อดีต พนักงานธปท. ร่อนจดหมายต้านการเมืองแทรกแซงตั้งบอร์ดและประธานแบงก์ชาติ

1 พฤศจิกายน 2567 – จดหมายเปิดผนึกจากอดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย จรรยาบรรณที่พึงมีสำหรับตำแหน่งประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย

ตามที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 2 ท่าน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากคณะศิษย์หลวงตามหาบัว กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ซึ่งรวมถึงอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 4 ท่าน ให้คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส มีธรรมาภิบาล และไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ ธปท. สามารถดำเนินพันธกิจของธนาคารกลางตามที่กำหนดไว้ นั้น

พวกเราในฐานะอดีตพนักงาน ธปท. ขอเรียนยืนยันว่า คณะกรรมการ ธปท. มีความสำคัญอย่างยิ่งในการวางกรอบ และกำหนดนโยบายของ ธปท. โดย ธปท. ถือเป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์กรที่ต้องปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง เพื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเงินที่มีเสถียรภาพต่อเนื่องในระยะยาว และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

แม้ว่าคณะกรรมการ ธปท. จะไม่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และนโยบายรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินโดยตรง แต่ พ.ร.บ. ธปท. ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน คณะกรรมการระบบการชำระเงิน และแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่งตั้งแต่ผู้ช่วยผู้ว่าการฯ ขึ้นไป และที่สำคัญคือ มีหน้าที่ กำหนดหลักเกณฑ์และกำกับดูแลการบริหารจัดการสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศ

ด้วยบทบาทหน้าที่ของประธานและกรรมการ ธปท. ข้างต้น บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต้องไม่เพียงแต่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณขั้นสูงสุดที่เป็นข้อบังคับ ธปท. ว่าด้วยจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของกรรมการในคณะกรรมการ ธปท. พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในข้อ 4.5 ที่ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม ข้อ 4.7 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม เป็นกลางทางการเมือง และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และ ข้อ 4.11 พึงเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำรงตน รักษาชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ ธปท.

พวกเราจึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ใช้วิจารณญาณพิจารณาด้วยความรอบคอบ รอบด้าน และโปร่งใส อย่างเป็นอิสระในการสรรหาประธาน ธปท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ ธปท. เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ มีประวัติและพฤติกรรมที่ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณที่ระบุไว้ เป็นที่ประจักษ์ในสังคมและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 80 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร และพนักงาน ต้องใช้ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างสูง เพื่อรักษาอธิปไตยและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินของไทยไว้ โดยป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง

ผู้ว่าการเล้ง ศรีสมวงศ์ ผู้ว่าการคนแรกที่ทำงานเต็มเวลาที่ ธปท. ได้กล่าวในการเข้าร่วมประชุมกรรมการธนาคารเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2490 ว่า “ในฐานะที่ ธปท. เป็นนายธนาคารกลาง ย่อมไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและจะดำเนินการอย่างอิสระ ตลอดจนทำหน้าที่ในการเหนี่ยวรั้งรัฐบาลในกิจการที่ธนาคารเห็นว่าจะเกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นส่วนรวม……”

อดีตพนักงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย
1 พฤศจิกายน 2567

จดหมายฉบับดังกล่าว ยังมีการแนบรายชื่อของ พนักงานธปท. ซึ่งมีชื่อของอดีตผู้บริหาร ระดับรองผู้ว่าการ 4 คน ผู้ช่วยผู้ว่าการขึ้นไป 12 คน ได้แก่ อดีตรองผู้ว่าการ

ทองอุไร ลิ้มปิติ
รณดล นุ่มนนท์
ฤชุกร สิริโยธิน
วชิรา อารมย์ดี

และ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ

กฤช ฟลอเล็ต
จันทวรรณ สุจริตกุล
นพมาศ มโนลีหกุล
นวอร เดชสุวรรณ
ผุสดี หมู่พยัคฆ์
เพิ่มสุข สุทธินุ่น
ศิริชัย สาครรัตนกุล
สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา
สุภาวดี ปุณศรี
เสาวณี สุวรรณชีพ
อมรา ศรีพยัคฆ์
อรุณศรี ติวะกุล

Written By
More from pp
“ไทยสร้างไทย” ประกาศแคมเปญเปลี่ยนประเทศ ชวนพี่น้องประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ส.ส.ร. ชูเนื้อหาที่ต้องผลักดัน เช่นผู้ใดยึดอำนาจ เท่ากับเป็นกบฎ ห้ามนิรโทษกรรม
“ไทยสร้างไทย” ประกาศแคมเปญเปลี่ยนประเทศ ชวนพี่น้องประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับ ส.ส.ร. ชูเนื้อหาที่ต้องผลักดัน เช่นผู้ใดยึดอำนาจ เท่ากับเป็นกบฎ ห้ามนิรโทษกรรม มีประชาชนเป็นผู้เสียหาย...
Read More
0 replies on “อดีต พนักงานธปท. ร่อนจดหมายต้านการเมืองแทรกแซงตั้งบอร์ดและประธานแบงก์ชาติ”