นายธีรยุทธ จึงไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
-๒๒ ตุลา.๖๗ ศาลฯ มีหนังสือสอบถามไปทางอสส.ว่า “ดำเนินการตามคำร้องของนายธีรยุทธไปแล้วอย่างไร…รวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงใด?”

“ให้ทางอสส.รวบรวมสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วพร้อมพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้ศาลฯ ภายใน ๑๕ วัน”

-๘ พฤศจิกา.๖๗ อัยการสูงสุดมีความเห็นส่งถึงศาลฯ ว่า “เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง”
จึงไม่ได้ดำเนินการรับคำร้องและได้ส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

ฟังเช่นนี้แล้ว เราก็มาดูรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙…
ดู “วัน-เวลา” เส้นทางเดินของเรื่องตามขั้นตอนทั้งหมด จนถึงวันที่ ๒๒ พฤศจิกา.คือวันนี้

ก็เห็นชัดว่า นายธีรยุทธไปยื่นอัยการสูงสุด ๒๔ กันยา.แต่ไม่มีเสียงตอบรับใดๆ จากทางอสส.
๑๐ ตุลา.จึงไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

จน ๒๒ ตุลา.ศาลฯประชุมพิจารณาคำร้องนายธีรยุทธแล้ว ถึงได้ถามกลับไปที่อสส.ว่าดำเนินการตามคำร้องไปแล้วอย่างไร ให้รวบรวมทั้งหมดส่งให้ศาลฯภายใน ๑๕ วัน

ในข้อควรจะเป็น ถ้าอสส.รับเรื่องแล้วดำเนินการ ไม่ได้นำเรื่องไปดอง ศาลฯ ร้องขอ ก็สามารถรวบรวมสิ่งที่ดำเนินการไปแล้วส่งมอบให้ศาลได้ทันที

แต่ปรากฏว่า หลังจากที่ศาลฯ ขอไป
ทางอัยการสูงสุด ถึงเรียกผู้ร้อง “นายธีรยุทธ” ไปให้ถ้อยคำ เรียกผู้ถูกร้องที่ ๒ “พรรคเพื่อไทย” โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ไปให้ถ้อยคำ

จนเมื่อ ๑๙ พฤศจิกา.นี่เอง ปรากฏเป็นข่าวออกมาว่า เมื่อ ๘ พฤศจิกา….

“นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ” อสส.ส่งบันทึกสอบถ้อยคำทั้งพยานฝ่ายผู้ร้องเเละผู้ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเเล้ว
พร้อมความเห็นเเจ้งไปยังศาลฯเห็นว่า….

“เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของคณะทำงานที่เสนอมายังอัยการสูงสุดก่อนหน้านี้”

เหล่านี้ ยืนยันด้วยตัวมันเองว่า ตอนธีรยุทธร้อง อสส.รับเรื่องแล้ว ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย จนครบ ๑๕ วัน
เพิ่งดำเนินการภายหลัง คือหลังจากที่นายธีรยุทธไปยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธนรรมนูญ
และศาลฯ ถามกลับไปที่อสส.ว่าดำเนินการไปแล้วอย่างไรบ้างนั่นแหละ

ถ้าจะตอบตามตรงเดี๋ยวนั้น ก็คงต้องตอบว่า “ทางอสส.ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย”!
ก็คงตอบอย่างนั้นไม่ได้ เพราะอย่างนั้น จึงต้องเรียกผู้ร้องและผู้ถูกร้องสอบถ้อยคำย้อนหลัง

“ดำเนินการ” เพียงเพื่อใช้ “ตอบคำถามศาลฯ” เท่านั้น!
ไม่ใช่การดำเนินการภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ ว่าเป็นการ “วินิจฉัยสั่งการ” ของอสส.เมื่อรับคำร้องของนายธีรยุทธไปแล้วแต่อย่างใด

เพราะเรื่องมัน “พ้นขั้นตอนอำนาจ” อัยการสูงสุดไปอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว!

ฉะนั้น การดำเนินการ “ย้อนหลัง” และความเห็นอสส.
ไม่ต่างนักเรียนส่ง “คำตอบข้อสอบ” แก้เก้อ แถมส่งหลังระฆัง “หมดเวลา” ดังแล้วด้วยซ้ำ!

ฉะนั้น “ไม่มีผล-ไม่มีความหมาย” อะไร ต่อการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ประเด็น “รับ-ไม่รับ” คำร้องของนายธีรยุทธ

ดูกระดาษคำตอบอัยการสูงสุด ยิ่งน่าสงสาร เรื่องนี้ พูดง่ายๆ จำเลยมี ๒ คน โจทก์ ๑ คน คือนายธีรยุทธ

ทักษิณ เป็น “จำเลยที่ ๑” พรรคเพื่อไทยเป็น “จำเลยที่ ๒”
แต่อสส.เรียกเพียงโจทก์ กับ จำเลยที่ ๒ เท่านั้น ไปให้ถ้อยคำ

แต่ “จำเลยที่ ๑” คือ “นายทักษิณ ชินวัตร” ข่าวไม่ปรากฎว่า ทางออส.เรียกไปให้ถ้อยคำด้วยแต่อย่างใด!?

ปกติ “จำเลยที่ ๑” นี่แหละ ตัวการ แต่อสส.นอกจากไม่เรียกสอบแล้ว แต่กลับมีความเห็นว่า

“เรื่องนี้ไม่เข้าหลักเกณฑ์เป็นการล้มล้างการปกครองจึงมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ”!?

อืมมมม…เข้าข่าย “ความเห็นทิพย์” หรือไม่หนอ?

เปลว สีเงิน
๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from plew
เป็นเห้…ไร ไปหาเมีย? – เปลว สีเงิน
เปลว สีเงิน แหม….. ทำเป็นหัวร้อนเหมือนรุ่นใหม่ ๓ นิ้วกะโหลกกลวงไปได้ จาน’ปิยบุตรก็! เป็นถึงเจ้าของแนวคิด “แรดิเคิล” สถาบันกษัตริย์ ปลุกปั่น-ยุยงนักศึกษาให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”...
Read More
0 replies on “วัน “นาฬิกากรรม” #เปลวสีเงิน”