เฮ้อ…..
เราจะต้องนับหัวคนป่วย-คนตายเป็น “ปฏิทินรายวัน” กันอีกนานมั้ยเนี่ย?
พูดแล้วก็เหงาใจนัก!
แต่ไม่น่ะ ….เราต้องอยู่กับโลกเป็นจริง เมื่อโควิดมันมาจริง เราเจ็บจริง-ตายจริง ก็ควรจับมือกัน ร่วมแรง-ร่วมใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สู้มัน
คนไทยต้องไม่ทิ้งกัน…….
พวกเราทำได้ และทำให้โลกเห็นมาแล้ว ในทุกครั้งที่มีวิกฤติ และนี่ ก็จะเป็นอีกครั้ง
ที่เราต้องทำให้โลกจำ ว่านี่…คือไทย!
ล่าสุด เมื่อวาน (๒๙ มีค.๖๓) ผมก็ภาวนาให้ศรหักหัวลง แต่ก็…อืมมม มันไม่หัก กลับพุ่งขึ้น
ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม ๑๔๓ ราย ยอดสะสมป่วยโควิดเพิ่มเป็น ๑.๓๘๘ ราย
ก็อยากจะบอกสักคำว่า…
เวลานี้ ไม่ใช่เวลาที่พวกเราจะหยิบด้านลบในงานอันพึงมีบ้าง ตั้งประเด็น เพื่อก่นโทษ, ก่นตำหนิ ในทางจับผิด-จับถูกกัน
ช่วยกันสร้างบรรยากาศบวกเป็นกำลังใจให้แพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์ก่อนจะดีกว่า
รวมถึง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน-อสม. และผู้ใหญ่บ้าน, อบต.ด้วย
ไม่ต้องอะไรมาก……..
สวมหน้ากากอนามัย เป็นวินัยเคร่งครัด ต่างคน-ต่างอยู่ ห่างๆ กันเข้าไว้ ไม่ออกจากบ้านได้เป็นการดี ไม่โพสต์-ไม่แชร์หวังยุแหย่ด้านชั่ว
แค่นี้ ก็ช่วยชาติแล้ว รอรับเหรียญได้เลย!
ถ้าเราไม่เซฟตัวเอง ก็อย่าหวังว่ามือหมอหรือมือใคร จะช่วยเซฟเราทุกคนให้รอดจากโควิดได้
เห็นโลงศพเรียงรายสุดลูกหู-ลูกตาที่อิตาลีกันแล้วใช่มั้ย ก็อยากกระซิบซอกหูทุกคน
“เพียงสวมหน้ากากอนามัย ก็ช่วยลดโลง ลดโลกร้อน ป่าไม้ก็จะเหลือ”
และอยากบอกอีกซักคำ ดูทิศทางจรของโควิดตอนนี้ มันบ่ายหน้าจากกรุงเทพฯ กระจายออกต่างจังหวัดตามไปกับไทยคืนถิ่นแล้ว
ถ้าตัวเลขป่วยรายวัน ยังเป็นเลข ๓ หลักอยู่อย่างนี้ เป็นไปได้สูง “สิบวัน-พันคน” สิ้นเมษา.กว่า “ครึ่งหมื่น” แน่
ตายไม่ต้องพูดถึง!
เมื่อทิศทางเป็นอย่างนี้ ด่านหน้าที่จะสกัดให้การป่วยเพิ่มหรือลด ต้องฝากไว้กับ อสม. “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” แล้วหละ
ทำไมอสม.จึงสำคัญตอนนี้ อธิบายก็ยาว เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม อยากให้อ่านที่คุณ Artit Sun โพสต์เฟซ ดังนี้
Artit Sun
“เวลาพูดถึงคนที่สู้กับโควิด-19 เรามักนึกถึงหมอหรือพยาบาลเป็นกลุ่มแรก ๆ
แต่คนที่มีบทบาทสำคัญแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ คือ ผู้ใหญ่บ้านและ “อาสาสมัครสาธารณสุข” หรือ “อสม.” ตามหมู่บ้านต่างๆ
ที่ถือเป็น “ด่านแรก” ของการคัดกรองโรคในระดับชุมชน เพราะตั้งแต่มีการประกาศปิดห้างในกรุงเทพฯ ทำให้คนแห่กลับต่างจังหวัด ช่วงวันที่ ๒๒ มีนาคม ที่ผ่านมา
อสม.ก็ต้องพบกับความท้าทายครั้งใหญ่….
ในฐานะ “เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หน้าที่ของอสม.คือ ต้องออกติดตามหากลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านตัวเอง
เพื่อเก็บข้อมูล, ให้ความรู้เรื่อง social distancing, คอยติดตามแบบวันต่อวัน ว่ากลุ่มเสี่ยงมีไข้สูงมั้ย แอบไปเที่ยวเล่นจับกลุ่มปาร์ตี้ที่ไหนรึเปล่า?
ถ้ามีไข้สูง จะต้องคอยติดตามอาการอย่างน้อย ๓ วัน ถ้าไม่ดีขึ้น ถึงค่อยเรียกโรงพยาบาลมารับไปตรวจอย่างละเอียดอีกที
เพราะโรงพยาบาลรัฐต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ไม่สามารถตรวจทุกคนที่สงสัยได้ ต้องให้อสม.คัดกรองไปก่อน ว่าคนไหนน่าจะใช่
ใช่จริงๆ ถึงค่อยไปโรงพยาบาล!
. ข้อดีของสังคมชนบท คือ คนในชุมชน จะรู้อยู่แล้วว่า ลูกหลานใคร ไปทำงานนอกพื้นที่บ้าง?
ใครกลับ-ไม่กลับบ้าง หรือแม้แต่คนนอกพื้นที่เข้ามาก็จะรู้ ทำให้การหาตัว “กลุ่มเสี่ยง” จึงไม่ยากเท่าไหร่
. เรามีโอกาสได้ติดตามอสม. แถว อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปตามตัวกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้านอยู่ ๒-๓ วัน ที่นั่นมีเคสหลากหลายมาก
มีทั้งคนหนุ่มสาวทำงานในห้าง, นักศึกษาเพิ่งสอบเสร็จ, ป้าหมอนวดกลับจากพัทยา, กลุ่มคนงานก่อสร้างจากหัวหิน ที่มารับงานในหมู่บ้าน
แต่กลุ่มใหญ่ที่สุด เห็นจะเป็นคนที่ไปทำงานในบ่อนฝั่งปอยเปต ซึ่งช่วงนี้ต้องกลับมาอยู่บ้าน เพราะด่านพรมแดนทุกด่านในสระแก้วปิดหมด
…………………
. ที่สำคัญนอกเหนือจากคำสั่งกับแบบฟอร์มเอกสารที่ได้รับมาแล้ว อสม.แทบไม่ได้รับอะไรเป็นตัวช่วยในการทำงานเลย
อย่างหน้ากากอนามัยที่ควรจะมีเพียงพอสำหรับใช้เองและไปแจกจ่ายให้กับกลุ่มเสี่ยง ก็แทบไม่มี
วิธีแก้ คือ อสม.ต้องออกเงินซื้อเอง ซึ่งก็อย่างที่รู้ว่าตอนนี้แพงและหายากมาก
บางวันก่อนไปลงพื้นที่ ป้าอสม. หายตัวไปเกือบชั่วโมงและกลับมาพร้อมกับหน้ากากอนามัย ๔-๕ อัน แล้วบอกว่า ไปวิ่งหามาทั้งหมู่บ้าน ได้มาแค่นี้
. หรืออย่างอุปกรณ์วัดไข้ ก็มีแค่ปรอทแบบแท่ง ซึ่งในสถานการณ์ปกติอาจจะใช้ได้
แต่สำหรับโรคติดต่อทางการสัมผัส การเอาปรอทวัดไข้อันเดียวไปเหน็บจั๊กกะแร้คนวันละ ๔๐-๕๐ คน มันก็เสี่ยงเหมือนกันนะ ถึงจะเอาแอลกอฮอล์เช็ดแล้วก็เถอะ
ส่วนเครื่องวัดไข้แบบสแกน ผู้ใหญ่บ้านหลายคนพยายามหาซื้อด้วยตัวเอง แต่ทุกคนบอกตรงกันว่า ตอนนี้ต่อให้มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ ต้องรออย่างเดียว
. แม้ความเสี่ยงของอสม.อาจไม่เท่าแพทย์หรือพยาบาลที่ต้องทำงานกับคนที่ป่วยจริงๆ
แต่การที่อสม.ต้องเจอกลุ่มเสี่ยงวันละหลายสิบคน ซึ่งไม่รู้ว่าใครที่รับเชื้อมาแล้วบ้าง ก็ทำให้พวกเขาถือเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน
และเราต้องอย่าลืมว่า อสม.ถึงมีหน้าที่ดูแลสุขภาพคนในชุมชนก็จริง แต่พวกเขาไม่ได้เป็นแค่อสม.อย่างเดียว
พวกเขาอาจเป็นปู่ย่าตายายที่ต้องกลับบ้านไปเลี้ยงหลานที่ยังเล็ก หรืออาจเป็นลูกหลานที่ต้องกลับไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้านด้วยเช่นกัน
ทุกคนรู้ดีว่าเมื่อกลับบ้านแล้ว ควรต้องแยกตัวไปอยู่คนเดียวเช่นเดียวกับกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ
แต่ด้วยข้อจำกัด ทำให้หลายคนไม่สามารถแยกตัวได้ การป้องกันตัวเองระหว่างทำงานจึงสำคัญมาก
. นั่นคือ เหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงควรได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือจากภาครัฐไม่น้อยไปกว่าคนที่ทำงานในโรงพยาบาล
หรืออย่างน้อยที่สุดให้พวกเขาทำงานได้อย่างปลอดภัยจนกว่าจะพ้นวิกฤตินี้ไปได้ก็ยังดี”
ครับ….
คงเข้าใจกันแล้วว่า อสม.คือใคร จากโพสต์คุณ Artit Sun
ถ้าจะเทียบให้เห็นภาพจะๆ
กระทรวงสาธารณสุข โดย “แพทย์-พยาบาล-บุคลากรทางการแพทย์” คือ “ทัพหลวง”
อสม. “บุคลากรทางการแพทย์” ตอนนี้กระจายทุกจังหวัดของประเทศมีกว่า ๑ ล้านคน แต่ละจังหวัด เป็น “ทัพลาดตระเวน หัวเมือง”
คอยสอดส่องดูแลข้าศึก คือความเจ็บไข้ได้ป่วยเบื้องต้นของคนในชุมชน, หมู่บ้าน เรียกว่า “เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย” ของคนในหมู่บ้าน คือภาระในอ้อมแขน อสม.
เมื่อโควิด มันรุกประชิดติดหัวเมือง……..
“อสม.” ก็ต้องทำหน้าที่เป็นปราการทั้งด้านแรกและด่านสุดท้าย ต้องรบปะทะสุดใจขาดดิ้น
ย้ำนะครับ อสม. เป็น “อาสาสมัคร” ทำงานด้วยใจ ไม่มีเงินดาว-เงินเดือน มีแค่ค่าตอบแทนเดือนละไม่ถึงพันบาท
ใช่ว่าใครอาสาเป็นก็รับหมด….
ต้องผ่านการคัดกรองจากคนในชุนชน “การศึกษาไม่ต้อง” แต่ต้องเป็น “คนดี-มีศีลธรรม-ถือความซื่อสัตย์”
ต้องรับผิดชอบดูแลด้านสาธารณสุขเบื้องต้น โดย ๑ อสม.ต่อ ๑๐-๑๕ หลังคาเรือน
เมื่อวาน เห็น “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” คณะบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์เฟซในหัวเรื่อง “ตามหาอสม.เจ้าของเสียง” ว่า
“ผมและเพื่อนได้เห็นคลิปการปฏิบัติหน้าที่ของพี่น้อง อสม.ในการเฝ้าระวังการติดเชื้อโควิด-19 มีความประทับใจอย่างมาก ต่อความรับผิดชอบ เอาจริงเอาจัง กล้าหาญ โดยเฉพาะคำพูด “ตั๋วต้องกักตัว ตั๋วต้องรับผิดชอบต่อสังคม”
และเชื่อว่าจะเป็นแบบอย่างให้พี่น้อง อสม.ทั่วประเทศ ช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังเชื้อนี้อย่างจริงจัง ทำให้ยิ่งเกิดความเชื่อมั่น ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และพี่น้อง อสม. ที่จะเป็นกองหน้า ทำให้ประเทศไทยสามารถฟันฝ่าวิกฤติโควิดครั้งนี้ไปได้
ผมและเพื่อนรวบรวมเงินได้ 50,000 บาท เพื่อจะมอบเป็นขวัญกำลังใจ ให้แก่ อสม.เจ้าของเสียงและทีมที่ทำงานด้วยกัน
หากท่านใดรู้เบาะแส ช่วยแจ้งด้วยครับ หรือถ้าในทีมทราบ ติดต่อผมผ่าน Messenger ในเฟซบุ๊กส์ ของWarong Dechgitvigrom”
—————–
ครับ อสม.มีคำขวัญ ว่า……
“แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ประชาชน ดำรงตนตัวอย่างที่ดี”
อย่างนี้ ต้องขอปวารณา หนักหนาตรงไหน บอกมาได้ พร้อมช่วยกัน.