“ฉลอง”..ผู้นำหนังบู๊สู่สากล #สันต์สะตอแมน

สันต์ สะตอแมน

คนบันเทิงไปงานศพกันแทบไม่ได้พัก!

จากศพ..“เพลิน พรหมแดน” ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของฉายา “ราชาเพลงพูด” มาศพ.. “ชรินทร์ นันทนาคร” ศิลปินแห่งชาติ นักร้องลูกกรุงผู้ยิ่งใหญ่..

วานซืนก็ถึงคิว ศพ.. “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ ตำนานผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีอายุมากที่สุดในโลก ซึ่งก็ได้ตั้งสวดพระอภิธรรมที่วัดมกุฏกษัตริย์ฯศาลา 10 ถึงวันที่ 20 ก.ย.นี้!

93 ปี..ถูกกำหนดให้อยู่แค่นี้ ทั้งๆที่เมื่อสักปีสองปีก่อน ใครที่ได้เห็น-ได้คุยกับ “อาหลอง” จะต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านต้องอายุถึง 100 ปีแน่!

ด้วยทั้งเรี่ยวแรงกำลังวังชา สมง-สมองยังปราดเปรื่อง คล่องแคล่วกระฉับกระเฉงตามวัย หน้าตาก็สดชื่นแจ่มใจ แต่จู่ๆอาหลองก็มาจากไปซะแล้ว

ไม่ได้หมายถึงท่านมาด่วนจากลาลับโลก คนอายุตั้ง 93 ปีก็พอเหมาะพอควรหากจะต้องจากโลกนี้ไป เพียงแต่ให้รู้สึกว่าอาหลองยังแข็งแรงอยู่ น่าจะอยู่กับลูก-เมียได้ไปอีกสักพักใหญ่!

ก็..ขอน้อมจิตกราบคาราวะดวงวิญาณอาหลอง และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวลูก-เมียไว้ณตรงนี้ และผมจะไม่มีวันลืม “ทอง” ครับ!

อ้อ..เผื่อท่านผู้อ่านใคร่สนใจ อยากรู้ชีวประวัติ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” เพื่อรำลึกนึกถึงอดีต ผมขออนุญาตคัดลอกจากเพจ “หอภาพยนตร์(องค์การ)มหาชน” มาให้อ่านก็แล้วกัน..

หอภาพยนตร์ขอร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปของ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ที่อยู่ในวงการมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ฉลอง ภักดีวิจิตร เริ่มต้นจากการเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ในบริษัท ศรีบูรพาภาพยนตร์ ของครอบครัว ตั้งแต่วัย 19 ปี ในช่วงทศวรรษ 2490

ก่อนจะผันตัวมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ และพัฒนาขึ้นมาสร้างภาพยนตร์ด้วยตนเองในช่วงกลางทศวรรษ 2510

ซึ่งเป็นช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านจากการสร้างภาพยนตร์ 16 มม. พากย์สด มาเป็น 35 มม. เสียงในฟิล์ม แบบมาตรฐานสากล

โดยผลงานในระยะแรกที่ฉลองสร้างเองในนาม “บางกอกการภาพยนตร์” นั้น ยังมีลักษณะเป็นหนังเพลงตามกระแสนิยม ไม่ว่าจะเป็น ฝนใต้ (2513) ฝนเหนือ (2513) และ ระเริงชล (2515)

ถัดมา เมื่อประสบความสำเร็จจากการร่วมงานกับบริษัทฮ่องกงในการสร้างภาพยนตร์แอ็คชั่นเรื่อง “2 สิงห์ 2 แผ่นดิน” (2515) ซึ่งได้ออกฉายทั่วเอเชียและอเมริกา

ฉลองได้ทุ่มทุนสร้างภาพยนตร์แนวนี้เป็นเรื่องต่อไปคือ “ทอง” ด้วยความตั้งใจที่จะนำภาพยนตร์ไทยออกไปบุกเบิกในตลาดต่างประเทศอย่างเต็มตัว

จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ “ทอง” มีความเป็นสากลแตกต่างจากหนังไทยในเวลานั้น คือการที่ฉลองได้ทาบทามนักแสดงอเมริกัน เกร็ก มอริส ซึ่งโด่งดังจากทีวีซีรีส์ “ขบวนการพยัคฆ์ร้าย” (Mission Impossible)

ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้ชม รวมถึง ถ่ำ ถุย หั่ง นางเอกจากเวียดนาม มาประกบกับดาราดังของไทยทั้ง สมบัติ เมทะนี และ กรุง ศรีวิไล

นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังเต็มไปด้วยฉากบู๊แอ็คชั่นที่ทั้งลุ้นระทึกและน่าหวาดเสียว จากความคิดสร้างสรรค์ของฉลอง ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนกลายเป็นลายเซ็นของเขาในเวลาต่อมา

เมื่อออกฉายในปี พ.ศ. 2516 “ทอง” ประสบความสำเร็จในไทยทั้งด้านรายได้มหาศาล รวมถึงได้รับรางวัลพระราชทานพระสุรัสวดี สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม

ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และบันทึกเสียงยอดเยี่ยม ที่สำคัญคือสามารถสร้างปรากฏการณ์ในตลาดต่างประเทศได้สมความตั้งใจ

โดยได้ไปประกวดที่ไต้หวัน ในปี 2517 และได้รับรางวัลภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงสูงสุด (Best Entertaining Film) ในขณะที่ กรุง ศรีวิไล ได้รับรางวัลนักแสดงยอดเยี่ยม

จนทำให้บริษัทชื่อดังของไต้หวัน Golden Harvest ขอซื้อไปจัดจำหน่ายทั่วโลก และต่อมา ฉลองยังได้สร้าง “ทอง” ออกตามมาอีกหลายภาค

ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาเอง

ผลงานภาพยนตร์เรื่องสำคัญอื่น ๆ ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ได้แก่ ตัดเหลี่ยมเพชร (2518) ใต้ฟ้าสีคราม (2521) ผ่าปืน (2523) สงครามเพลง (2526) มังกรเจ้าพระยา (2537) ฯลฯ

ครับ..ก็พอสังเขป!

Line Open Chat *เพิ่มช่องทางการรับข่าวสาร จากเว็บไซต์ *อ่านคอลัมน์ เปลว สีเงิน ก่อนใคร *ส่งตรงถึงมือทุกคืน *เปิดกว้างเพื่อแฟนคอลัมน์พูดคุยแบบกันเอง ทุกเรื่องราว ข่าวสารบ้านเมือง สังคม ฯลฯ
Written By
More from pp
โฆษกฯ รัฐบาล ยืนยันการใช้งบประมาณ 64 จัดซื้ออาวุธ ยุทโธปกรณ์คุ้มค่า คำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด
ศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสมาชิกพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุให้นายกรัฐมนตรี นำงบประมาณปี 64 ของกระทรวงกลาโหมสำหรับซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ไปกู้วิกฤติเศรษฐกิจ
Read More
0 replies on ““ฉลอง”..ผู้นำหนังบู๊สู่สากล #สันต์สะตอแมน”