เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 นายพงศกร ขวัญเมือง หรือ เอิร์ธ ลูกชาย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผุ้ว่า กทม. ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หลังพรรคปชป. มีมติพรรคเข้าร่วมรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีใจความว่า
ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์
ผมมีความเชื่อว่านโยบายสาธารณะที่ดี สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเราได้ ผมจึงตั้งใจหาความรู้ ตั้งใจผลักดันด้วยวิธีการต่างๆ จนสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ในหลายๆนโยบาย
แต่ก็มีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาล หรือสิทธิความเสมอภาค ที่ต้องอาศัย นโยบายระดับประเทศในการผลักดัน ผมจึงอยากทำร่วมกับพรรคที่ผมมั่นใจ นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยเหตุผลดังนี้
1. ความมีส่วนร่วม พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่สมาชิกพรรคทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพรรค โดยเฉพาะกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรค ที่มีการเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิกพรรคทั้งประเทศ ซึ่งทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีความยึดโยง ทั้งนโยบาย แนวทางพรรค และอุดมการณ์กับสมาชิกพรรคที่มีแนวความคิดที่เหมือนกันอย่างแท้จริง
2. ความเสมอภาค พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่มีเจ้าของ พรรคที่ทุกคนสามารถขึ้นมามีบทบาทได้ ด้วยความที่พรรคมีกลไกดั่งข้อแรก ทุกคน ไม่จำเป็นต้องรวยหรือมีทุน ก็สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคได้ นโยบายต่างๆย่อมไม่ถูกครอบงำโดยนายทุน ทำให้นโยบายสามารถ ผลักดันได้อย่างเต็มที่
3. อุดมการณ์ พรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์ 10 ข้อ ที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะข้อแรกคือ “พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีทางอันบริสุทธิ์” จึงเห็นว่าหลายครั้งที่พรรคเพียงแค่ถูกตั้งข้อสงสัยต่างๆ พรรคจะมีการแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการแสดงสปิริตนักการเมือง ลาออก หรือ ถอนตัวจากการบริหาร เพราะนั่นคือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการทำให้เป็น บรรทัดฐานที่ต้องการให้ประเทศไทยมีนักการเมืองที่ดี
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผมตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการลงสมัครครั้งแรกในชีวิต ในตอนนั้น ต้องยอมรับว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้รับความนิยมเหมือนแต่ก่อน ถึงขั้นที่อาจจะนิยมน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยซ้ำ แต่ในวันนั้นผมก็ไม่ได้ลังเล และได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับพรรคด้วยตนเอง เพราะเชื่อมั่นในความเป็นสถาบันของพรรค ที่มีหลักการและทำให้เชื่อว่าหากได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้งก็ตาม ก็ยังสามารถทำตามนโยบายตามความตั้งใจผ่านพรรคประชาธิปัตย์ได้
แต่ในวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำให้ผมมีความเชื่อมั่นในสิ่งทั้ง 3 อย่างนี้
ผมจึงไม่เชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์จะทำให้ผมสามารถใช้ความรู้ ความตั้งใจและความสามารถทำประเทศให้ดีขึ้นได้
ผมจึงขอยุติการร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ครับ