กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 หวั่นกลุ่มการเมืองไม่หยุด แบงก์ชาติถูกครอบงำ เศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ

หวั่นกลุ่มการเมืองไม่หยุด แบงก์ชาติถูกครอบงำ เศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ ขาดความน่าเชื่อถือ 830 คนร่วมลงชื่อกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม เรียกร้อง 7 กรรมการคัดเลือก ยึดมั่นหลักการ “รักษาความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย”

จากกรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน นัดประชุมคณะกรรมการฯ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เพื่อพิจารณาลงมติเลือกประธานกรรมการและกรรมการ ธปท. โดยในฝั่งกระทรวงการคลัง ได้เสนอชื่ออดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.คลัง ให้คณะกรรมการฯคัดเลือกเป็นประธานบอร์ด ธปท. นั้น

โดยวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ได้แถลงการณ์ฉบับที่ 3 เรียกร้องให้ 7 กรรมการคัดเลือกยึดมั่นหลักการ ‘รักษาความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย’ โดยมีเนื้อหา ตามที่กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน นักวิชาการ คณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์และสาขาอื่น ๆ หลายสถาบันทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมืองผ่านการคัดสรรประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ต่อมาประธานคณะกรรมการคัดเลือกได้ขอเลื่อนการพิจารณาลงมติเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยออกไปเป็นวันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน ศกนี้ และได้ปรากฏกลุ่มบุคคลและบุคคลที่ใกล้ชิดกลุ่มการเมืองบางส่วนออกมาแสดงความเห็นโต้แย้ง ดังนี้

ประการที่หนึ่ง แสดงความเห็นสนับสนุน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง โดยระบุว่าเป็นคนเก่ง มีความรู้ความสามารถเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมขอเรียนว่า พวกเราไม่ได้สนใจตัวบุคคลว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนเก่งหรือไม่ แต่เป็นห่วงกังวลในหลักการว่าผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องไม่เป็นผู้มีความสัมพันธ์อันแนบแน่นทางการเมือง ต้องไม่เคยกระทำหรือแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการแทรกแซงกดดัน ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายทางการเงินตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ

เพราะหากธนาคารกลางของไทยต้องดำเนินการตามความต้องการของฝ่ายการเมือง ย่อมทำลายความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ที่ต้องรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศให้มั่นคงในระยะยาว และอาจสร้างความร่ำรวยให้กับกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มบุคคลหนึ่งบุคคลใด

ทางกลุ่มไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล ไม่ว่าจะเป็นนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง หรือนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ แต่เกรงว่าผู้ใดก็ตามที่มีความสัมพันธ์และคุณลักษณะดังกล่าว ย่อมเป็นที่ห่วงกังวล และยิ่งถ้าผู้นั้นเป็นคนเก่งมีความสามารถสูงก็ยิ่งสร้างความห่วงกังวลว่าอาจใช้ความเก่งความสามารถในการแทรกแซงครอบงำได้

ประการที่สอง มีข้อโต้แย้งว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรมีความเป็นอิสระจากการเมือง เนื่องจากเคยทำผิดพลาดมาก่อน เช่น ในวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลสามารถเข้าแทรกแซงได้

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ขอเรียนว่าการอ้างความผิดพลาดในอดีตเพื่อเข้าแทรกแซง ไม่เป็นเหตุและผลเพียงพอ เพราะการแทรกแซงโดยภาคการเมืองอาจก่อให้เกิดได้ทั้งผลดีและผลเสีย ไม่ควรมองว่าเป็นผลดีอย่างเดียว ในขณะที่ข้อมูลเชิงประจักษ์จากประสบการณ์ทั่วโลกแสดงว่า การแทรกแซงมักก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีอย่างเทียบไม่ได้

หลักการความเป็นอิสระของธนาคารกลางที่ยึดถือกันทั่วโลก จะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง ซึ่งหมายถึงความน่าเชื่อถือของการดำเนินนโยบายการเงินด้วย หากธนาคารกลางไม่เป็นอิสระและถูกสั่งการได้โดยฝ่ายการเมือง การดำเนินนโยบายการเงินก็จะไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ เพราะฝ่ายการเมืองมีปัจจัยแปรผัน กดดัน หรือจูงใจจำนวนมาก คาดเดาได้ยาก ความไม่แน่นอนจะเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจเพราะก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงนโยบายที่กระทบภาคธุรกิจอย่างมาก

และที่สำคัญที่สุด หากความน่าเชื่อถือของนโยบายการเงินหมดไป ความสามารถที่จะรักษาเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายก็จะหมดไปเช่นกัน ส่งผลให้เงินเฟ้ออาจทะยานสูงขึ้นและควบคุมยากเพราะนโยบายการเงินขาดความน่าเชื่อถือเสียแล้ว ซึ่งเป็นผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

ถ้าจะกล่าวโดยหลักการแล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกรวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงสถาบันทุกแห่งสามารถทำผิดพลาดได้ในบางครั้ง กระบวนการดำเนินนโยบายจะต้องเน้นให้ธนาคารกลางมีความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ผ่านการดำเนินนโยบายการเงินที่โปร่งใสอธิบายได้ พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และแก้ไขเมื่อพบข้อผิดพลาด ในเรื่องของความโปร่งใสธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงระเบียบและแนวปฏิบัติภายหลังวิกฤติปี 2540 อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นธนาคารกลางที่ได้รับการประเมินในระดับที่ดีในระดับสากล

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคมและภาคส่วนต่างๆ ขอเรียกร้องอีกครั้งให้คณะกรรมการคัดเลือกทั้ง 7 ท่าน ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพิจารณาอย่างถ่องแท้ต่อคุณสมบัติที่เป็นหลักสากลของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางทั่วโลก ต้องคำนึงถึงประโยชน์และเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ปราศจากความเกรงใจและความสัมพันธ์ทางการเมือง ยึดมั่นหลักการที่สังคมไทยในอดีตได้พยายามสร้างให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นสถาบันที่เป็นอิสระจากการครอบงำเพื่อหาผลประโยชน์ในระยะสั้นทางการเมือง

ทั้งนี้ ณ วันที่ 9 พ.ย.2567 มีผู้ร่วมลงนามสนับสนุนข้อเรียกร้องแสดงความห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทยกับกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม 830 คน รวมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 4 ท่าน ได้แก่ ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล , ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ และนายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
“อนุทิน” ภูมิใจผลงาน สธ. คุมโควิดมีประสิทธิภาพ ประชาชนสุขภาพดี ฟอกไตฟรีเดินหน้า เรื่องการเมือง “ภูมิใจไทย” ยังเนื้อหอม อุบชื่อนักการเมืองย้ายเข้า
22 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าว...
Read More
0 replies on “กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 หวั่นกลุ่มการเมืองไม่หยุด แบงก์ชาติถูกครอบงำ เศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ”