20 กรกฎาคม 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศค่าไฟฟ้าในรอบไตรมาสที่ 4 โดยนำต้นทุนและการชำระหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมูลค่ากว่า 98,000 ล้านบาทมาคำนวณรวมด้วย ทำให้ค่าไฟฟ้าจาก 4.18 บาทต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย คือเพิ่มขึ้นมากกว่า 46-181 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทำให้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนมากมาย
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เปิดเผยว่า ได้เชิญประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และประธานคณะกรรมการ บมจ. ปตท. (PTT) หารือร่วมกันจนได้ข้อสรุปว่าค่าไฟฟ้าในไตรมาส 4 จะยังคงอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยบมจ. ปตท. (PTT) ไม่รับเงินตอบแทนใดๆ จากการคงค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน
นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การช่วยประชาชน ไม่ว่าจะค่าไฟฟ้าหรือน้ำมัน ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงาน เพียงกระทรวงเดียว แต่ต้องประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับราคาน้ำมันประจำวันซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีรับทราบ
ซึ่งต่อมาจะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและกลไกราคา เพื่อให้ปัญหาราคาพลังงานทั้งจากน้ำมันและค่าไฟฟ้าสูงได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ปัจจุบันในราคาน้ำมันนั้นจะประกอบไปด้วย
1. ร้อยละ 40-60 เป็นต้นทุนเนื้อน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น
2. ร้อยละ 30-40 เป็นภาษีสรรพสามิต
3. ร้อยละ 10 เป็นภาษีเทศบาล มหาดไทยนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น
4. ร้อยละ 7 เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
5. ร้อยละ 7 เป็นค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด
6. ร้อยละ 5-20 จัดเก็บโดย “กองทุนต่าง ๆ” เช่น
-กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน
-กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน และ
7. ร้อยละ 10-18 เป็นค่าการตลาด
นายพีระพันธุ์ยังเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันมีการใช้ระบบ “กองทุนน้ำมัน” ในการรักษาระดับราคาน้ำมันตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการเอาเงินไปรักษาระดับราคาน้ำมัน โดยต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน ผ่านการรับทราบถึงราคาต้นทุนของพลังงานจากการออกประกาศกระทรวงพลังงานให้ผู้ประกอบการค้าน้ำมัน ต้อง “แจ้งต้นทุน” ให้กระทรวงพลังงานทราบนับเป็นครั้งแรกที่มีการ “แจ้งราคา” ต้นทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการแก้ไขปัญหาราคาพลังงาน
อีกส่วนหนึ่งที่จะต้องมีการปรับปรุงและแก้ไขคือ ภาษีน้ำมันที่มีมูลค่าสูงไม่ต่างจากราคาต้นทุนน้ำมัน เช่น หากค่าน้ำมันลิตรละ 45 บาท ภาษีน้ำมันก็จะอยู่ที่ประมาณ 40 บาท ซึ่งในอดีตคณะกรรมการกองทุนน้ำมันจะมีอำนาจกำหนดเพดานการจัดเก็บแต่ปัจจุบันอำนาจที่กล่าวถึงหายไป จึงจะต้องแก้ไขกฎหมายให้กำหนดเพดานในการกำหนดราคาน้ำมัน เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่จะสามารถแก้ไขปัญหาสินค้าพลังงานราคาแพงได้ในระยะยาว